ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน

“ผู้เขียนขอเสนอแนวคิดเกี่ยวกับที่มาที่ไปและความแตกต่างของคำว่า ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) ทุนมนุษย์ (Human Capital) และ ศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ (Human Potentiality) เพราะสิ่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมและให้คุณค่าในการพัฒนามนุษย์ 


มนุษย์เป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างชาติ มนุษย์ยิ่งมีคุณภาพ ชาติยิ่งพัฒนาก้าวหน้า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นกลไกสำคัญในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และจะช่วยสร้างสมรรถนะในการแข่งขันขององค์กรและประเทศ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและมีการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผมขอกล่าวถึงหลายคำที่เกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) ทุนมนุษย์ (Human Capital) และ ศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ (Human Potentiality) ซึ่งผมคิดว่ายังไม่เคยมีการนิยามความหมายที่ชัดเจนว่า แต่ละคำมีความหมายเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ในบทความนี้ ผมจึงขอนำเสนอแนวคิดของผมเกี่ยวกับที่มาที่ไปและความแตกต่างของแต่ละคำดังนี้

1. ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource)
คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” ให้มุมมองต่อมนุษย์ในแง่ของ การเป็นปัจจัยการผลิตที่ใช้แล้วหมดไป กล่าวคือ มองมนุษย์ในลักษณะของการใช้กำลังแรงงาน และมองในเชิงปริมาณของกำลังแรงงาน ซึ่งมุมมองเช่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสังคมเกษตรกรรมต่อเนื่องมาสู่ยุคสังคมอุตสาหกรรม

ยุคเกษตรกรรม มนุษย์ถูกมองเป็นทรัพยากรแรงงาน โดยมีที่ดินเป็นทุนที่สำคัญ

โลกมีการพัฒนาและการเปลี่ยนยุคสมัยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มุมมองต่อมนุษย์ในแต่ละยุคเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย เช่น ในยุคสังคมเกษตรกรรม ที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เนื่องจากการทำเกษตรกรรม กสิกรรม ปศุสัตว์ ต้องใช้ที่ดินเป็นหลัก เพราะการทำเกษตรมีทุนธรรมชาติ คือ ที่ดินเป็นตัวกำหนดความสำเร็จ มนุษย์จึงเป็นทรัพยากรที่สำคัญรองลงมาในการทำให้เกิดผลผลิตการเกษตร ขณะที่ทุนหรือเครื่องจักรในยุคแรกยังไม่ค่อยมีความสำคัญ

เราอาจสังเกตเห็นประเด็นนี้จากมหาวิทยาลัยในอดีต เช่น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในประเทศอังกฤษ มีภาควิชาเศรษฐกิจที่ดิน (Land Economy) ซึ่งตั้งมาเป็นเวลายาวนานมาก ตั้งแต่ยุคสังคมเกษตรกรรม ในอดีตภาควิชานี้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดินเศรษฐกิจเพื่อทำการเกษตร รวมถึงผลผลิตที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน และปริมาณมนุษย์ที่ใช้ประกอบกับที่ดิน เป็นต้น

ในยุคเกษตรกรรม ที่ดินจึงเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ โดยมีแรงงานเป็นคนและสัตว์ใช้ประกอบกับที่ดิน ซึ่งหากแรงงานคนหรือสัตว์ไม่เพียงพอ ประเทศที่มีอำนาจมากจะไปกวาดต้อนแรงงานจากแหล่งอื่นมาเป็นทาส เป็นแรงงานราคาถูก เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้มากขึ้น

ยุคอุตสาหกรรม มนุษย์ยังถูกมองเป็นทรัพยากรแรงงาน โดยมีเครื่องจักรเป็นทุนที่สำคัญ

ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เจมส์ วัตต์ ให้กำเนิดเครื่องจักรไอน้ำ นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงวิธีและกระบวนการผลิตในประเทศอังกฤษเมื่อ 400 ปีที่แล้ว ทำให้อังกฤษพัฒนาเป็นมหาอำนาจของโลกในเวลานั้น นักเศรษฐศาสตร์อย่าง อดัม สมิธ เพิ่มเติมองค์ประกอบที่สำคัญอีกตัวหนึ่งเข้าไปในการพัฒนาเศรษฐกิจ นั่นคือ ทุน หรือ เครื่องจักร โดยที่ยังคงมองมนุษย์เป็นเพียงทรัพยากรแรงงานเท่านั้น

ในยุคอุตสาหกรรม มนุษย์สู้เครื่องจักรไม่ได้ในเชิงพลังการผลิต เมื่อนำเครื่องจักรมาทำงาน ทำให้ได้ผลผลิตที่มากกว่า และคงเส้นคงวามากกว่า เมื่อเทียบกับการใช้งานคน เราจึงเห็นว่าประเทศที่แปลงโฉมมาเป็นอุตสาหกรรม ใช้เครื่องจักรในการผลิต จะร่ำรวยขึ้น และร่ำรวยกว่าประเทศที่เป็นเกษตรกรรม โดยแบบแผนนี้เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกก่อน และแพร่กระจายไปทั่วโลก รวมทั้งในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ โดยไทยก็เดินตามแบบแผนนี้ด้วยเช่นกัน

2. ทุนมนุษย์ (Human Capital)
คำว่า “ทุนมนุษย์” ให้มุมมองต่อมนุษย์ในแง่ของ การเป็นปัจจัยการผลิตที่ใช้แล้วไม่หมดไป กล่าวคือ มองมนุษย์ในเชิงคุณภาพ และการใช้สมรรถนะซึ่งมีพลังความเอกอุในเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมุมมองเช่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคหลังอุตสาหกรรม

นักเศรษฐศาสตร์ในยุคหลังอุตสาหกรรม เช่น Gregory Mankiw, David Romer และ David Weil ต่อยอด แบบจำลองการพัฒนาเศรษฐกิจของ Robert Solow โดยนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามเพิ่มเติมเรื่องทุนมนุษย์เข้าไปในแบบจำลอง เพื่ออธิบายว่า การลงทุนระหว่างประเทศไม่เคลื่อนย้ายไปยังประเทศที่ยากจน เนื่องจากผลผลิตและผลผลิตส่วนเพิ่มจากทุน (marginal product of capital หรือ K) ในประเทศยากจนจะต่ำ เพราะ พวกเขามีทุนมนุษย์น้อยกว่าประเทศร่ำรวย

ทั้งนี้ แนวคิดเรื่องทุนของผมแตกต่างจากนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ หากเราพิจารณาคำในภาษาละติน คือ “Capitalis” ที่คนไทยมักจะแปลว่า “ทุน” นั้น ผมคิดว่ายังไม่ได้สะท้อนความหมายที่แท้จริงของรากศัพท์ในภาษาเดิม ในแนวคิดของผม “ทุน” หมายถึง ความเอกอุ ที่นำไปร่วมกับอะไรก็ตามในการผลิต แล้วทำให้เกิดพลัง ซึ่งทุนในที่นี้มีหลายประเภท

หากจัดตามประเภทคลื่นอารยะ (อ้างจากหนังสือ สยามอารยะ แมนนิเฟสโต: แถลงการณ์สยามอารยะ โดยผู้เขียน) เราอาจจำแนกงานหลักของคนในคลื่นแต่ละยุค ได้ดังต่อไปนี้

คลื่นลูกที่ 0 สังคมเร่ร่อน มนุษย์ทำงานที่ใช้เท้าเป็นหลัก (Foot Labour) เพราะในเศรษฐกิจจากป่า (Forest Economy) งานหลักของคน คือ การหาของป่าและล่าสัตว์

คลื่นลูกที่ 1 สังคมเกษตรกรรม มนุษย์ทำงานที่ใช้มือเป็นหลัก (Hand Labour) โดยในเศรษฐกิจการเกษตร (Agricultural Economy) ปัจจัยการผลิตที่สำคัญในยุคนี้ คือ ที่ดิน

คลื่นลูกที่ 2 สังคมอุตสาหกรรม มนุษย์ทำงานที่ใช้ร่างกายเป็นหลัก (Body Labour) โดยในเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrial Economy) ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนมีอำนาจในยุคนี้ คือ ทุน

คลื่นลูกที่ 3 สังคมข้อมูลข่าวสาร มนุษย์ทำงานที่ใช้หัวใจเป็นหลัก (Emotion Labour) เพราะในเศรษฐกิจข้อมูลข่าวสาร (Information Economy) ปัจจัยสำคัญแห่งยุคนี้ คือ การสัมผัสข้อมูลข่าวสารด้วยใจ

คลื่นลูกที่ 4 สังคมความรู้ มนุษย์ทำงานที่ใช้สมองเป็นหลัก (Mind Labour) เพราะในเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Economy) เน้นงานที่ใช้ความคิดนำหรือใช้สมองเป็นหลัก

คลื่นลูกที่ 5 สังคมปัญญา มนุษย์ทำงานที่ใช้เจตน์เป็นหลัก (Volition Labour) เพราะในเศรษฐกิจปัญญา (Wisdom Economy) มุ่งเน้นการทำงานที่มีเจตนาทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและทุกกลุ่มคนในสังคม ทั้งทางด้านวัตถุ ด้านกายภาพและจิตใจ

