สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน

ที่ผ่านมาการเมืองไทยมักเต็มไปด้วยการใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพื่อแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ ตั้งแต่การซื้อสิทธิ์ขายเสียงประชาชนจนไปถึงการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทำให้นักการเมืองที่มีกำลังทุน เป็นผู้ได้เปรียบในเส้นทางการเข้าสู่อำนาจรัฐ

การเมืองปกติจึงเป็นการเมืองที่ไม่สุจริต รวมทั้งการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็เช่นกันที่มีการ ยิงกระสุน อัดฉีดเงินลงไปในแต่ละพื้นที่ และใช้สื่อ สร้างกระแส เอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้คู่แข่ง สร้างพลังให้ตัวเองโดยใช้กลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคช่วยกันสื่อสารสนับสนุนพรรคของตน เป็นกระแสที่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว

ในอดีตผมเคยพยายามผลักดันแนวคิด การเมืองสีขาว ให้เกิดขึ้น ผมได้เสนอว่า ต้องแก้กฎหมายเพื่อจำกัดวงเงินสนับสนุนพรรคการเมืองของกลุ่มทุน เพื่อเปิดโอกาสให้ คนดี-คนเก่ง เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ คนรวย เท่านั้น

ผมเชื่อมั่นว่า หากแนวคิดการเมืองสีขาวนี้ขยายผลสู่ภาคปฏิบัติที่กว้างขวางขึ้น เราจะมีนักการเมืองที่เป็น ตัวแทน ประชาชน ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมมากขึ้นอย่างแน่นอน

ถึงแม้ว่าข้อเสนอที่ผมเสนอไว้ยังไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติ แต่ปี 2567 นี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้เกิดขึ้น เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อีกครั้งหลังจาก_สว. ชุดปัจจุบันซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กำลังจะหมดเวลาลงในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้

มองหา คนประเภท 5 ด.

การเลือก_สว.ในปี 2567 นี้ ได้เปิดโอกาสอันดีให้แก่ประชาชนคนธรรมดา คนดี และผู้มีความรู้ความสามารถที่ไม่ได้มีฐานทุนหรือพรรคการเมืองรองรับ ให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตทางการเมืองของประเทศได้ โดยไม่ต้องเดินหาเสียง ไม่ต้องลงทุนทำป้ายแนะนำตัวหรือขึ้นรถแห่หาเสียง

ซึ่งการริเริ่มระบบการเลือก_สว.แบบใหม่นี้ มีเป้าหมายที่จะสกัดกั้นการซื้อสิทธิ์ขายเสียงและการทุจริตคอร์รัปชันที่เคยเป็นปัญหาหนักในการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งจะส่งผลให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาเป็น_สว.

เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย กำกับดูแลการทำงานของฝ่ายบริหาร การเลือกองค์คณะขององค์กรอิสระและหน่วยงานสำคัญต่างๆ ของประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิสภาพและคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

จุดเปลี่ยนสำคัญในการเลือก_สว. ครั้งนี้ คือ การใช้ระบบ การเลือกกันเอง ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยแบ่งการเลือกตั้งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ซึ่งทำให้โอกาสที่ประชาชนทั่วไปจะได้เป็น_สว.ทำได้ง่ายขึ้น

โดยไม่จำเป็นต้องมีฐานเสียงขนาดใหญ่หรือการลงทุนการรณรงค์หาเสียง นี่คือจังหวะที่ดีที่ประเทศไทยจะได้ สว._ที่ดี ซึ่งจากกระบวนการเลือกแบบใหม่ ผมคิดว่าคนที่จะเข้ามาเป็น สว._ได้ต้องเป็นคนประเภท 5 ด. คือ ดี เด่น ดัง โดน ดาว

1. คนดี
คนดี คือ เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว คนอื่นมองแล้วเกิดความศรัทธาในใจ เป็นคนที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ ซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความเสียสละ อุทิศตน เพื่อส่วนรวม

ไม่เห็นแก่ประโยชน์พวกพ้องหรือผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม สามารถสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นจากประชาชน การมี “คนดี” เข้ามาในวงการการเมืองจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือเติมศรัทธาให้กับการเมืองไทย นำพาไปสู่การบริหารประเทศอย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

2. คนเด่น
คนเด่น คือ เด่นในวิชาชีพหรือสาขาอาชีพของตน ซึ่งกระบวนการเลือก สว._ครั้งนี้จะเลือกจากกลุ่มอาชีพ 18 กลุ่ม และ 2 กลุ่มคน โดยในกระบวนการเลือกครั้งนี้ ผู้สมัครจะต้องเลือกว่าจะสมัครในกลุ่มใดเพียงกลุ่มเดียว เพื่อให้ได้ตัวแทนในแต่ละสาขาวิชาชีพที่เห็นว่ามีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์โดดเด่น

โดยแนวคิดนี้มุ่งหวังให้ได้ตัวแทนจากหลายสาขาอาชีพ เพื่อนำความรู้เฉพาะทางและมุมมองที่หลากหลายมาผสมผสานกันเพื่อการบริหารประเทศที่ครอบคลุมทุกมิติ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนเก่งในสังคม และก้าวพ้นการเมืองที่ล้าสมัยและขาดวิสัยทัศน์

3. คนดัง
คนดัง คือ คนที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในวงกว้างขวางครอบคลุมทั้ง 20 กลุ่มอาชีพและกลุ่มคน เนื่องจาก กระบวนการเลือก_สว. แบบใหม่ จะมีการเลือกผู้สมัครต่างกลุ่มด้วย โดยไม่ได้เลือกเพียงเฉพาะในสาขาอาชีพกลุ่มของตนเท่านั้น

ดังนั้น การเป็น คนดัง ที่มีชื่อเสียงดีเป็นที่รู้จักของผู้สมัครในทุกสาขาวิชาชีพจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญ เพื่อดึงดูดความสนใจและคะแนนสนับสนุนได้ดีด้วย

4. คนโดนใจ
คนโดนใจ คือ มีบุคลิกดึงดูดผู้คนหรือ โดนใจ ประชาชน ทั้งบุคลิกภาพที่ดีทั้งภายนอกและภายใน มีความน่าเชื่อถือ มีความจริงใจและเป็นกันเอง ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างความนิยมและดึงดูดให้ประชาชนรักใคร่ ทำให้มีโอกาสได้รับเลือกในขั้นตอนการลงคะแนนไขว้กลุ่ม

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรมุ่งแต่บุคลิกลักษณะภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติด้านความรู้ความสามารถ คุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่นักการเมืองได้อย่างแท้จริง

5. คนติดดาว
คนติดดาว คือ ผู้มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ เปรียบเสมือนดาวฤกษ์ ที่มีแสงในตัวเอง ไม่ต้องมีใครช่วย ไม่ต้องจัดตั้ง มีผลงาน มีความสามารถ มีประวัติชีวิตเป็นที่รู้จัก และยอมรับ มีคนนับถือยกย่องผลงาน เป็นแบบอย่างสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ

ด้วยระบบใหม่นี้ การเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองของคนดีจะไม่ใช่เรื่องยากเกินเอื้อมถึงอีกต่อไป เพียงเป็นคน “ดี เด่น ดัง โดน ดาว” และมีความพร้อมที่จะอุทิศแรงกายแรงใจเพื่อประชาชนและประเทศชาติ ก็ย่อมมีโอกาสสูงที่จะได้รับเลือกให้เป็น_สว. เพื่อนำพาประเทศไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น

การเลือก_สว. ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนจะร่วมกันเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยไปสู่การเมืองใหม่ด้วยสันติวิธี ผมในฐานะประธานสถาบันการสร้างชาติจึงได้ริเริ่มหลักสูตร ร่วมเป็น_สว. จุดเปลี่ยนไทย 2567 ขึ้น เพื่อรณรงค์และเป็นการกระตุ้นให้คน ดี เด่น ดัง โดน ดาว ออกมาสมัคร สว.

เปิดอบรมให้ความรู้ผู้สมัครสว.ทั่วประเทศ
โดยผมได้ขอให้ทีมงาน นำโดย ดร.อมรศักดิ์ กิจธนานันท์ เดินทางจัดอบรมทั่วประเทศ 77 จังหวัด เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ กระตุ้นให้ตื่นตัว และเตรียมความพร้อมในการสมัคร_สว. เพื่อส่งเสริมโอกาสให้คนดีมีคุณภาพได้เข้าสู่พื้นที่ทางการเมือง 

 

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมยังจะได้รับความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ สว.สิทธิ หน้าที่ และการทำงานในคณะกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ ผู้ช่วย_สว.ที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ ตลอดจนคุณสมบัติของผู้สมัคร เงื่อนไขการรับสมัคร กระบวนการในการเลือกทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ซึ่งคาดหวังว่าจะได้คนดี มีความรู้ความสามารถ เข้าไปในสภา

ผมขอเชิญชวนนะครับ ขอคนดี เด่น ดัง โดน ดาว ทุกท่านลุกขึ้นมาสมัครเป็น สว.เพื่อมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยและประเทศไทยด้วยกันครับ 

 

แหล่งที่มา : cioworldbusiness
29/04/2024
แหล่งที่มาของภาพ : https://www.cioworldbusiness.com/wp-content/uploads/2024/08/Thap-Lan-750x450.jpg


ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando