ความจำเป็นของนวัตกรรม ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

ผมได้นำทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ เรื่อง ฟังก์ชั่นการผลิต (Production Function) มาจับประวัติศาสตร์อารยธรรมโลก ตั้งแต่ยุคบรรพกาล จนถึงปัจจุบัน และคาดการณ์ไปยังอนาคต สร้างเป็นทฤษฎี “การเปลี่ยนผ่านทางสังคม: คลื่นอารยะ 7 ลูก” ซึ่งอยู่ในหนังสือสยามอารยะ แมนนิเฟสโต ได้แก่ คลื่นลูกที่ 0 – ยุคสังคมเร่ร่อน คลื่นลูกที่ 1 – ยุคสังคมเกษตรกรรม คลื่นลูกที่ 2 – ยุคสังคมอุตสาหกรรม คลื่นลูกที่ 3 – ยุคสังคมข้อมูลข่าวสาร คลื่นลูกที่ 4 – ยุคสังคมความรู้ คลื่นลูกที่ 5 – ยุคสังคมปัญญา คลื่นลูกที่ 6 – ยุคสังคมความดี การเปลี่ยนแปลงแต่ละยุคเกิดจากการที่มนุษย์รู้จักใช้ความคิดปฏิวัติสังคม ประเทศที่สามารถขี่ยอดคลื่นการเปลี่ยนแปลงได้ก่อนจะเป็นผู้ชนะ สามารถก้าวสู่การเป็นประเทศชั้นแนวหน้าที่ทรงอิทธิพลของโลก โลกกำลังจะเปลี่ยนจากสังคมข้อมูลข่าวสารเข้าสู่สังคมความรู้ ทำให้ความรู้และนวัตกรรมจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการแข่งขันและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคต ทั้งนี้ในปัจจุบัน มีสถานการณ์ที่สะท้อนถึงความจำเป็นของนวัตกรรมต่อเศรษฐกิจโลก ได้แก่

  • ประการที่ 1 การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วชะลอตัวลง เนื่องจากผลิตภาพโดยรวม (Total Factor Productivity) เติบโตช้าลงตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา และเติบโตช้ากว่าเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น สหรัฐอเมริกาที่มีการเติบโตของผลิตภาพรวมชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 1973

โลกจึงจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งหลายประเทศปรับทิศทางเศรษฐกิจสู่การสร้างนวัตกรรมมากขึ้น เช่น จีนปรับทิศทางนโยบายสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม ประเทศไทยมุ่งสู่ Thailand 4.0 หรือยุโรปพยายามพัฒนาไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นต้น

  • ประการที่ 2 การแข่งขันรุนแรง (Fierce Competition) อันเป็นผลจากหลายปัจจัย อาทิ

(1) การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ทำให้การเคลื่อนย้ายทั้งสินค้าและบริการ แรงงาน และปัจจัยการผลิตเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและใหญ่สามารถเข้าถึงตลาดทั่วโลกได้ ธุรกิจที่เน้นกลยุทธ์การแข่งขันด้านราคาจะมีอัตรากำไรต่ำมาก และอาจต้องปิดกิจการเมื่อเผชิญการแข่งขันกับผู้ผลิตที่ต้นทุนต่ำกว่า

(2) การเพิ่มจำนวนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เพราะเทคโนโลยีมีราคาถูกลง โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสารเคลื่อนที่ ทำให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น มีการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการจากทั่วโลกได้

(3) การเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการใหม่ จาก 400 ล้านคน ในปี 2012 (1 คนต่อประชากรโลก 19 คน) เป็น 1 พันล้านคนในปี 2020 (2.3 คนต่อประชากรโลก 19 คน) โดยเฉพาะผู้ประกอบการดิจิทัลจะสร้างรายได้มากกว่าร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลกในปี 2030

(4) การพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่อย่างรวดเร็ว เอื้อให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆ หรือโมเดลธุรกิจใหม่ ธุรกิจเดิมและเทคโนโลยีเดิม จะถูกทำให้ทำลายด้วยนวัตกรรม

การแข่งขันที่คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ทำให้ทุกองค์กรในทุกภาคส่วนต้องสร้างความแตกต่างของสินค้าและบริการโดยการสร้างนวัตกรรม เพราะนวัตกรรมจะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่สามารถสร้างความแตกต่างที่ยากต่อการเลียนแบบ

  • ประการที่ 3 ความต้องการความแตกต่างในสินค้าและบริการของผู้บริโภคมากขึ้น (Hyper-customization) เนื่องจากการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลางที่จะมีมากถึง 4.9 พันล้านคนในปี 2030 ส่งผลให้เกิดความต้องการบริโภคสินค้าและบริการที่มีความแตกต่างมากขึ้น การแสวงหาความหมาย เรื่องราวและความแตกต่างที่ผลิตภัณฑ์อื่นไม่สามารถให้ได้จึงมีมากขึ้น

ในขณะที่ เทคโนโลยีการผลิตมีความความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้มีแนวโน้มเกิดนวัตกรรมการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการจำเพาะบุคคล (Innovative personalization) มากขึ้น ดังตัวอย่างสินค้า chocri ที่ให้ลูกค้าออกแบบช็อคโกแลตแท่งของตนเองผ่านเว็บไซต์ หรือไนกี้ที่ให้ลูกค้าสามารถออกแบบรองเท้าที่ตนเองต้องการได้ทางหน้าเว็บไซต์ เป็นต้น

  • ประการที่ 4 การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร (Demographic Change) โดยอัตราส่วนของประชากรผู้สูงอายุต่อประชากรวัยทำงานจะเพิ่มขึ้น ในประเทศพัฒนาแล้วจะมีอัตราส่วน 50 : 100 ในปี 2035 และประเทศกำลังพัฒนาจะมีอัตราส่วนประมาณ 20 : 100 ในปี 2035 ส่งผลให้กระแสการลงทุนจะเคลื่อนย้ายไปยังประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ของปัจจัยแรงงาน (labor-abundance) ส่วนประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพ
  • ประการที่ 5 ความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม การขาดแคลนทรัพยากรและพลังงานจะสูงขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวของความเป็นเมือง และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น

ในปี 2030 ความต้องการน้ำของโลกจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 40 จากปัจจุบัน ความต้องการอาหารของโลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 และความต้องการใช้พลังงานของโลกจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 อันจะส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและพลังงาน

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาภาวะโลกร้อน และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งจากการคาดการณ์ระบุว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในปี 2030 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากระดับในปัจจุบัน ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 0.5-1.5 องศาเซลเซียส ภายใน 20 ปีข้างหน้า

ด้วยเหตุนี้ โลกจึงต้องการนวัตกรรมสนับสนุนการขยายตัวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยแยกการเจริญเติบโตและการทำลายสิ่งแวดล้อมออกจากกัน นวัตกรรมจะทำให้มีทางเลือกด้านพลังงานและวัตถุดิบ ทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน มีกระบวนการผลิตที่สะอาด และลดของเสีย

นวัตกรรมนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ทว่าต้องเป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการทางสังคม ทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงด้านการใช้งาน ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า การพัฒนานวัตกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบต่อภาพรวมในระดับประเทศ ผมจะนำเสนอแนวทางการพัฒนานวัตกรรมที่สร้างผลกระทบในบทความตอนต่อไป  

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน


ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com