"วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์" ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ต่ำกว่ามาตรฐาน (ซับไพร์ม) หรือ ldquo;วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์rdquo; ซึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2550 ได้เริ่มส่งผลกระทบด้านลบอย่างชัดเจนมากขึ้นในปีนี้
 
ทางการสหรัฐฯ ได้พยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยมาตรการต่างๆ ถูกทยอยนำออกมา ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อย่างรุนแรงถึงสองครั้งในช่วงเวลาห่างกันเพียง 8 วัน รวมอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงถึงร้อยละ 1.25 ทำให้ปัจจุบัน (31 ม.ค. 2551) อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2548 นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ และสภาครองเกรสยังได้อนุมัติงบประมาณกว่า 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อคืนภาษีให้พลเมืองอเมริกัน จากมาตรการดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจของสหรัฐมีปัญหาค่อนข้างมากทีเดียว
 
เมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีปัญหาย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยด้วย เนื่องจากสหรัฐฯถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ด้วยเหตุนี้ภาครัฐจึงควรเฝ้าระวังว่า ผลกระทบของปัญหาซับไพร์มต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยนั้นจะเป็นอย่างไร ทั้งด้านการเจริญเติบโตและด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะสามารถเตรียมมาตรการรองรับหรือป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
1. ผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
 
ปัญหาซับไพร์มจะส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากปัญหาซับไพร์มทำให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยชะลอตัว ซึ่งมีผลทำให้การส่งออกของไทยชะลอลงด้วย
 
เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย จะชะลอตัวลง ผมมองว่ามาตรการลดอัตราดอกเบี้ยและคืนภาษีที่ทางการสหรัฐฯประกาศออกมานั้น จะไม่ช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวได้มากนัก เนื่องจากการคืนภาษีจะไม่ทำประชาชนอเมริกันใช้จ่ายมากขึ้น ด้วยเหตุว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2550 ลดลงถึงกว่าร้อยละ 20 (ตารางที่ 1) อันเกิดจากความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคต การลดลงนี้ชี้ให้เห็นว่าคนอเมริกันกำลังใช้จ่ายลดลงแต่กลับออมเงินเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากประชาชนอเมริกันได้รับการคืนภาษีจากรัฐบาล แม้อัตราดอกเบี้ยจะต่ำลง แต่พวกเขามีแนวโน้มที่จะนำเงินที่ได้รับไปเก็บออมไว้ เพื่อเตรียมรับมือความไม่แน่นอนในอนาคตมากกว่านำเงินออกมาใช้จ่าย
 
ตารางที่ 1: ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (CCI) ตั้งแต่กรกฎาคมถึงธันวาคม พ.ศ. 2550
เดือน
ก.ค.
ส.ค.
ก.ย.
ต.ค.
พ.ย.
ธ.ค.
CCI
111.9
105.6
99.5
95.2
87.8
88.6
 
ถึงแม้ว่าการคืนภาษีจะทำให้ประชาชนอเมริกันจะใช้จ่ายมากขึ้น แต่การที่สหรัฐฯเป็นประเทศที่ขาดดุลการค้าอย่างหนัก (ตารางที่ 2) ในรายได้ประชาชาติทั้งหมดของสหรัฐฯนั้น จะมีส่วนที่นำไปซื้อสินค้านำเข้าเป็นปริมาณมาก ซึ่งมีนัยว่าเงินที่ประชาชนอเมริกันได้จากการคืนภาษีในครั้งนี้ จะถูกนำไปซื้อสินค้านำเข้า ซึ่งไม่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวมากขึ้น
 
นอกจากนี้ งบประมาณที่ใช้ในการคืนภาษีของสหรัฐฯเกิดจากการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้น ประกอบกับการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด จะเป็นปัจจัยร่วมกันที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯสูงขึ้นและทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯได้ยากขึ้น และถึงแม้มาตรการคืนภาษีนี้อาจจะทำให้การนำเข้าของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น แต่จะไม่ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น
 
ตารางที่ 2: ดุลการค้าของสหรัฐอเมริกา (ล้านดอลลาร์) ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 - 2549
ปี
2545
2546
2547
2548
2549
ดุลการค้า
-423,725
-496,915
-612,092
-714,371
-758,522
การเปลี่ยนแปลง (%)
-
17.3
23.2
16.7
6.2
 
การส่งออกของไทยไม่เพียงแต่จะชะลอตัวเฉพาะตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและจีนด้วย เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นผู้ส่งออกและลงทุนรายใหญ่ในสหรัฐฯ การขาดทุนหรืออัตราผลตอบแทนที่ลดลงจากการส่งออกไปยังสหรัฐฯและการลงทุนในตราสารหนี้ที่เกี่ยวกับสินเชื่อซับไพร์ม จะทำให้การบริโภคและการลงทุนในประเทศเหล่านี้ชะลอตัวด้วย ซึ่งทำให้การส่งออกของไทยไปยังประเทศเหล่านี้ชะลอตัวลงด้วย
 
ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ขยายตัวได้ดี จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยยังสามารถขยายตัวได้ดีตามไปด้วย แม้ว่าไทยต้องเผชิญกับปัญหาค่าเงินบาทแข็งและต้นทุนการผลิตสูงขึ้นก็ตาม ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและประเทศอื่น ๆ ชะลอตัว จะทำให้การส่งออกในภาพรวมของไทยมีปัญหาด้วย และทำให้การส่งออกไม่สามารถเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเหมือนปีที่ผ่านมาได้
 
นอกจากปัจจัยด้านการส่งออกที่ชะลอตัวอันเนื่องจากปัญหาซับไพร์มแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัวมากนัก ได้แก่ การบริโภคและการลงทุนในประเทศไทยที่ยังคงไม่ฟื้นตัว เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่อาจปรับตัวสูงขึ้น และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ยังไม่กลับคืนมา จากความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ และความไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลกระทบของปัญหาซับไพร์ม นักลงทุนจึงอาจจะตัดสินใจถือเงินสดหรือทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องสูงไว้มากกว่าที่จะนำไปลงทุนโดยตรง ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติศาสตร์ถึงร้อยละ 31 ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนชะลอการบริโภค เพื่อนำเงินไปชำระหนี้
 
2. ผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
 
1) เสถียรภาพภายใน: อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
 
หากพิจาณาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าหรืออัตราเงินเฟ้อ ปัญหาซับไพร์มไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศโดยตรง แต่ส่งผลกระทบผ่าน 2 ปัจจัย คือ ราคาน้ำมัน (Cost Push Factors) และอัตราดอกเบี้ย (Demand Pull Factors) หากจะพิจารณาว่าปัญหาซับไพร์มส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างไร ต้องพิจารณาว่าปัญหาซับไพร์มส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยอย่างไร และราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยในประเทศ มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยอย่างไร
 
ปัจจัยด้านราคาน้ำมันนั้นยังคงผันผวน แต่มีแนวโน้มลดลงจากปลายปี 2550 ซึ่งทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปัญหาซับไพร์มจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยและทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันของโลกมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากสหรัฐฯสหรัฐฯ เป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก
 
อย่างไรก็ตาม แม้ราคาน้ำมันลดลง แต่อาจไม่ทำให้ราคาสินค้าลดลงเร็วนัก เพราะสินค้าส่วนหนึ่งเป็นสินค้าในสต็อก หรือเกิดจากการผลิตภายใต้คำสั่งซื้อเดิม ณ ราคาวัตถุดิบเดิม และผู้ประกอบการยังมีต้นทุนการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้า (Menu Cost) ทำให้ยังไม่สามารถปรับราคาลงมาได้รวดเร็วนัก ดังนั้นแม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลง แต่ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อในช่วงต้นปีนี้อาจจะไม่ลดลง
 
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งภาวะเศรษฐกิจ ทิศทางของนโยบาย รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ การที่สหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้งติดกัน คือ ร้อยละ 0.75 และร้อยละ 0.50 เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากซับไพร์ม ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามายังไทย ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้นอีก ประกอบกับแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงจึงคาดการณ์ได้ว่า ผู้กำหนดนโยบายการเงินของไทยน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งอาจมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง
 
2) เสถียรภาพภายนอก: ดุลการชำระเงินไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
 
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศพิจารณาจากปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลการชำระเงิน ซึ่งประกอบด้วยดุลบัญชีเดินสะพัด (การส่งออก-นำเข้า) และดุลบัญชีเงินทุน (เงินทุนไหลเข้า-ไหลออก) หากดุลการชำระเงินเป็นบวกจะทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ในทางตรงข้าม หากดุลการชำระเงินเป็นลบ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะลดลง
 
ดุลบัญชีทุนขึ้นอยู่กับการเคลื่อนย้ายเงินทุนสุทธิระหว่างประเทศ ซึ่งโดยธรรมชาติของเงินทุนจะเคลื่อนย้ายไปยังที่ซึ่งมีผลตอบแทนสูงกว่า และผลตอบแทนของทุนพิจารณาได้จากอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นด้วยเหตุที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ยลง และคาดว่าจะลดลงอีกนั้น ทำให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของไทย ดังนั้นอาจทำให้มีทุนเคลื่อนย้ายเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น
 
ขณะที่ปัญหาซับไพร์มจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลน้อยลง เพราะจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าอื่นของไทยชะลอตัวลง ทำให้การส่งออกของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยมีการคาดการณ์กันว่า การส่งออกของไทยจะขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 10 ในปีนี้ ลดลงจากร้อยละ 19 ในปี 2550
 
นอกจากนี้ เงินทุนที่ไหลเข้าไทยมากขึ้นจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะทำให้ส่งออกได้ยากขึ้น แต่จะทำให้นำเข้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าผู้กำหนดนโยบายการเงินของไทยจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ทำให้การส่งออกและนำเข้าไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินมากนัก
 
เมื่อรวมดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีทุนแล้ว จะเห็นได้ว่าดุลบัญชีทุนมีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้น ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลลดลง ผลของซับไพร์มต่อทั้งสองบัญชีจึงหักล้างกันเอง ทำให้ไม่กระทบดุลการชำระเงินและทุนสำรองระหว่างประเทศมากนัก
 
ทั้งนี้ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2550 ปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย มีอยู่สูงถึง 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 6.7 เท่าของปริมาณหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (มาตรฐานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศกำหนดไว้ที่ 1.5 เท่า) ดังนั้นด้วยฐานเงินทุนสำรองฯที่มีจำนวนมาก ซับไพร์มจึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศของไทยมากนัก
 
2. ข้อเสนอแนะ
 
รัฐบาลปัจจุบันและธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาทำหน้าที่ในอนาคต ควรเตรียมมาตรการรองรับปัญหาซับไพร์ม โดยเน้นการการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะการเร่งลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เนื่องจากการส่งออกจะชะลอตัว ขณะที่การบริโภคและการลงทุนยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังมีความจำเป็นในการแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ ให้ได้มากขึ้น รวมทั้งกระตุ้นการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
 
ทั้งนี้ภาครัฐควรวางแผนและจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนและขนาดของโครงการที่จะทำอย่างเหมาะสมด้วย เพื่อให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพ และสามารถใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งด้วย เพราะการที่ค่าเงินบาทแข็ง จะทำให้ไทยสามารถนำเข้าได้ในราคาที่ต่ำกว่าในช่วงเวลาปกติ การนำเข้าเทคโนโลยีเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมภาคเอกชนในการนำเข้าเครื่องจักรใหม่ ๆ ในขณะนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ยิ่ง
 
สำหรับโครงการประชานิยมต่าง ๆ ที่รัฐบาลประกาศไว้นั้น ควรจะดำเนินการด้วยความระมัดระวังที่จะไม่สร้างหนี้ให้กับประชาชนมากขึ้นอีก เนื่องจากภาระหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว แต่ควรเน้นการสร้างงานและการพัฒนาผลิตภาพของการผลิตและแรงงาน รวมทั้งดำเนินนโยบายการเงินเพื่อลดภาระหนี้ของประชาชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น และมีความสามารถในการชำระหนี้มากขึ้น
 
ในด้านการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั้น ปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาครัฐควรช่วยในการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้น เช่น การพิจารณาแนวทางการรักษาระดับราคาสินค้าจำเป็น การลดต้นทุนผู้ผลิตและป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องพิจารณาต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตอย่างละเอียด การจัดตลาดนัดสินค้าราคาประหยัดเพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้าที่จำเป็นได้ในราคาถูก เป็นต้น
 
ส่วนด้านเสถียรภาพภายนอก ธนาคารแห่งประเทศไทยควรศึกษาและเตรียมเครื่องมือรับความผันผวนของค่าเงิน เพื่อสามารถนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาได้ รวมทั้งอาจจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้น และลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท
 
กล่าวโดยสรุป รัฐบาลใหม่จำเป็นจะต้องติดตามและดูแลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และประสานความร่วมมืออย่างแนบแน่นมากขึ้นกับกระทรวงเศรษฐกิจอื่น ๆ และกับธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากผลกระทบของปัญหาซับไพร์มดูเหมือนจะยังไม่จบลงง่าย ๆ และปัญหายังมีแนวโน้มขยายวงกว้างขึ้น เศรษฐกิจโลกจึงยังคงมีความผันผวนสูงมาก
admin
เผยแพร่: 
วารสารสภาที่ปรึกษาฯ
เมื่อ: 
2008-06-03