คลื่นลูกที่ 6 สังคมความดี มนุษย์ทำงานที่ใช้จิตเป็นหลัก (Spirit Labour) ในเศรษฐกิจความดี หรือ เศรษฐกิจอารยะ หรือ เศรษฐกิจคุณธรรม (Virtuous Economy or Araya Economy or Virtue Economy) ซึ่งจิตในที่นี้ ผมหมายถึง จิตวิญญาณหรืออุดมการณ์ อาชีพที่เกิดขึ้นในสังคมคลื่นลูกที่ 6 เช่น นักสร้างชาติ (Nation-Builder) ผู้นำขับเคลื่อนในการสร้างชาติ นักธุรกิจสร้างชาติ (Corporate Nation-Builder) และที่ปรึกษาด้านธรรมาภิบาล (Governance Consultant) เป็นต้น

ดังนั้น ทรัพยากรมนุษย์ และ ทุนมนุษย์จึงแตกต่างกันตรงที่ ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) คือ คนที่ใช้แรง ส่วนทุนมนุษย์ (Human Capital) คือ คนที่ใช้สมอง

ในความเห็นของผม มนุษย์จะเปลี่ยนจากทรัพยากรเป็นทุนที่มีความเอกอุ หากพัฒนาให้ใช้สมองมากขึ้น หรือเปลี่ยนจากการใช้ “แรงควาย มาเป็นแรงขวิด” มนุษย์เมื่อใช้สมองจะทำให้เกิดพลังความเอกอุมากกว่าใช้แรงงาน มนุษย์จึงแตกต่างจากสัตว์ตรงที่คิดได้ หาความรู้ได้ หาความรู้เป็น ทำให้มนุษย์มีความสามารถสูงกว่าสัตว์

ดังนั้นหากจะเปลี่ยนมนุษย์ให้ทรงพลัง ต้องเปลี่ยนให้มนุษย์ใช้ความคิด เพราะความคิดเป็นรากเหง้าของความรู้และปัญญา ทำให้มีความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้เป็นเทคโนโลยี รวมถึงความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเป็นนวัตกรรม เป็นต้น

 

Image by Freepik


3. ศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ (Human Potentiality)
คำว่า “ศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์” (Human Potentiality) หมายถึง สภาพสูงสุดของสมรรถนะและความสามารถ ที่มนุษย์จะพัฒนาไปถึงได้ในตลอดช่วงชีวิตแต่ละคน ศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์เป็นเหมือนพลังเอกอุที่ซ่อนอยู่ในตัวมนุษย์ ซึ่งหากได้รับการพัฒนาและใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ จะทำให้มนุษย์ได้รับการเติมเต็มในชีวิต และทำให้ประเทศชาติพัฒนาได้อย่างสูงสุด

ผมเชื่อว่า มนุษย์มีพลังมากกว่าสิ่งใด และสิ่งอื่นทำหน้าที่รับใช้มนุษย์ เราจึงต้องให้ความสำคัญในการสร้างและพัฒนาศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ ซึ่งจากสถิติของประเทศไทยมีจำนวนแรงงาน 40 ล้านคน ประกอบด้วย แรงงานกรรมาชีพ 20 ล้านคน ได้แก่ เกษตรกร พนักงานในโรงงาน และเป็นแรงงานวิทยาชีพ 18 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานที่ใช้ความคิดมากกว่าใช้แรง เช่น พนักงานออฟฟิศ ข้าราชการ เจ้าของกิจการ แพทย์ ฯลฯ และแรงงานธนาชีพ 2 ล้านคน ที่เป็นเจ้าของกิจการ

มนุษย์จะทรงพลังอย่างที่ควรจะเป็น ต้องขยับลำดับขั้นขึ้นมา โดยการขยับเป็นลำดับขั้น จากทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) เป็นทุนมนุษย์ (Human Capital) และจนถึงการพัฒนาศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ (Human Potentiality) ในที่สุด ซึ่ง การจะบรรลุศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ต้องเริ่มจากการสอนคนให้คิด เช่น การสอนคนให้คิดเป็น คิดบวก คิดคิดครบ และคิดดี สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดพลังการคิดยิ่งใหญ่ และสามารถเอาพลังการคิดไปใส่ในสิ่งต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประเทศชาติ เป็นต้น

ผมคิดว่าประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมและให้คุณค่าในการพัฒนามนุษย์ เพื่อที่จะสามารถทำให้มนุษย์บรรลุถึงศักยภาพสูงสุด และนำมาประยุกต์บูรณาการต่อยอด เพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของคนไทยในเวทีระดับอาเซียนและระดับโลกได้ ซึ่งผมจะขอเสนอแนวทางในการพัฒนาคนไทยให้บรรลุถึงศักยภาพสูงสุดในบทความต่อๆ ไปครับ

 

แหล่งที่มา : cioworldbusiness.com
26/6/2566

แหล่งที่มาของภาพ : https://www.cioworldbusiness.com/wp-content/uploads/2023/06/Human-Capital-750x450.jpg 

                               https://www.freepik.com/free-photo/business-man-woman-sitting-money_6657302.htm#page=3&query=Human%20capital&position=16&from_view=search&track=ais 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando