โอกาสของอาเซียนภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังเผชิญกับ Digital Disruption หรือการทำลายล้างสิ่งเก่า ๆ ออกไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เนื่องจากเทคโนโลยีด้านดิจิทัลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรง และกว้างขวาง ส่งผลกระทบไปทุกแวดวง ทั้งการค้า การทำธุรกิจ การผลิต การใช้ชีวิต การใช้จ่าย พักผ่อน การศึกษา ฯลฯ ในขณะเดียวกัน โลกมีแนวโน้มเข้าสู่การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4th industrial revolution) ด้วย อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และการต่อยอดและผสมผสานหลอมรวมของเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ชั้นสูง ระบบอัตโนมัติรูปแบบใหม่ เทคโนโลยีบล็อคเชน (block chain) เครื่องพิมพ์ 3 มิติ การพัฒนาตัดต่อยีนทางพันธุกรรม คอมพิวเตอร์ควอนตัม เป็นต้น

องค์กรทั่วโลกตระหนักถึงผลกระทบและเตรียมพร้อมสำหรับแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น World Economic Forum (WEF) ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ต่ออุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ส่วนประเทศพัฒนาแล้วกำลังยกเครื่องอุตสาหกรรมใหม่ (reindustrialization) เพื่อพัฒนาฐานอุตสาหกรรมที่ทันสมัย (โรงงานฉลาด กระบวนการผลิตที่ฉลาด) บูรณาการเทคโนโลยีดิจิตอลในกระบวนการผลิต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการผลิตในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 4

ขณะเดียวกัน อาเซียนได้พยายามเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเช่นกัน อาทิ จัดทำ ASEAN Blueprint 2025 ซึ่งต่อยอดจาก ASEAN Blueprint 2015 การจัดทำ Master Plan on ASEAN Connectivity 2025  การจัด ASEAN ICT Masterplan 2020 เช่น ส่งเสริมการค้าดิจิทัลในอาเซียน การจัดทำแพล็ตฟอร์มคลาวด์คอมพิวติ้ง เป็นต้น จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้เกิดโอกาสบางประการแก่อาเซียน ได้แก่

  1. โอกาสในการพัฒนาความมั่งคั่ง (Prosperity development)

Digital Disruption และการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะสร้างโอกาสในการเพิ่มผลิตภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างเศรษฐกิจใหม่และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจดั้งเดิม จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของอาเซียนเพิ่มขึ้น 220 – 625 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2030 นอกจากนี้ เทคโนโลยีใหม่ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และ startup เช่น การเพิ่มโอกาสและความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล ระบบการเงิน และตลาด การติดต่อสื่อสารกับซับพลายเออร์ คู่ค้า ผู้จัดหาโลจิสติกส์ และลูกค้าได้สะดวก รวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำ รวมทั้งการทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่สั่งซื้อจนถึงชำระค่าสินค้า เป็นต้น

  1. โอกาสในการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม (Inclusive development)

เทคโนโลยีใหม่จะทำให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล การศึกษา และฝึกอบรม (เช่น ระบบการศึกษาออนไลน์) การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ (เช่น การบริการการแพทย์ทางไกล) การเข้าถึงบริการทางการเงิน (เช่น การธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ) ปัจจุบันอาเซียนมีจำนวนผู้ใช้มือถือในอาเซียนสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและอินเดีย คิดเป็นร้อยละ 133 ของจำนวนประชากร โดยมีการขยายตัวร้อยละ 8 ในปี 2016 ส่วนจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ในอันดับ 4 ของโลก (รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา) คิดเป็นร้อยละ 53 ของจำนวนประชากร โดยมีการขยายตัวร้อยละ 31 ในปี 2016 โดยเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือถึงร้อยละ 47 ของจำนวนประชากร

  1. โอกาสในการพัฒนาแบบก้าวกระโดด (Leapfrog development)

การพัฒนาทางเทคโนโลยี จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถข้ามขั้นตอนการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบเดิมได้ เนื่องจากความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่บางประเภทลดลง เช่น ความจำเป็นในการสร้างระบบสายส่งเชื่อมทั่วประเทศลดลง เพราะทุกพื้นที่สามารถผลิตพลังงานเองได้ และมีเทคโนโลยีแบตเตอรี่สมัยใหม่ในการสะสมพลังงานไฟฟ้า หรือการใช้โดรนขนส่งสินค้า ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีถนนไปยังพื้นที่ห่างไกล ในทำนองเดียวกัน ธุรกิจอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนทางกายภาพจำนวนมากเหมือนในอดีต เช่น ธนาคารไม่จำเป็นต้องมีสาขาทั่วประเทศ ธุรกิจค้าปลีกอาจไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ธุรกิจในเศรษฐกิจการแบ่งปัน (sharing economy) อาจไม่ต้องลงทุนเป็นจำนวนมาก ดังตัวอย่างของ Uber ไม่ต้องมีรถแท็กซี่ของตนเอง AirBNB ไม่ต้องมีห้องพักของตัวเอง เป็นต้น

  1. โอกาสในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development)

เทคโนโลยีใหม่จะสร้างโอกาสในการปรับปรุงการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยการใช้เทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีในการตรวจจับและวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาการเตรียมความพร้อมเรื่องภัยทางธรรมชาติ อีกทั้งเทคโนโลยีใหม่ยังช่วยในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีระบบจัดการจราจรอัจฉริยะที่ช่วยแก้ปัญหารถติด การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและรถขับเคลื่อนเองได้ จะช่วยลดมลพิษทางอากาศและปัญหารถติด ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยลดการเดินทาง เพราะผู้คนสามารถทำธุรกรรมแทบทุกอย่างบนออนไลน์ได้

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในปัจจุบันและที่กำลังจะมาถึง จะส่งผลกระทบรุนแรง กว้างขวาง และรวดเร็ว ผู้เล่นทุกระดับ ทั้งระดับบุคคล โดยเฉพาะเยาวชน ระดับภาคกิจ ทั้งรัฐกิจ ธุรกิจ และ ประชากิจ ระดับประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียน จำเป็นต้องปรับตัวขนานใหญ่และสอดประสานกัน รวมทั้งการสร้างสมดุลของการดำเนินการเชิงรุกไปข้างหน้าและเตรียมการรองรับและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ประเทศในอาเซียนจึงต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถที่ทันสมัย และทำงานหนักในการสร้างความตระหนัก ขับเคลื่อนองคาพยพต่าง ๆ และลดแรงต้านจากโครงสร้างอำนาจ เศรษฐกิจ และสังคมแบบเดิม  

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com