Senior Fellow คือใคร ทำอะไร?

มีคำถามอยู่ 2 คำถามที่ผมต้องตอบเพื่อน ๆ จากเมืองไทยมากที่สุด นับตั้งแต่มาที่ฮาร์วาร์ด คำถามแรกldquo;อาจารย์ทำอะไรที่ฮาวาร์ดหรือครับ?rdquo;.....ผมเป็นนักวิชาการอาวุโส (Senior Fellow) ของศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Mossavar-Rahmani Center for Business and Government, Kennedy School of Government)

จากนั้นตามมาด้วยคำถามที่สอง ldquo;แล้ว นักวิชาการอาวุโส หรือ Senior Fellow นี่ เป็นอย่างไรหรือครับ?rdquo;
คำตอบของคำถามนี้ ทำให้ผมคิดว่า หากไม่อธิบายในรายละเอียดอาจจะทำให้เพื่อนๆ ไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถูกต้อง

ตำแหน่ง Fellow นี้ ผมขอแปลเป็นไทยให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าเป็น เพื่อนนักวิชาการ (fellow) หรือนักวิชาการ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีทั่วไปในมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศตะวันตก โดยแต่ละวิทยาลัย (School) ศูนย์ศึกษา (Center) หรือสถาบัน (Institute) ต่าง ๆ ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยกำหนดให้มีขึ้น จุดมุ่งหมายเพื่อคัดเลือกและเชิญบุคคลที่เหมาะสมจากทั่วโลก ที่มีความรู้และมีประสบการณ์ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องมาเป็น ldquo;เพื่อนร่วมแสวงหาความรู้rdquo; ในเรื่องที่มีความสนใจร่วมกัน โดยอยู่ในฐานะนักวิชาการ ซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำวิจัย เขียนบทความวิชาการ ร่วมจัดสัมมนา เสนอผลงานวิชาการ เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษา และอาจได้รับเชิญให้สอนนักศึกษาบ้างหากมหาวิทยาลัยขอ

โดยเงื่อนไขในการเป็น fellow นั้นแตกต่างกันไปตามสถาบันแต่ละแห่งกำหนด ส่วนใหญ่ศูนย์กลางที่ศึกษาในแต่ละเรื่องจะเชิญผู้ที่สนใจศึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ จากทั่วโลกเข้ามาเป็นเพื่อนนักวิชาการ (fellow) ซึ่งจะพิจารณาคุณสมบัติพื้นฐาน อาทิ เป็นนักวิชาการที่ศึกษาวิจัยมีผลงานทางวิชาการ หรือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีบทบาทตำแหน่งหน้าที่ในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง คุณสมบัติของ fellow ของแต่ละศูนย์ศึกษาหรือมหาวิทยาลัยนั้นแตกต่างกันไป บางแห่งรับนักวิชาการระดับไม่อาวุโสมาก บางแห่งรับผู้ที่มีผลงานมากแล้ว
ส่วนการเป็นนักวิชาการอาวุโส (senior fellow) นั้นเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้มีทุกแห่ง แต่หากมีจะเป็นการบ่งบอกว่าผู้ที่เป็นนักวิชาการอาวุโส เป็นผู้ที่มีการทำงานวิชาการมามากและมีความอาวุโสในบทบาททางวิชาการ หรือในเรื่องเฉพาะเจาะจงนั้น ๆศูนย์หรือสถาบันที่มีตำแหน่งนี้ จะมองหาผู้ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมและเชิญให้เข้ามามีส่วนร่วมในแวดวงวิชาการ เพื่อนำองค์ความรู้มาแบ่งปันให้กับศูนย์หรือสถาบันของเขา

ผมได้รับเชิญให้เป็นนักวิชาการอาวุโส (Senior Fellow) จากศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาลของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นศูนย์ที่ใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ครอบคลุมการศึกษาวิจัยทั้งด้านธุรกิจและการปกครองทางภาครัฐ วิธีการคัดเลือกนักวิชาการอาวุโสของศูนย์ศึกษาธุรกิจและการเมือง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแห่งนี้ พิจารณาจากผู้มีตำแหน่งสูงในภาคธุรกิจ หรือตำแหน่งผู้บริหารในรัฐบาล นักการเมือง และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยที่มีความสนใจและทำงานวิชาการทางด้านที่เชื่อมโยง เศรษฐกิจ ธุรกิจและการเมืองการปกครอง เข้าด้วยกัน การที่ผมได้รับเชิญเป็นนักวิชาการอาวุโสของที่นี่ เนื่องจากศาสตราจารย์ประจำศูนย์นี้เห็นว่า ผมมีประสบการณ์การทำงานเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ กว่า 25 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 และยังมีผลงานด้านการเขียนหนังสือ 150 เล่ม มีผลงานวิชาการกว่า 200 เรื่อง และเขียนบทความกว่า 3,000 เรื่อง รวมทั้งยังมีประสบการณ์วิชาชีพด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านธุรกิจ สื่อสารมวลชน วิสาหกิจเพ่อสังคม และนักการเมืองจึงได้เชิญผมเป็นนักวิชาการอาวุโส ด้วยหวังว่าจะร่วมกันทำงานวิชาการเพื่อสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับศูนย์ และวงการวิชาการของมหาวิทยาลัยได้

ภารกิจของศูนย์นี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาความเกี่ยวข้องความสัมพันธ์เชื่อมโยง ระหว่างภาคธุรกิจกับภาครัฐซึ่งส่งผลต่อการสร้างประโยชน์สาธารณะ โดยให้ความสนใจเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การสร้างบรรษัทภิบาล ที่ผ่านมา ศูนย์มีผลงานวิชาการจำนวนมากจากนักวิชาการและศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ประจำที่ศูนย์นี้ มีบทความลงวารสารวิชาการและสื่อต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น งานวิชาการเกี่ยวกับธุรกิจและจริยธรรม การพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการจัดการของภาคเอกชนในโรงเรียนของรัฐ กรณีศึกษาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในระบบ New York Parks การทำวิจัยเรื่องนวัตกรรมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในด้านการขนส่ง การจัดสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับบรรษัทภิบาล การทำวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางสังคม และการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญ เป็นต้น
ในการเป็นนักวิชาการอาวุโสที่ศูนย์นี้ ผมสนใจทำการวิจัยด้านการเชื่อมโยงหลักการเศรษฐศาสตร์ การบริหารธุรกิจมาเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาสาธารณะ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้มักจะเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า การประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยผมทำการศึกษาและสร้างแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์ และการบริหารธุรกิจในการนำมาใช้กับการประกอบการเพื่อสังคม เพื่อทำให้การประกอบการเพื่อสังคมทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ผมยังทำการศึกษาเรื่อง การพัฒนาบทบาทผู้นำทางการเมืองเพื่อสนับสนุนการประกอบการเพื่อสังคม โดยผมได้จัดตั้งองค์กรระดับนานาชาติเพื่อรวบรวมนักการเมืองนานาขาติเพื่อร่วมกันผลักดันให้การประกอบการเพื่อสังคมเป็นภาคีหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ

แนวคิดการประกอบการเพื่อสังคม นับเป็นทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหาสังคม ซึ่งเดิมนั้นมักจะแยกส่วนกันระหว่าง นักพัฒนาสังคม หรือ เอ็นจีโอ ที่ต้องขอเงินสนับสนุนเพื่อเป็นทุนในการแก้ปัญหาสังคม กับ ผู้ประกอบการ ที่ส่วนใหญ่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดเพื่อตอบสนองความมั่งคั่งแห่งตน องค์กรธุรกิจอาจช่วยเหลือสังคมบ้างแต่ไม่ใช่เป็นเป้าหมายหลัก ผมคิดว่า หากเราช่วยกันทำให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย เพื่อสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคมจำนวนมากให้เกิดขึ้น ย่อมน่าที่จะเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาสังคมไทยในปัจจุบันได้หลายเรื่องทีเดียว

นอกจากงานศึกษาวิจัยในเรื่องนี้แล้ว ผมยังมีงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย เช่น การดูงานวิทยานิพนธ์นักศึกษาที่ทำกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รับบรรยาย ร่วมบรรยายในสัมมนาวิชาการ ตีพิมพ์ผลงานที่ผลิตออกมา เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมา ผมได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยในเรื่องอิทธิพลของอินเทอร์เนตกับการพัฒนาประชาธิปไตย ร่วมกับศาสตราจารย์ที่ Berkman Center ที่ Law School มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่ง Berkman Center นี้ทำงานวิชาการร่วมกับ Oxford Internet Institute มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เนื่องจากผมเห็นความสำคัญของสื่ออินเตอร์เน็ตในโลกอนาคต ผมจึงได้รับเชิญเป็น Visiting Fellow ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดด้วย

การได้มีส่วนเข้ามาเป็น Fellow ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ได้ปะทะสังสรรค์ทางภูมิปัญญา ณ พรมแดนความรู้ เป็นการขยายความรู้ความเข้าใจ และทำให้สามารถประยุกต์ความรู้เหล่านี้เพื่อนำมาพัฒนาประเทศของเราได้

ผมคิดว่า หากคนชั้นนำระดับมันสมองของประเทศไทยจำนวนมากมีโอกาสใช้เวลาส่วนหนึ่งเป็นเพื่อนนักวิชาการในมหาวิทยาลัยชั้นนำเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยอย่างมาก เพราะจะทำให้งานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยมีคุณภาพ อันมีผลให้การคิดวางแผนอนาคตของประเทศ การแก้ปัญหาต่าง ๆทำโดยมีงานวิชาการรองรับมากกว่าการคิดและตัดสินใจตามอารมณ์ความรู้สึกหรือผลประโยชน์อื่น ๆ เป็นหลัก

อาคารศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยิ่งใหญ่และงดงาม สมกับเป็นศูนย์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด

admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2007-06-22