อุปสรรคในการสร้างอาชีพให้กับชุมชน

บทวิเคราะห์ที่หยิบเอาลักษณะเฉพาะบางประการของการเกาะกลุ่มเป็นเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคในการสร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจให้ใหญ่ขึ้น และความยั่งยืนในชุมชน

ผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรพิเศษเพื่อบรรยายในหัวข้อ เศรษฐกิจการตลาด ในงาน สร้างอาชีพสู่ชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมเผยแพร่สร้างอาชีพให้กับชุมชน (ธนาคารภูมิปัญญา) จัดโดยธนาคารออมสินร่วม กับสถาบันปัญญาภิวัฒน์ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากลุ่มเยาวชนให้มีความรู้ด้านการตลาด เพื่อประโยชน์ในการออกไปทำโครงการสร้างอาชีพในชุมชน

ผมเห็นว่า องค์กรธุรกิจที่ต้องการทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) จำเป็นต้องมีความเข้าใจในประเด็นนี้ เพราะที่ผ่านมาความพยายามสร้างงานและสร้างอาชีพในชุมชนมีมาอย่างต่อเนื่อง จากหลายหน่วยงานและหลายโครงการอย่างไรก็ดี โครงการจำนวนหนึ่งประสบความล้มเหลวโดยมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ การขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจชุมชน

ซึ่งผมได้วิเคราะห์ประเด็นเศรษฐกิจชุมชนที่เป็นอุปสรรคในการสร้างอาชีพในชุมชน ดังต่อไปนี้
1. ขาดความประหยัดจากขนาด

ชุมชนส่วนใหญ่ในชนบท มีจำนวนประชากรน้อย และเศรษฐกิจขนาดเล็กในขณะที่ตลาดหลักของวิสาหกิจชุมชนกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดหรือภูมิภาคใกล้เคียง ดังตัวอย่างการศึกษาวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดหนองคาย พบว่า ร้อยละ 88 ของยอดขายทั้งหมด เป็นการขายภายในจังหวัดหรือในภูมิภาคใกล้เคียง

ด้วยเหตุนี้ ยอดขายสินค้าโอทอปทั้งประเทศในปี 2561 จึงมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทำให้วิสาหกิจชุมชนจึงมีพลังไม่มากพอในการยกระดับรายได้ของคนในชุมชน

เมื่อตลาดมีขนาดเล็กจึงไม่จูงใจให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการผลิต เพราะไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่งให้เป็นต้นทุนที่สูง กิจการขนาดใหญ่จึงไม่เข้ามาลงทุนเหลือแต่วิสาหกิจขนาดเล็กที่ขาดประสิทธิภาพด้านต้นทุน เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโตช้า การเลือกชนิดสินค้าที่จะผลิตและการทำตลาดภายนอกชุมชนจึงมีความจำเป็นมาก

2. ขาดความหลากหลายของกิจกรรมเศรษฐกิจ

ความไม่หลากหลายของกิจกรรมเศรษฐกิจชุมชน แบ่งเป็น 2 มิติ คือ หนึ่ง ความไม่หลากหลายภายในชุมชนโครงสร้างเศรษฐกิจในชุมชนไม่ซับซ้อนและเป็นการผลิตขั้นพื้นฐานที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ สอง ความไม่หลากหลายระหว่างชุมชนเนื่องจากแต่ละชุมชนมีปัจจัยการผลิตคล้าย ๆ กัน ส่งผลทำให้ผลิตสินค้าและบริการที่คล้ายๆ กันสังเกตได้จากสินค้าโอทอปจำนวนมากเป็นสินค้าเหมือนๆ กัน

เมื่อชุมชนต่างๆ ขาดความหลากหลายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในชุมชนมากพอ จึงไม่สามารถพึ่งตนเองได้ด้านการผลิตและการตลาด และเมื่อแต่ละชุมชนผลิตสินค้าเหมือนๆ กัน ตลาดจะมีการแข่งขันสูง ผลผลิตของแต่ละชุมชนเกิดการแข่งขันกันเอง วิสาหกิจชุมชนจำนวนหนึ่งจึงล้มเหลว หรือมีรายได้ไม่มากพอที่จะเป็นรายได้หลักของสมาชิก

3. ขาดการต่อยอดบนจุดแกร่ง

ถึงแม้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในชุมชนส่วนใหญ่อยู่บนฐานทรัพยากรในท้องถิ่นแต่ชุมชนส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากข้อจำกัดด้านแนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรทรัพยากรที่มีอยู่เสื่อมโทรมลงไป และการขาดความสามารถ และเทคโนโลยีในการนำทรัพยากรมาประยุกต์ใช้

ขณะที่โครงการพัฒนาชุมชนส่วนหนึ่งไม่ได้ต่อยอดบนจุดแกร่งของชุมชนดังตัวอย่าง โครงการ ท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้สำรวจหมู่บ้าน/ชุมชนนวัตวิถี 74 แห่ง พบว่า มีหมู่บ้าน/ชุมชนถึง 41 แห่งไม่มีศักยภาพเพียงพอ

เพราะไม่มีแหล่งท่องเที่ยวหรือกิจกรรมท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจเพียงพอขณะที่สินค้าชุมชนส่วนใหญ่ยังขาดการวิจัยและพัฒนาและใช้ความคิดสร้างสรรค์มากพอ ทั้งนี้การศึกษาของศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ ระบุว่า วิสาหกิจชุมชนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ผ่านการวิจัยและพัฒนามีกำไรสูงกว่าถึงร้อยละ 67 ถึง 69

4. ขาดบูรณาการในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

แนวโน้มการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นกำลังเปลี่ยนจากการพัฒนาจากภายนอก เป็นการพัฒนาจากภายในมากขึ้น เช่น การพัฒนาที่มุ่งเป้าที่คนยากจนมากขึ้น มีมุมมองการพัฒนาที่เป็นองค์รวมมากขึ้น มีความร่วมมือในการพัฒนามากขึ้น เป็นต้น ถึงกระนั้น กระบวนการพัฒนายังขาดการบูรณาการมากเพียงพอในหลาย ๆ มิติ อาทิ

-ขาดการบูรณาการระหว่างภาคกิจ เพราะการพัฒนาอาชีพในชุมชนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐกิจ ประชากิจและธุรกิจ เพราะคนในชุมชนส่วนใหญ่มีความสามารถไม่เพียงพอในการประกอบการ
-ขาดการบูรณาการระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะโครงการส่งเสริมอาชีพในชุมชนมักมีลักษณะแยกส่วนโดยส่งเสริมในบางกิจกรรมโดยเฉพาะการผลิตแต่มักไม่ได้ส่งเสริมด้านการทำตลาด
-ขาดการบูรณาการในการพัฒนาระหว่างพื้นที่ เพราะชุมชนหนึ่งๆ อาจมีปัจจัยการผลิตหรือศักยภาพไม่เพียงพอเช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนหนึ่งๆ อาจไม่สำเร็จ เพราะความน่าดึงดูดให้คนมาท่องเที่ยวไม่มากพอ หลายชุมชนจึงควรร่วมมือสร้างเส้นทางและกิจกรรมท่องเที่ยวร่วมกัน
-ขาดการบูรณาการระหว่างระดับจุลภาคและมหภาค เพราะความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนหนึ่งๆ หากนำไปใช้ในการพัฒนาทุกชุมชน อาจทำไห้ภาพรวมแย่ลง เช่น การส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่หนึ่งจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น แต่หากส่งเสริมทุกชุมชนให้ปลูกยางพารา ผลผลิตจะล้นตลาด เป็นต้น

5.ขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ

ชุมชนในชนบทมีปัญหาด้านทรัพยากรบุคคล 2 รูปแบบ รูปแบบที่หนึ่ง คือ มีแรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ผลิตภาพต่ำมากเกินไปโดยเฉพาะภาคเกษตร ที่ผ่านมา การเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทไปทำงานในเมืองช่วยลดความยากจนในชนบท เพราะทำให้คนในชนบทมีรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างแรงงานในชนบทเพิ่มขึ้น และจากการส่งเงินกลับมายังชนบทดังนั้นการสร้างอาชีพในชนบทอาจไม่ใช่ทางเลือกเดียวในการทำให้คนในชุมชนชนบทมีรายได้สูงขึ้น

รูปแบบที่สอง คือ ชนบทขาดแคลนแรงงานมีทักษะแรงงานส่วนใหญ่มีชุดทักษะที่แคบ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจในชนบทไม่หลากหลายและขาดแคลนสถาบันการฝึกอบรมแรงงานขณะที่คนชนบทขาดแรงจูงใจในการฝึกอบรม เพราะต้นทุนการฝึกอบรมที่สูง และความต้องการแรงงานที่มีทักษะมีน้อย ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาชุมชนในชนบทจึงมีอุปสรรคมาก เพราะขาดแคลนคนที่มีคุณภาพ

6. ขาดระบบบริหารที่ดีในธุรกิจชุมชน

การส่งเสริมอาชีพในชุมชนมักจะอยู่ในรูปของธุรกิจที่คนในชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ เช่น วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ เป็นต้น ซึ่งมีข้อดีในเชิงหลักการ คือ ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม แต่มักมีปัญหาด้านการบริหารจัดการเช่น สมาชิกที่มีหุ้นมากเท่าไรก็มีเสียงเดียวทำให้ไม่มีใครอยากลงทุนเพิ่ม เพราะไม่มีอำนาจควบคุมเมื่อแต่ละคนมีหุ้นน้อย ก็ไม่ทุ่มเทในการพัฒนาสหกรณ์เป็นต้น

ธุรกิจชุมชนมักเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวได้ล่าช้าเพราะต้องจูงใจให้สมาชิกส่วนใหญ่ร่วมมือด้วยและการดำเนินธุรกิจชุมชนมักมีลักษณะอนุรักษ์นิยม ขณะที่กรรมการและผู้บริหารของธุรกิจชุมชนมักเป็นสมาชิกในชุมชนเดียวกันทำให้ขาดมุมมองที่หลากหลาย และขาดประสบการณ์ในการบริหารองค์กร

การสร้างอาชีพในชุมชนชนบทนับว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะโดยธรรมชาติของชนบทเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเอาชนะความท้าทายนี้ต้องมียุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาด สร้างสรรค์ และมีความเข้าใจชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งผมจะนำเสนอยุทธศาสตร์ในการทำโครงการสร้างอาชีพในชุมชน ในบทความตอนต่อไป 

 

แหล่งที่มา : cioworldmagazine.com
25 ธันวาคม 2563

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando

แหล่งที่มาของภาพ : http://www.cioworldmagazine.com/wp-content/uploads/2020/12/open-15-680x365_c.jpg      

Tags: