การเตรียมความพร้อมของไทยในการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ในบทความครั้งที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ถึงความพร้อมของไทยในการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผมได้อธิบายว่าอะไรที่เป็นจุดแข็งและอะไรคือจุดอ่อนของประเทศไทย และได้สรุปว่าเรายังขาดการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเข้าเป็นสมาชิกของ AEC

สำหรับบทความนี้ ผมจะเสนอแนวคิดการเตรียมพร้อมของไทยในการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งผมได้นำเสนอในงานเสวนาเรื่อง  การสร้างองค์กรแห่งความสุข" Happy Workplace ในยุค 3.0? จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่
1. การพัฒนาความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับ AEC

สิ่งแรกที่จำเป็นสำหรับการเตรียมพร้อมคือ การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับ AEC โดยการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ AEC อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการให้ข้อมูลและความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ AEC ความรู้เกี่ยวกับเงื่อนไขและวิธีการใช้ประโยชน์จาก AEC ผลการวิจัยเกี่ยวกับโอกาสทางการตลาดและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งควรเป็นงานวิจัยที่ลงลึกในรายอุตสาหกรรมหรือรายสินค้าและบริการที่สำคัญ และเผยแพร่ข้อมูลที่ตรงกับความสนใจของคนแต่ละกลุ่ม และปรับรูปแบบข้อมูลในรูปที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยการจัดตั้งศูนย์ศึกษาประเทศเพื่อนบ้านเพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านและการจัดให้มีหลักสูตรการสอนภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน

2. การกำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของประเทศ

ประเทศไทยยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่า ตำแหน่งของไทยใน AEC คืออะไร ทำให้การพัฒนาประเทศขาดทิศทางที่ชัดเจนและขาดการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจาก AEC ซึ่งอาจทำให้ภาคเศรษฐกิจในประเทศได้รับผลกระทบรุนแรง หรือไม่ได้รับประโยชน์จาก AEC อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ผมได้เสนอยุทธศาสตร์บางด้าน เช่น

ศูนย์กลางการผลิตใน AEC เพราะไทยตั้งอยู่ศูนย์กลางของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ตรงกลางของภูมิภาคอินโดจีนซึ่งเป็นกลุ่มประเทศมีอัตราการขยายตัวสูง มีแรงงานและทรัพยากรราคาถูก และเป็นแหล่งผลิตมีผลผลิตขั้นต้นจำนวนมาก (เช่น ผลผลิตทางการเกษตร) ประเทศไทยจึงเหมาะสมสำหรับการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาค เป็นฐานการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาค หรือเป็นศูนย์กลางการนำเข้าเพื่อส่งออก (re-exportation) ยิ่งไปกว่านั้นเงินบาทของไทยได้รับการยอมรับภายในภูมิภาคนี้ทำให้ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการค้าได้ อย่างไรก็ตามปัญหาที่ต้องแก้ไขคือ ต้นทุนโลจิสติกส์ที่ค่อนข้างสูง ซึ่งทำให้โอกาสในการเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนและการทำธุรกิจในอาเซียนอาจลดลง

ศูนย์กลางการพัฒนาทุนมนุษย์ AEC เช่น การเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพในอาเซียน เนื่องจากไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถ มีบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผล และข้อตกลง AEC จะทำให้ไทยสามารถดึงบุคลากรทางการแพทย์จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา เพื่อขยายการบริการได้มากขึ้น ประเทศไทยยังมีศักยภาพเป็นแหล่งผลิตแรงงานมีทักษะและพัฒนาทักษะแรงงานให้ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะไทยมีมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาจำนวนมาก มีการเปิดสอนในหลากหลายสาขา และสามารถรองรับนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านได้

3. การกำหนดยุทธศาสตร์ด้านความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ


ประเทศไทยยังขาดยุทธศาสตร์ด้านความสัมพันธ์กับมหาอำนาจต่างๆ กล่าวคือเราจะดึงการสนับสนุนมาจากมหาอำนาจต่างๆ อย่างไร เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการเป็น AEC เพราะแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกจะมีหลายขั้วอำนาจมากขึ้น การแข่งขันระหว่างขั้วอำนาจเก่าและขั้วอำนาจใหม่จะเพิ่มมากขึ้น และ AEC เป็นเป้าหมายที่มหาอำนาจให้ความสนใจ สถานการณ์เช่นนี้นับเป็นความท้าทายว่า ไทยจะดำเนินยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างไร และจะรักษาดุลอำนาจของมหาอำนาจที่มีต่อไทยอย่างไร เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุด ขณะที่หลายประเทศกำลังสร้างความยึดโยงกับมหาอำนาจ เช่น อินโดนีเซียพยายามผลักดันตนเองเข้าเป็นสมาชิกของ BRICS ขณะที่เมียนมาร์และกัมพูชาเปิดโอกาสให้มหาอำนาจทั้งหลายเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ โดยแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ (เช่น แหล่งน้ำมันในทะเล) หากเป็นเช่นนี้ มหาอำนาจอาจละเลยไทย โดยมุ่งเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากประเทศเพื่อนบ้าน

