สารพัดมรสุมรุมเร้า SMEs: ทางออกอยู่ที่ไหน

ปีนี้เป็นปีที่หลายธุรกิจเริ่มเห็นสัญญาณบวกของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทั้งภาวะเงินเฟ้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ยังคงเป็นปัจจัยท้าทายที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ต้องเผชิญ โดยเฉพาะการปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ที่ผ่านมา SMEs มีบทบาทสำคัญในหลายมิติ ทั้งการสร้างงาน การกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมการแข่งขัน และการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทาน SMEs จึงเปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในปี 2566 SMEs มีส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูงถึง 6,317,181 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.2 ของ GDP รวมทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันของ SMEs ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการปิดโรงงานแล้วกว่า 667 แห่ง เฉลี่ย 111 โรงงานต่อเดือน ส่งผลให้มีคนตกงานกว่า 17,674 คน นอกจากนี้ ในปี 2566 มี SMEs เลิกกิจการถึง 17,858 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 107,728.90 ล้านบาท ความเปราะบางของ SMEs ยังสะท้อนผ่านอัตราการอยู่รอดในช่วง 3 ปีแรกที่เฉลี่ยเพียง ร้อยละ 20 เท่านั้น อีกทั้งยังมีปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกของปี 2567 สัดส่วน SMEs ที่มีภาระหนี้พุ่งสูงถึงร้อยละ 63.9 และมีภาระหนี้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 500,000 บาท เป็น 1,000,000 บาท

1. ความเปราะบางของ SMEs
ธรรมชาติของ SMEs มักมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ความสามารถในการแข่งขันต่ำ การบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยากลำบาก โดยความเปราะบางของ SMEs ในปัจจุบันสะท้อนผ่าน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
ประเด็นที่หนึ่ง รายได้โตต่ำและขาดกำไรสะสม SMEs รายเล็กมีกำไรเฉลี่ยจากการดำเนินธุรกิจเพียง ร้อยละ 0.15 ของรายได้ ในขณะที่ SMEs รายกลางขึ้นไปมีกำไรเฉลี่ย ร้อยละ 3.1 ซึ่งส่งผลต่อกำไรสะสมที่ไม่เพียงพอในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
ประเด็นที่สอง ต้นทุนต่อหน่วยสูง SMEs รายเล็กมีต้นทุนในการขายและบริหารสูงถึง ร้อยละ 25.3 ของรายได้ เทียบกับ SMEs รายกลางขึ้นไปที่มีต้นทุนเพียงร้อยละ 12.9
ประเด็นที่สาม อำนาจต่อรองต่ำ SMEs รายเล็กมักมีระยะเวลาต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่สูงกว่า โดยต้องสำรองเงินทุนเพื่อหมุนเวียนเมื่อเทียบยอดขายสูงถึง 169 วัน ในขณะที่ SMEs รายกลางขึ้นไปสำรองเงินทุนไว้ราว 90 วัน

2. สาเหตุและผลกระทบของความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อ SMEs ไทย
นอกเหนือจากปัจจัยภายในของ SMEs ที่เป็นความเปราะบางที่เผชิญอยู่แล้ว SMEs ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เป็นปัจจัยภายนอกที่เข้ามาสร้างความท้าทายหลายประการ เช่น
ประการแรก สถานการณ์เศรษฐกิจไทยหลังโควิดยังไม่ฟื้นตัวมากนัก โดยในไตรมาสแรกของปี 2567 ไทยมี GDP เติบโตเพียงร้อยละ 1.5 ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ การส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของประเทศก็หดตัวลง โดยในเดือนมีนาคม 2567 หดตัวถึงร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน
ประการที่สอง ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาในการส่งออก 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) ไทยเป็นฐานการผลิตของสินค้าที่โลกกำลังจะลืม เช่น รถยนต์สันดาปและ HDD 2) ไทยไม่มีสินค้าดาวรุ่งในโลกใหม่ เช่น สมาร์ทโฟนหรือ SSD และ 3) สินค้าที่ยังพอไปต่อได้กระจุกตัวในกลุ่มสินค้าที่มีความซับซ้อนต่ำ เช่น สินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป
ประการที่สาม การเข้ามาของสินค้าจีน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 15 เป็นประมาณ ร้อยละ 25 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 41 ของสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมดในปี 2566 อีกทั้งการเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีนอย่าง Temu ยิ่งส่งผลกระทบต่อ SMEs ไทย เนื่องจาก Temu มีจุดเด่นในด้านความหลากหลายของสินค้า ราคาต่ำ และโปรโมชันที่น่าดึงดูด ซึ่งอาจทำให้ SMEs ไทยสู้ราคาไม่ไหวและเสี่ยงปิดกิจการ
สาเหตุที่ทำให้สินค้าจีนบุกตลาดไทยได้มาจากสองปัจจัยหลัก คือ 1) ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนและความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ที่ทำให้จีนต้องระบายสินค้ามายังตลาดอาเซียนรวมถึงไทยมากขึ้น และ 2) ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับจีน ที่ทำให้สินค้าจีนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
นอกจากนี้ SMEs ยังต้องเผชิญกับปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลให้ต้นทุนขนส่งสูงขึ้น ปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่ทำให้ขาดแคลนแรงงาน และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
ปัจจัยเหล่านี้มีผลทำให้ SMEs ต้องปิดกิจการลงไปจำนวนมาก และ ส่งผลกระทบด้านลบทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

