ทำอย่างไรเยาวชนไทยเข้าใจประชาธิปไตย
หากพิจารณาสถานการณ์การเมืองในขณะนี้พบว่า รัฐบาลพยายามในการแย่งชิงพื้นที่ทางความคิดของประชาชน โดยอ้างว่าการเลือกตั้งเป็นกติกาประชาธิปไตย แต่ข้ออ้างดังกล่าวถูกเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น เพราะละเลยความจริงอีกด้านของความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง นั่นคือ กระบวนการที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และสามารถแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองของตนได้ตลอดเวลา รวมถึงการบรรลุถึงสภาวะของความเท่าเทียม เป็นธรรมของคนในสังคม โดยอาศัยความเท่าเทียมกันทางการเมืองเพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือของผู้มีอำนาจที่ใช้อ้างความชอบธรรมในการก้าวขึ้นสู่อำนาจ
การสร้างความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยต่อเด็กและเยาวชนจึงมีความสำคัญ เนื่องจากในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกจำนวนหนึ่ง โดยข้อมูลจากกรมการปกครอง ณ เดือนธันวาคม 2548 พบว่ามีประชากรอายุ 18 ปี จำนวน 896,128 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2549 นี้ แต่ด้วยเหตุการณ์ทางการเมือง ยังอยู่ในความตึงเครียด ทำให้เยาวชนส่วนหนึ่งรู้สึกว่า ขาดทางเลือกในการใช้สิทธิการเลือกตั้งในครั้งนี้ และบางส่วนยังคงเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว
ด้วยเหตุนี้เด็กและเยาวชนทุกคนควรได้รับการแนะนำเกี่ยวกับเมืองที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนการเข้าร่วมในวิถีประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ ตลอดจนเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมกำหนดจุดเริ่มต้นของสังคมประชาธิปไตยแบบเต็มใบ โดยไม่ถูกชักจูงให้คล้อยตามคำพูด ข้อมูลด้านใดด้านหนึ่งโดยขาดจุดยืน และความเข้าใจที่ถูกต้องซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงครู ควรเป็นผู้ร่วมปลูกฝังวิถีประชาธิปไตยโดยเริ่มต้นจากประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
สอนให้เข้าใจว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับตนอย่างไร เด็กไม่ควรถูกแยกจากการเมืองโดยมองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้วการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน ด้วยเหตุนี้ควรใช้โอกาสที่มีข้อมูลและสภาพการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในขณะนี้ ในการให้คำแนะนำประเด็นทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมืองให้เด็กทราบว่า เมื่อตนมีอายุครบตามกำหนดการเลือกตั้ง จะสามารถมีส่วนร่วมกำหนดความเป็นไปของสังคมผ่านทางการใช้สิทธิทางการเมืองได้อย่างไรบ้างนอกจากนี้เด็กและเยาวชนควรได้รับการแนะนำว่า ตนสามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านการเขียน ผ่านการพูด ผ่านการชุมนุมอย่างสงบได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ รวมถึงมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองที่เป็นจริง และสิทธิในการรับบริการจากรัฐ
สอนให้รู้จักคิดเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้รับ แม้ว่าการเมืองจะมีการแบ่งแยกฝ่ายเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือฝ่ายอื่น ๆ ก็ตาม แต่ผู้ปกครองไม่ควรชักนำให้เด็กเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป โดยใส่ข้อมูลและชักชวนสุดขั้ว จนก่อเกิดความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้เด็กเห็นคล้อยตามกับฝ่ายที่เราเห็นด้วย แต่ควรสอนให้เด็กได้เลือกรับข้อมูลจากทุกฝ่ายแล้วนำมาพิจารณาด้วยตนเอง โดยครูและพ่อแม่ควรเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำ และสอนการใช้เหตุผล หลักในการคิดพิจารณาคำพูด ข่าวสารที่ได้รับจากฝ่ายต่าง ๆ เพื่อตอบคำถามตามประเด็นที่เด็กสนใจ
สอนให้เข้าใจคุณธรรมจริยธรรมทางการเมือง ครูในโรงเรียนและครอบครัวนับว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างกรอบความคิดแก่เด็กว่า วิถีทางประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ทุกคนจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อสังคม เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้งโดยเฉพาะผู้นำในการบริหารประเทศและนักการเมืองต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรมมากกว่าคนทั่วไป เพราะผู้ที่มีอำนาจสามารถใช้อำนาจในการให้คุณให้โทษต่อใครก็ได้ และพฤติกรรมของผู้นำยังเป็นแบบอย่างที่ดีหรือไม่ดีให้แก่ประชาชนในประเทศ ด้วยเหตุนี้การปลูกฝังเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองจึงมีความจำเป็น เพราะจะช่วยให้เด็กและเยาวชนมีกรอบในการตัดสินใจเลือกผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ เมื่อเติบโตขึ้นจนมีสิทธิเลือกตั้ง โดยไม่เลือกเพราะการถูกชักนำตามนโยบายที่สวยหรู หรือการหยิบยื่นผลประโยชน์ระยะสั้นแก่ประชาชนเท่านั้น หรือไม่เลือกเพราะคนนั้นมีชีวิตการทำงานที่โดดเด่น แต่กลับขาดคุณธรรม
การสอนวิถีประชาธิปไตย และวิถีการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ถูกต้อง ไม่เพียงเป็นการสนับสนุนให้เด็กเข้าใจประเด็นทางการเมือง ที่สำคัญ ๆ อย่างถูกต้องเท่านั้น แต่ยังเป็นการปลูกฝังการเรื่องประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นการสอนให้รู้จักการใช้สิทธิ การรักษาสิทธิและการแสดงออกทางการเมืองได้อย่างเหมาะสมเมื่อโตขึ้น และยังเป็นช่องทางหนึ่งที่จะกระตุ้นให้เด็กหันมาสนใจและติดตามข่าวสารความเป็นไปของบ้านเมืองได้ด้วย