ผมจึงมีข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ด้านความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ โดยการร่วมมือกับมหาอำนาจในการพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน เช่น การส่งเสริมให้ประเทศมหาอำนาจเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศโดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นระบบถนนที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศ การพัฒนาการขนส่งสินค้าระบบราง รถไฟความเร็วสูงระหว่างประเทศ การลงทุนระบบท่อสำหรับขนส่งพลังงาน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าพลังงานในอาเซียนและมีอำนาจต่อรองด้านพลังงาน

การผลักดันการรวมตัวเป็น BRICSKJAM ซึ่งประกอบด้วยกลุ่ม BRICS กลุ่มอาเซียน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้อินโดนีเซียมีอำนาจต่อรองสูงเกินไปหากสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ BRICS เพียงประเทศเดียว รวมทั้งเพิ่มความน่าสนใจและอำนาจต่อรองของ AEC ลดการพึ่งพากลุ่มมหาอำนาจเดิมซึ่งกำลังถดถอย และสร้างขั้วอำนาจใหม่ซึ่งอาจฉุดโลกให้พ้นจากความถดถอยได้

4. การพัฒนาเศรษฐกิจบนจุดแข็งของประเทศ

ในสถานการณ์ที่การแข่งขันรุนแรงขึ้น ประเทศไทยควรเน้นการพัฒนาภาคเศรษฐกิจที่ไทยมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้มีแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม 2 แนวคิดหลัก คือ การปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวคัดเลือกว่าอุตสาหกรรมใดที่มีความสามารถในการแข่งขัน และการกำหนดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เพื่อรัฐบาลจะสนับสนุนให้เข้มแข็ง ซึ่งผมมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก เราจึงไม่ควรเสียทรัพยากรในการลองผิดลองถูก แต่ควรกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ชัดเจนด้วยการวิจัย

5. การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และสูญเสียความน่าสนใจในแง่ของการเป็นสวรรค์ของนักลงทุน เพราะนักลงทุนกำลังแสงหาโอกาสการค้าและการลงทุนในเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศประกอบกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ (น้ำท่วม) ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง นโยบายการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ

ด้วยเหตุนี้ ไทยควรปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยแสวงหาปัจจัยใหม่ในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภาพและสร้างนวัตกรรม การสร้างมาตรฐานทักษะแรงงาน และพัฒนาทักษะแรงงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนและการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

6. การพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ

แม้ประเทศไทยมีความสะดวกในการทำธุรกิจในอันดับสูงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน แต่มีบางประเด็นที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น การจัดตั้งธุรกิจที่ใช้เวลานานและมีขั้นตอนมาก ต้นทุนทางการเงินสูง ขอสินเชื่อได้ยาก อัตราภาษีสูง การทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น
ผมเสนอว่าเราควรพัฒนากระบวนการบริหารจัดการ โดยเฉพาะในหน่วยงานภาครัฐที่ต้องให้บริการแก่นักลงทุน โดยเฉพาะ e-government เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก การพัฒนาหลักเกณฑ์การขออนุญาตต่างๆ ให้ชัดเจน ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ การรับประกันระยะเวลาในการขออนุญาตต่างๆ การพัฒนาระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและมีนวัตกรรม การส่งเสริมให้มีการแข่งขันในภาคสถาบันการเงินมากขึ้นเพื่อลดการผูกขาดของธนาคารขนาดใหญ่และลดต้นทุนทางการเงินของธุรกิจในประเทศ ตลอดจนการลดอัตราภาษีนิติบุคคล และเร่งแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน

7. การพัฒนาระบบปกป้องเศรษฐกิจในประเทศ

การเข้าสู่ AEC อาจทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการเปิดเสรี โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าที่มีมาตรฐานต่ำ ซึ่งอาจสร้างผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัยของผู้บริโภคและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราจึงควรเตรียมพัฒนาระบบปกป้องเศรษฐกิจในประเทศ อาทิ การพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน การสร้างมาตรการกีดกันทางการค้าและการอุดหนุนโดยรัฐเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศเป็นการชั่วคราวจากผลกระทบจากการเปิดเสรี การสร้างระบบผลักความรับผิดชอบให้ผู้ผลิตในการจัดการขยะที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

เหล่านี้เป็นยุทธศาสตร์ นโยบายและมาตรการสำคัญๆ ที่ประเทศไทยควรมีการเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้เรายังสามารถกำหนดทิศทางของประเทศได้บ้าง มิใช่ปล่อยให้ทิศทางประเทศถูกกำหนดด้วยสถานการณ์แวดล้อม โดยที่เราไม่สามารถควบคุมได้เลย