3. ข้อเสนอแนะทางออกสำหรับ SMEs
สถานการณ์ที่อธิบายข้างต้นชี้ให้เห็นถึงความท้าทายอันใหญ่หลวงที่ SMEs ไทยกำลังเผชิญ และความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับตัวและพัฒนาศักยภาพเพื่อความอยู่รอดและการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ผมจึงอยากเสนอทางออกเพื่อให้ SMEs สามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืนดังนี้
1) SLEs ไม่ใช่ SMEs ผมได้เสนอเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2542 ในหนังสือของผม เรื่อง SMEs หรือ SLEs? : แนวโน้มธุรกิจไทยในศตวรรษหน้า เพราะ เชื่อว่าธุรกิจขนาดกลาง (Medium) จะประสบปัญหาอย่างหนักเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดเล็ก (Small) ที่คล่องตัว สามารถปรับเปลี่ยนและตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้รวดเร็วกว่า และ ไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ (Large) เพราะ ทุน เทคโนโลยีและการบริหารจัดการสู้ไม่ได้ ดังนั้นธุรกิจขนาดกลางจึงควรปรับทิศทางมุ่งสู่ธุรกิจขนาดเล็กที่ปรับตัวเร็ว หรือ ควบรวม หรือ หาพันธมิตรที่ขนาดธุรกิจสามารถเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในอนาคต
2) มุ่งเน้นจุดแข็งและความเชี่ยวชาญ SMEs ควรค้นหาจุดแข็งและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตนเอง แล้วมุ่งพัฒนาสินค้าและบริการที่โดดเด่นแตกต่าง ไม่จำเป็นต้องแข่งขันในทุกด้านกับบริษัทใหญ่ แต่ควรหาช่องว่างทางการตลาดที่ยังไม่มีคู่แข่งมาก
3) สร้างพันธมิตรทางธุรกิจ SMEs ควรร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพื่อเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน เช่น การเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของบริษัทใหญ่ หรือการรวมกลุ่มกันเองเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง
4) พัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี การลงทุนพัฒนาทักษะของบุคลากรและนำเทคโนโลยีมาใช้ เป็นสิ่งจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยอาจร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานวิจัย
5) ปรับปรุงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ภาครัฐและสถาบันการเงินควรพัฒนาช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายสำหรับ SMEs เช่น การระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (crowdfunding) หรือการสร้างแรงจูงใจให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อแก่ SMEs มากขึ้น
6) การสนับสนุนจากภาครัฐ รัฐบาลควรมีนโยบายสนับสนุน SMEs อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การลดภาษี การอำนวยความสะดวกด้านกฎระเบียบ และการสร้างฐานข้อมูลกลางเพื่อให้ SMEs เข้าถึงข้อมูลตลาดได้ง่ายขึ้น
7) ส่งเสริมการส่งออกและขยายตลาด SMEs ควรได้รับการสนับสนุนให้ขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยภาครัฐอาจช่วยในการศึกษาตลาด การจับคู่ธุรกิจ และการส่งเสริมแบรนด์สินค้าไทย
สถานการณ์ปัจจุบันถือเป็นศึกหนักของ SMEs ไทย ผมคิดว่าภาครัฐควรจะเล่นบทบาทในการช่วยเหลือสนับสนุน SMEs อย่างมียุทธศาสตร์ เพราะ การพัฒนา SMEs ให้เข้มแข็งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เอื้อต่อการเติบโตของ SMEs ในขณะเดียวกัน SMEs เองก็ต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และมุ่งมั่นสร้างความเป็นเลิศในธุรกิจของตน เพื่อความอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวด้วย

แหล่งที่มา : Mix Magazine

พ.ย. 2024

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando    
  

Tags: