ทางเลือกเชิงนโยบายว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้

ในศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยรวมทั้งประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ได้ก้าวเข้าสู่กระแสใหม่ของการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ (KNOWLEDGE-BASED ECONOMY) ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจที่การผลิตและการแพร่กระจายสินค้าและบริการ อาศัยความรู้เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เพื่อสร้างความเติบโต ความมั่งคั่งและสร้างงานในทุกภาคเศรษฐกิจ ความรู้และนวัตกรรมจึงเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนามากกว่าเงินทุนและแรงงาน ความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาโดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับฐานความรู้ และทำให้องค์กรต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจและสังคมจำเป็นต้องปรับตัวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่
ทั้งนี้ลักษณะสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ ประกอบด้วย 4 มิติ[1]
  • นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยการพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเป็นเครือข่ายของสถาบันรัฐและเอกชนในการพัฒนากิจกรรม ปฎิสัมพันธ์ระหว่างกัน ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และการเผยแพร่เทคโนโลยี
  • การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการพัฒนาระบบการศึกษาและฝึกอบรมให้มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมตลอดชีวิตการทำงานของแต่ละปัจเจกบุคคล
  • เทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าถึงสารสนเทศและความรู้จากทั่วโลก รวมถึงเป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรมพาณิชย์อิเลคทรอนิคส์
  • สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ได้แก่ นโยบายทางกฎหมายและเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและเติบโตของวิสาหกิจอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้เกิดนวัตกรรมด้านการพัฒนา
อย่างไรก็ตาม การพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนา แม้จะเกิดประโยชน์และส่งผลดีต่อการพัฒนาสู่เศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ แต่อีกด้านหนึ่งในบางกรณีกลับประสบปัญหาผูกขาดทางการค้าที่เกิดจากการจดสิทธิบัตร เช่นในกรณีของการผูกขาดของบริษัทผู้ผลิตยา ทำให้ยามีราคาแพงจนผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงยารักษาโรคได้ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขของไทยได้บังคับใช้สิทธิกับยาที่ติดสิทธิบัตร 2 รายการ ให้สามารถผลิตหรือนำเข้ายาเลียนแบบจากประเทศที่สาม ตามมาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือ compulsory licensing (CL) ภายใต้พระราชบัญญัติสิทธิบัตรของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องมาจากปัญหานี้เช่นกัน
แม้การดำเนินการดังกล่าวนับเป็นความกล้าหาญของกระทรวงสาธารณสุข ที่พยายามรักษาสิทธิในการเข้าถึงยาของคนไทย แต่อาจทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อบริษัทเจ้าของสิทธิบัตรยาต่างประเทศ เพราะหมายถึงอำนาจผูกขาดในการจำหน่ายยาของบริษัทเหล่านี้จะหมดไป นำมาซึ่งผลกำไรที่ลดลง และอาจเป็นเหตุผลในการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าต่อสินค้าไทยได้เช่นกัน
 
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ผลิตยาใช้อำนาจผูกขาดทางการค้าที่ได้มาจากการจดสิทธิบัตร ในการกำหนดราคาสินค้าที่สูงเกินจริง หรือการควบคุมจำนวนการผลิตสินค้า จนทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ
 
ถึงแม้ว่า เป้าหมายที่แท้จริงของการจดสิทธิบัตร หรือการให้อำนาจผูกขาดกับผู้จดสิทธิบัตร เป็นไปเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการคิดค้นสิ่งใหม่ และช่วยคุ้มครองให้ผู้ที่คิดค้นนวัตกรรมสามารถอยู่รอดได้ เนื่องจากการคิดค้นนวัตกรรมต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก และมีความเสี่ยงสูงที่การคิดค้นอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ
แต่การให้อำนาจผูกขาดอย่างสมบูรณ์แก่ผู้คิดค้นนวัตกรรม มีข้อเสียคือ ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าและบริการในราคาที่สูงมาก รวมทั้งอาจไม่ได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็นในตลาดที่มีการแข่งขัน รวมถึงทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการบริโภค เพราะต้องซื้อสินค้าและบริการจากผู้ผลิตรายเดียว
 
กรณีดังกล่าว นำมาสู่คำถามที่ว่า มีวิธีอื่นนอกจากการจดสิทธิบัตรหรือไม่ ที่จะทำให้ผู้คิดค้นนวัตกรรมมีแรงจูงใจจากการคิดค้นนวัตกรรม โดยได้รับผลตอบแทนจากการคิดค้นอย่างคุ้มค่า ขณะเดียวกันยังไม่ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์จากการไม่สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่เกิดจากนวัตกรรมดังกล่าวได้
 
การทำให้นวัตกรรมเป็นสินค้าสาธารณะ
แนวคิดหนึ่งที่ผมขอนำเสนอ คือ การทำให้นวัตกรรมเป็นสินค้าสาธารณะ โดยที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงเพื่อชดเชยให้กับผู้ที่คิดค้นนวัตกรรม โดยมีแนวคิดว่าผู้ที่คิดค้นนวัตกรรมได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคม แต่กลับเป็นผู้ที่แบกรับต้นทุนไว้เอง (positive externality)
 
รูปธรรมของแนวคิดนี้ คือ การที่รัฐบาลร่วมลงทุนกับผู้คิดค้นนวัตกรรม หรือซื้อองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากผู้คิดค้นนวัตกรรม โดยรัฐจ่ายเงินให้กับผู้ที่สามารถคิดค้นนวัตกรรมได้ แล้วขายหรือให้สิทธิในการผลิตแก่ภาคเอกชนหลายราย เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันผลิตสินค้าดังกล่าว ส่วนรัฐบาลจะมีรายได้กลับคืนจากภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการผลิตและขายสินค้าดังกล่าว
อีกวิธีการหนึ่งคือ การอนุญาตให้มีการแข่งขันผลิตสินค้าเลียนแบบนวัตกรรมได้อย่างเสรี แต่รัฐบาลจะต้องมีส่วนเข้ามาแทรกแซงผ่านการเก็บภาษีพิเศษจากผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าเลียนแบบ และนำเงินภาษีส่วนนี้มาชดเชยให้กับผู้ที่คิดค้นนวัตกรรมนั้น โดยรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดว่าจะเก็บอัตราภาษีร้อยละเท่าไรของราคาสินค้าและบริการ และเก็บเป็นจำนวนกี่ปี โดยพิจารณาจากต้นทุนในการคิดค้นนวัตกรรม และประโยชน์ที่สังคมได้รับ
 
วิธีการดังกล่าวข้างต้นจะทำให้ราคาสินค้าและบริการไม่สูงเท่ากับกรณีที่มีการผูกขาดโดยผู้ผลิตรายเดียว ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้มากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้ผลิตที่มากรายจะจูงใจให้ผู้ผลิตปรับปรุงประสิทธิภาพ และพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ในขณะที่ผู้สร้างนวัตกรรมได้รับผลตอบแทนกลับคืนจากการคิดค้นด้วย แต่เงื่อนไขความสำเร็จของวิธีการนี้คือ การกำหนดกลไกการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้คิดค้นนวัตกรรมในระดับที่เหมาะสม
 
การทำให้ผู้คิดค้นนวัตกรรมรายแรกไม่เป็นผู้ผูกขาดรายเดียว
อีกแนวคิดหนึ่งคือ การทำให้ผู้คิดค้นนวัตกรรมคนแรกไม่เป็นผู้ผูกขาดเพียงรายเดียว แต่ให้ผู้ที่สามารถคิดค้นนวัตกรรมที่เหมือนกับผู้คิดนวัตกรรมรายแรก โดยไม่ได้ลอกเลียนแบบ ได้รับสิทธิในการผลิตร่วมกับผู้ที่คิดค้นเป็นรายแรก
 
แนวคิดนี้อยู่ภายใต้ข้อสมมติว่า การสร้างนวัตกรรมในหลายกรณี อาจมีผู้ที่สามารถคิดค้นนวัตกรรมที่เหมือนกันได้ โดยไม่ได้ลอกเลียนแบบกัน เช่น โทรศัพท์ ทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ ระเบิดนิวเคลียร์ เป็นต้น เนื่องจากความก้าวหน้าขององค์ความรู้และเทคโนโลยีสุกงอม จนทำให้นวัตกรรมดังกล่าวพร้อมที่จะถูกผลิตออกมา การให้สิทธิการผูกขาดทั้งหมดแก่ผู้คิดค้นนวัตกรรมได้เป็นคนแรก อาจไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่คิดค้นได้หลังจากนั้น ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ลอกเลียนความคิดหรือวิธีการจากคนแรกเลย
อย่างไรก็ตาม รูปธรรมของแนวคิดนี้ยังมีประเด็นที่ต้องขบคิดในทางปฏิบัติมาก อาทิ
 
  • การตรวจสอบว่าผู้ที่คิดค้นนวัตกรรมได้แต่ไม่ใช่รายแรกนั้น จะพิสูจน์อย่างไรว่าไม่ได้ลอกเลียนแบบผู้ที่คิดค้นเป็นรายแรก
  • ระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิการผูกขาดของผู้ที่คิดค้นนวัตกรรมได้ในภายหลัง ควรเท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ของผู้คิดค้นนวัตกรรมรายแรกใช่หรือไม่
  • สิทธิผูกขาดของคนที่คิดค้นนวัตกรรมได้เป็นรายแรกนั้น ควรจะมีสิทธิผูกขาดหรือมีสิทธิได้รับการชดเชยมากกว่าผู้ที่คิดค้นได้ในภายหลังหรือไม่
แนวคิดดังกล่าวข้างต้น น่าจะเป็นทางเลือกเชิงนโยบายให้กับภาครัฐ ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อจูงใจให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรม โดยไม่ทำให้ประชาชนต้องมีความรู้สึกว่า นวัตกรรมเป็นของแพงสำหรับคนรวยเท่านั้น
นอกจากการดำเนินนโยบายส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรม ในลักษณะป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดทางการค้าแล้วภาครัฐควรแก้ปัญหาการวิจัยและพัฒนาของไทยให้เกิดความสมดุลมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศไทย มุ่งเน้นเฉพาะการแก้ปัญหาด้านอุปทานของการวิจัยและพัฒนาเป็นหลักเท่านั้น อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยงานวิจัย การพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย เป็นต้น ซึ่งแม้ว่ามีความจำเป็น แต่ยังไม่เพียงพอ
 
ประเทศไทยยังขาดแคลนอุปสงค์ต่อการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศมีขนาดเล็ก ทำให้ภาคเอกชนขาดแรงจูงใจในการลงทุนทำวิจัยและพัฒนา เพราะการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องใช้เงินลงทุนสูง ขณะที่ตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนามีขนาดเล็กเกินไปทำให้ผลตอบแทนที่ได้ไม่คุ้มทุน
 
โดยปกติในประเทศที่พัฒนาแล้ว ภาคเอกชนมักเป็นผู้ลงทุนหลักในการทำวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนจำนวนมาก และมีฐานการตลาดขนาดใหญ่จึงมีศักยภาพที่จะลงทุนวิจัยและพัฒนา แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทยกลับไม่ได้เป็นหัวจักรสำคัญในการทำวิจัยและพัฒนา เนื่องจากกิจการขนาดใหญ่จำนวนมากในประเทศไทยเติบโตขึ้นภายใต้บรรยากาศตลาดผูกขาด อันเนื่องจากการคุ้มครองของระบบสัมปทาน การกีดกันทางการค้า และสิทธิพิเศษที่ได้รับจากการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมือง กิจการเหล่านี้จึงแทบไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนทำวิจัย เพราะการลงทุนทางการเมืองเพื่อได้มาซึ่งสิทธิการผูกขาด ได้ผลที่คุ้มค่าและมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนทำวิจัย
 
นอกจากนี้ สังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมหรือสร้างความแตกต่างมากนักสังเกตได้จากการทำธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศไทยที่มักจะทำธุรกิจลอกเลียนแบบกิจการอื่นโดยไม่พยายามคิดค้นสินค้าและบริการใหม่ ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากกลไกการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาขาดประสิทธิภาพ ผู้ผลิตจึงขาดแรงจูงใจในการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อคิดค้นนวัตกรรมหรือพัฒนากระบวนการผลิต เพราะการลงทุนวิจัยและพัฒนามีความเสี่ยงที่จะถูกผู้อื่นลอกเลียนแบบ
การส่งเสริมการวิจัยพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ จึงไม่ควรเน้นเฉพาะด้านอุปทาน ด้วยการสนับสนุนเงินทุน ทรัพยากร องค์ความรู้ และ บุคลากรสำหรับการทำวิจัยพัฒนาเท่านั้น แต่ควรจัดการด้านอุปสงค์ของการวิจัยและพัฒนาด้วยไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมบรรยากาศการแข่งขันด้วยการเปิดเสรีให้มีการแข่งขันมากขึ้น และการพัฒนากฎหมาย และกลไกการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า (Antitrust law) การขจัดปัญหาคอร์รัปชันและผลประโยชน์ทับซ้อน การพัฒนากลไกการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการปรับปรุงระบบการศึกษาและวัฒนธรรมการทำธุรกิจ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้เห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรม ตลอดจนทำให้ผู้บริโภครู้จักการรักษาสิทธิของตนเอง เพื่อทำให้การพัฒนาสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้สามารถดำเนินการได้อย่างครบวงจรภายใต้ความสมดุลและยั่งยืนอย่างแท้จริง
 

[1]สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (2544) เอกสารสรุปการประชุมประจำปี 2544 สวทช. เรื่อง "เศรษฐกิจฐานความรู้ : ก้าวใหม่ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" กรุงเทพฯ: สวทช., หน้า 70.
admin
เผยแพร่: 
Tax Business
เมื่อ: 
2007-07-01