STEMMAD-CINDERELLA สร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ

“ผู้เขียนขอเสนอการสร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมที่ครอบคลุม 17 ปัจจัย โดยตั้งชื่อว่า STEMMAD-CINDERELLA ซึ่งมีความเชื่อว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรมได้ตามต้องการ ย่อมเป็นคานงัดที่สำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ”
 
ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนานวัตกรรม ต้องอาศัยปัจจัยในหลายด้าน การสร้างบุคลากรเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ การสร้างบุคลากรด้านนวัตกรรม ผมได้เสนอ 17 ปัจจัย ที่เป็นกลุ่มความรู้ความเชี่ยวชาญที่จำเป็นต่อการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ผมตั้งชื่อว่า STEMMAD-CINDERELLA ประกอบด้วย
 
•S คือ วิทยาศาสตร์ (Science) • T คือ เทคโนโลยี (Technology) • E คือ วิศวกรรม (Engineering) • M คือ คณิตศาสตร์ (Mathematics) รวมถึงการคิดเชิงตรรกะ • Mคือ การบริหารจัดการ (Management) • A คือ ศิลปะ (Art) รวมถึงการออกแบบ • D คือ ระบบออกแบบ (Design System) • C คือ การคิดสร้างสรรค์ (Creativity) • I คือ การจัดทำตัวชี้วัด (Indexation) • N คือ การสร้างเครือข่าย (Networking) • D คือ การตัดสินใจ (Decision Making) • E คือ การประกอบการ (Entrepreneurship) • R คือ การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (Research and Innovation) • E คือ ทักษะด้านภาษาอังกฤษ (English Skill) • L คือ ทักษะการนำ (Leadership Skill) • A คือ ทักษะการปรับตัว (Adaptation Skill)
 
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากร STEMMAD-CINDERELLA อาทิ
นักวิจัยมีจำนวนน้อย ประเทศไทยมีจำนวนนักวิจัย 0.9 คน ต่อประชากร 1 พันคนใน ปี พ.ศ.2559ขณะที่ประเทศชั้นนำของโลก มีนักวิจัยสูงกว่า 4 คน ต่อประชากร 1 พันคน
 
บุคลากรด้านการวิจัยในภาคเอกชนมีจำนวนน้อย สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน ต่อ ภาครัฐ ในปี พ.ศ. 2559 อยู่ที่ 73 : 27 ขณะที่ภาคเอกชนมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาร้อยละ 29.5 ภาคเอกชนมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา 42,247 คน ในขณะที่ภาคส่วนอื่นมีจำนวน 100,940 คน
 
นักวิจัยในภาคเอกชนมีระดับการศึกษาต่ำกว่านักวิจัยภาคส่วนอื่นๆ นักวิจัยภาคเอกชนจบปริญญาตรี ร้อยละ 83 ปริญญาโทร้อยละ 15 และปริญญาเอกร้อยละ 2นักวิจัยภาคส่วนอื่นๆ จบปริญญาตรีร้อยละ 6 ปริญญาโท ร้อยละ 64 และปริญญาเอกร้อยละ 27
 
ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีสัดส่วนการจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีค่อนข้างน้อยประเทศไทยมีร้อยละ 32% ในขณะที่ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เฉลี่ยร้อยละ 38.3
 
ประเทศไทยขาดแคลนผู้ประกอบการนวัตกรรม ประเทศไทยมีผู้ประกอบการจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเพราะจำเป็น แต่ขาดแคลนผู้ประกอบการนวัตกรรม ที่เข้ามาประกอบการเพราะเห็นโอกาส ขาดมาตรการสนับสนุนทักษะการประกอบการและทักษะทางนวัตกรรมที่จำเป็น
 
จากอุปสรรคที่กล่าวในตอนต้น ผมเสนอยุทธศาสตร์ระยะสั้น ระยะยาวเพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรม ดังนี้
 
ยุทธศาสตร์ระยะสั้นเพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรม อาทิ การสนับสนุนนักวิจัยภาครัฐมาทำงานในภาคเอกชน เช่น การส่งนักเรียนทุนไปทำวิจัยกับภาคเอกชนก่อนกลับมาใช้ทุนในหน่วยงานรัฐ การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนยืมตัวนักวิจัยภาครัฐไปทำวิจัยให้ภาคเอกชน,การกำหนดให้ความร่วมมือกับอุตสาหกรรม เป็นความก้าวหน้าในอาชีพอาจารย์และนักวิจัยภาครัฐ,การส่งเสริมให้นักวิจัยภาครัฐที่มีนวัตกรรมออกไปตั้งธุรกิจ, การนำเข้าบุคลากรจากต่างประเทศ, การสนับสนุนให้บุคลากรที่ทำงานต่างประเทศกลับมาทำงานที่ประเทศไทย เป็นต้น
 
ยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรม อาทิ การปฏิรูปคุณภาพการศึกษา, การขยายบทบาทมหาวิทยาลัย เป็นที่บ่มเพาะธุรกิจ จากการผลิตกำลังคนเพื่อป้อนอุตสาหกรรม เพิ่มบทบาทเป็นการบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ที่มีนวัตกรรม, การสนับสนุนมาตรการฝึกอบรมและพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม, การสนับสนุนการจัดการศึกษาของภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น
 
ผมเชื่อว่าเมื่อประเทศไทยมีการพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรมได้ตามต้องการ ย่อมเป็นคานงัดที่สำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ
 
 
ที่มา: cioworldmagazine.com


ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

หล่งที่มาของภาพ
http://www.cioworldmagazine.com/wp-content/uploads/2018/11/34-680x365_c.jpg