อินเทอร์เน็ตกับการพัฒนาประชาธิปไตย
ในปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและประชาธิปไตยอย่างหลากหลาย อาทิ ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมือง ใช้ในกิจกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน การบริหารงานและให้บริการของรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ การสื่อสารกิจกรรมการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม และกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย ทั้งนี้เนื่องจากกิจกรรมทางการเมืองส่วนใหญ่ ล้วนมีองค์ประกอบของการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น
หากพิจารณาวัตถุประสงค์ของการใช้ อินเทอร์เน็ต และบทบาทของอินเทอร์เน็ตในกิจกรรมประชาธิปไตย อาจจำแนกออกเป็น 3 ด้านใหญ่ ๆ ได้แก่ หน้าที่ในการให้ข้อมูลข่าวสาร (information function) หน้าที่ในการสื่อสาร (communication function) และ หน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ (action function)
จากการศึกษาของนอร์ริส (Norris, 2003: 10) ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลออนไลน์ (online materials) ในเว็บไซด์ของหน่วยงานรัฐบาล (government agencies) ทั่วโลกว่า มีผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไร โดยใช้หลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์ 3 ประการ จำแนกตามหน้าที่ของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการพัฒนาประชาธิปไตย พบว่ามีประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตย อาทิ คุณภาพของข้อมูลข่าวสาร (quality of the information)ประสิทธิภาพของการสื่อสารสองทาง (provision of 2-way communication) และความสะดวกในการเข้าร่วมกิจกรรมของประชาชน (facilities for citizen actions)
เช่นเดียวกับโคลแมน(Coleman, 2005: 2) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของอินเทอร์เน็ต ต่อ ประชาธิปไตย 3 ระดับ ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งข้อมูล (access to source of information) การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (interact with other actors) และการสนับสนุนกิจกรรม (supports collective action)
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการถกเถียงระหว่าง 2 ฝ่าย อันได้แก่ ฝ่ายที่เชื่อในพลังของอินเทอร์เน็ตที่มีต่อประชาธิปไตย กับ ฝ่ายที่คัดค้านไม่เชื่อว่าอินเทอร์เน็ตมีอิทธิพลต่อประชาธิปไตย
ในบทความนี้ จึงขอประมวลผลการศึกษาอิทธิพลของอินเทอร์เน็ตต่อกระบวนการประชาธิปไตย พบว่ามีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แบ่งการพิจารณาตามหน้าที่ของอินเทอร์เน็ตได้ดังต่อไปนี้
1. หน้าที่ในการให้ข้อมูลข่าวสาร (Information Function)
ฝ่ายที่เชื่อในพลังของอินเทอร์เน็ตที่มีต่อประชาธิปไตย เชื่อว่า อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในการให้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างต่อเนื่องในปริมาณที่ไม่จำกัดเนื่องจากอินเทอร์เน็ตมีช่องทางในการสื่อสารที่มากกว่า และสามารถส่งผ่านข้อมูลที่ทันสมัยได้ตลอดเวลา ในราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับการสื่อสารผ่านช่องทางอื่น อีกทั้งยากต่อการปิดกั้นและแทรกแซงได้เมื่อเทียบกับสื่อแบบเดิม (Graber and White, 1999; Sussman, 2000; Graber, 2001: 109; Coleman, 2005: 2). อินเทอร์เน็ต จึงส่งผลให้พลเมืองมีสิทธิ โอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ที่สำคัญ มีการมองว่า อินเทอร์เน็ตเป็นระบบสารสนเทศที่ก้าวหน้า เสรีและเป็นกลาง ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับ พลเมืองที่รอบรู้ (well-informed citizen) สำหรับระบอบประชาธิปไตย (Sullivan, 1995; Hague and Loader, 1999; van Dijk, 2000: 45)
พลเมืองที่ได้รับการสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต จะช่วยส่งเสริมความเป็นพลเมืองผู้รอบรู้ (informed citizen) ซึ่งเป็นพื้นฐานที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจำนวนมากกว่าที่ช่วยในการตัดสินใจ อันจะส่งผลให้ประชาชนมีเหตุมีผลในการตัดสินใจในการเลือกตั้งมากขึ้น และทำให้มีแนวโน้มเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น, (Dahl, 1977; van Dijk, 2000: 40-41; Norris, 2003: 6-8) รวมทั้งยังทำให้พลเมืองมีความสามารถในการปกครองตนเองได้มากขึ้นด้วย (Barber, 1984: 151)
ในขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ตยังทำให้บรรดาตัวแสดงทางการเมือง (political actors) กลุ่มต่าง ๆ มีช่องทางในการแพร่กระจายข้อมูลมากขึ้น ทำให้ผู้สมัครแข่งขันชิงตำแหน่งทางการเมืองมีเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น (Hill and Hughes, 1998, 133; Gomez, 2005) และทำให้รัฐบาลและการบริหารงานภาครัฐต้องเปิดกว้างและรับผิดชอบต่อประชาชนมากขึ้น ส่งผลให้การบริหารราชการแผ่นดินมีความโปร่งใส อีกทั้งการที่ประชาชนมีข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลและผู้แทนมากขึ้น ทำให้รัฐบาลและผู้แทนต้องรับผิดชอบต่อประชาชนมากขึ้น (Norris, 2003: 4-6; Gomez, 2005)
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยโต้แย้งว่า แม้อินเทอร์เน็ตจะทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น แต่ประชาชนจะประสบปัญหาการท่วมท้นของข่าวสารที่มีจำนวนมหาศาล อีกทั้งจำนวนไม่น้อยเป็นเหมือน ldquo;ข้อมูลขยะrdquo; ที่ไม่มีคุณค่า (Whillock, 1997; Shenk, 1997; Noveck, 2000: 23-25) ขณะที่บิมเบอร์ (Bimber, 1998) และพุตนัม (Putnam , 2000) ระบุว่า ข้อมูลที่แพร่กระจายในอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่แตกต่างจากสื่ออื่น เพราะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเพียงรูปแบบการสื่อสารเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังเกิดปัญหาช่องว่างในการรับรู้ข่าวสารระหว่างผู้ที่เข้าถึงเทคโนโลยีกับผู้ที่เข้าไม่ถึง (Anderson et al, 1995; NTIA, 1998; Hammond, 1997; Norris, 2000: 133)
มิเพียงเท่านี้ ในทางกลับกัน อินเทอร์เน็ตยังอาจถูกใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มพลังต่อต้านประชาธิปไตย (anti-democratic forces) และถูกนำมาใช้เพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ด้วย (Selian, 2002; Dutton, 2004: 103) อินเทอร์เน็ตอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้นำที่ปฏิเสธประชาธิปไตย (Kalathil and Boas, 2003) โดยใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับอำนาจรัฐ (Hayward, 1995; Hill and Hughes, 1998). รวมทั้งรัฐอาจออกกฎระเบียบเพื่อแทรกแซงด้วยการเซ็นเซอร์ การออกกฎควบคุมและการสกัดกั้นมิให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลบางประเภทอย่างเสรี (Dutton, 2004: 103; Noveck, 2000: 25-27)
2. หน้าที่ในการติดต่อสื่อสาร (Communication function)
ในมุมมองของฝ่ายที่มองโลกแง่บวกเชื่อว่า คุณสมบัติของการสื่อสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ได้แก่ การเสียค่าใช้จ่ายน้อย มีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กันได้อย่างรวดเร็ว เป็นการสื่อสารแนวขนานและเป็นเครือข่ายเชื่อมกันได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้การสื่อสารระหว่างประชาชนกับรัฐบาล หรือระหว่างประชาชนกับผู้แทนมีความโปร่งใส ทั้งรัฐบาลและผู้แทนประชาชนสามารถที่จะรับทราบความคิดเห็นของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อม ๆ กับที่สามารถสื่อสารกลับไปถึงประชาชนได้ทันที นับเป็นวิธีการสื่อสารโต้ตอบกันที่ง่ายและรวดเร็วกว่าการสื่อสารในช่องทางอื่น ๆ (Coleman, 2005; Dutton, 2004; Kinder, 2003)
พลเมืองจะสามารถมีปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่กับรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกลุ่มตัวแทนทางการเมืองอื่น ๆ (Coleman, 2005: 2) ระบบการเมืองจะเปิดออกสำหรับพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และแนวคิดใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม การสื่อสารกันทางอินเทอร์เน็ตจะช่วยสนับสนุนการมีส่วนร่วม การปรึกษาหารือและถกเถียงของพลเมือง รวมทั้งการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง (Rash, 1997; Hague and Loader ,1999: 8; Dutton, 2004) การศึกษายังพบอีกว่า การถกเถียงผ่านทางระบบออนไลน์ (online discussion) ช่วยให้คนแสดงความเห็นอย่างเสรีและจริงใจ และเป็นความเห็นที่มีคุณภาพ (Price, 2006: 14) ทำให้มีความเชื่อว่า อินเทอร์เนต จะทำให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ (new public sphere) (Rheingold, 1993; Bennett and Entman, 2001) อีกทั้ง ยังมีการคาดการณ์ว่า จะเกิดระบบประชาธิปไตยทางตรงรูปแบบใหม่ เรียกว่า Libertarian Democracy ซึ่งเป็นประชาธิปไตยในรูปแบบใหม่ ระหว่าง ประเทศดิจิตอล (digital nation) กับ พลเมืองดิจิตอล (digital citizen) โดยประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจเชิงนโยบายผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (van Dijk, 2000: 44-45)
นอกจากนี้ อินเทอร์เน็ตยังช่วยส่งเสริมการเพิ่มขึ้นของพหุนิยม (Bimber, 1998: 133-160) เนื่องจากอินเทอร์เน็ตเพิ่มปริมาณและความหลากหลายในช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ส่งผลให้เกิดการสื่อสารระหว่างประชาชนที่หลากหลายและอาศัยอยู่ต่างสถานที่กัน และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์กับเจ้าหน้าที่รัฐ (Graber and White, 1999) อินเทอร์เน็ตอำนวยความสะดวกในการแข่งขันทางการเมือง เพิ่มความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเครือข่าย องค์กรภาคประชาสังคม และขบวนการทางสังคมแบบใหม่ (Norris, 2003: 4) รวมทั้ง เพิ่มอำนาจให้กับภาคพลเมืองในการดำเนินกิจกรรมตามความสนใจของตนได้อย่างมีพลังมากขึ้น (Gamson, 2001: 56)
ถึงกระนั้น ฝ่ายที่มองโลกแง่ลบมีข้อโต้แย้งว่า คนที่มีแนวโน้มใช้ อินเทอร์เน็ต ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ใช้เครื่องมืออื่น ๆ เพื่อมีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่แล้ว (Hacker, 1996) หรือต้องเป็นผู้ที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีด้วย ( Kling,1999 ; Hindman , 2000 )ยิ่งไปกว่านั้นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอาจมิได้มีความเท่าเทียมและเสมอภาคกันในการแสดงความเห็นทางการเมือง ประชาชนจำนวนมากยังคงเพิกเฉยไม่ใส่ใจในการแสดงความคิดเห็นในปัญหาสาธารณะ (Noveck, 2000: 27-31) ปัญหาการถูกครอบงำโดยพรรคการเมืองใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มสื่อสารมวลชน (Margolis and Resnick, 2000; McChesney, 1999)
ประเด็นโต้แย้งสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง นั่นคือ การไม่เปิดเผยชื่อและตัวตนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ย่อมหมายความว่า ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบ (Noveck, 2000: 31-33) ส่งผลให้การแสดงความเห็นใน อินเทอร์เน็ต มีคุณภาพค่อนข้างต่ำ มักเป็นการใช้อารมณ์ ขาดเหตุผล ข้อมูลจากการสนทนาในอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ หลอกลวงและไม่ถูกต้อง มักแสดงทัศนะและจุดยืนที่สะท้อนการแบ่งขั้วตรงข้ามอย่างชัดเจน ทำให้ความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ เกิดช่องว่างที่ห่างออกจากกันมากขึ้น จนไม่สามารถหาข้อสรุปได้ (Sunstein, 2001; Dutton, 2004) อันเป็นลักษณะที่ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่สอดคล้องกับพื้นที่สาธารณะ (public sphere) ที่ควรจะเป็นในอุดมคติ (Harbermas, 1989).
ปัญหาดังกล่าวข้างต้นอาจเกิดจากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ยังมีศักยภาพไม่เพียงพอสำหรับการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมือง. ระดับของการปฏิสัมพันธ์ของการสื่อสารระหว่างกันยังไม่สามารถเทียบเคียงกับการสื่อสารแบบหน้าต่อหน้า (face-to-face) ได้ (Putnam, 2000) เนื่องจากผู้ที่เข้ามาใช้ประโยชน์ทางการเมืองในอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน มีระดับของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันที่ยังไม่สามารถเรียกได้ว่า ถึงระดับที่เรียกว่า ldquo;intelligence of contexts and shared understandingrdquo; ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (interactivity) (Suchmann, 1987) และส่วนใหญ่เป็นการถกเถียงระหว่างกันผ่านตัวอักษร (text-based internet discussions) ซึ่งผิวเผินเกินกว่าที่จะนำมาสนับสนุนความมั่นคงทางการเมืองได้ (political deliberation) (Fishkin, 2000)
3. หน้าที่ในการดำเนินกิจกรรม (Action function)
อินเทอร์เน็ตได้รับการคาดหมายว่า จะช่วยส่งเสริมกิจกรรมสาธารณะให้ก้าวหน้าขึ้น (Etzioni, 1993) และสนับสนุนให้พลเมืองเข้าร่วมกิจกรรมประชาธิปไตยที่เป็นทางการมากขึ้น อาทิ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทางอินเทอร์เน็ต (e-voting) การทำประชาพิจารณ์ทางอินเทอร์เน็ต (online publichearing) การลงประชามติทางอินเทอร์เน็ต (online referendums) ทั้งนี้เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางการสื่อสารที่มีค่าใช้จ่ายต่ำเมื่อเทียบกับสื่ออื่น ๆ (Budge, 1996; van Dijk, 2000: 40-41; Norris, 2003: 6-7)
นอกจากนี้ อินเทอร์เน็ตช่วยลดข้อจำกัดด้านต้นทุน พื้นที่และเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรมและการรวมกลุ่มของประชาชน ภาคพลเมืองจึงสามารถเข้าถึงเครือข่ายทางสังคมใหม่ ๆ หรือเข้าร่วมใน ชุมชนเสมือนจริง (virtual communities) ผ่านทางประชาธิปไตยทางไกล (teledemocracy) (Etzioni, 1993; Budge, 1996; Norris, 2000: 121)
การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ผ่านอินเทอร์เน็ต ยังช่วยจูงใจให้พลเมืองเข้ามีส่วนร่วมกิจกรรมในชุมชนจริงมากขึ้นด้วย.ช่วยเพิ่มพลังให้กับเครือข่ายทางสังคม (Wellman, 1996; Tsagarousianou et al., 1998) และช่วยขยายเครือข่ายทางสังคมให้กว้างออกไปจากขอบเขตชุมชนตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ เนื่องจากอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการระดมทรัพยากร การแสวงหาข้อมูล พันธมิตร และการช่วยเหลือในรูปของข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จากสมาชิกที่มีขอบเขตกว้างขวาง (Kavanaugh, 1999: 20) ปัจเจกบุคคลที่เป็นสมาชิกของหลายเครือข่ายจะใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน อันจะก่อให้เกิดความร่วมมือเป็นเครือข่ายที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น (Kavanaugh, 1999: 10)
การวิจัยเชิงประจักษ์ พบหลักฐานว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชนมากขึ้น และทำให้คนที่เข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนอยู่แล้วยิ่งเข้าร่วมมากขึ้น (Kavanaugh, 1999: 19) ขณะที่ (Price, 2006: 16) พบว่า ผู้ที่เข้าร่วมการถกเถียงแบบออนไลน์มีความโน้มเอียงที่จะมีความไว้วางใจทางสังคม (social trust) การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการร่วมกิจกรรมในชุมชน มากกว่าคนที่ไม่ได้เข้าร่วมถกเถียงแบบออนไลน์ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเครือข่ายทางสังคม (social networks) ทำให้สมาชิกเกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน (Kavanaugh, 1999: 6)และการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมีความสัมพันธ์กับความไว้วางใจกัน (Pattie and Seyd, 2003) ทั้งนี้เครือข่ายทางสังคมใน อินเทอร์เน็ต มีลักษณะเป็น ความไว้วางใจที่บอบบาง (thin trust)rsquo;[1] (Kavanaugh, 1999: 6) ที่เป็นพื้นฐานของการบูรณาการทางสังคมในสังคมสมัยใหม่ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งประชาชนจะขยายขอบเขตความไว้วางใจออกไปสู่คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไม่รู้จักกันมาก่อนเลยก็เป็นได้ (Newton, 1997: 579)
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ไม่เชื่อในพลังของ อินเทอร์เน็ต โต้แย้งว่า การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อกิจกรรมทางประชาธิปไตยจะก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาการลงคะแนนเสียงผ่านระบบดิจิตอล เกิดคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ และออนไลน์โพล (Abramson et al., 1988; Dutton, 2004) ข้อสำคัญ อินเทอร์เน็ตไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะยังมีกลุ่มคนที่ไม่พร้อมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ (Norris, 2003: 7)
ข้อโต้แย้งสำคัญอีกประการ คือ การปฏิสัมพันธ์ในอินเทอร์เน็ตไม่ได้ช่วยให้เครือข่ายความสัมพันธ์ของภาคพลเมือง (civic engagement) แน่นแฟ้นขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากการพูดคุยทาง อินเทอร์เน็ตไม่ช่วยสร้าง ความเชื่อใจทางสังคม (social trust) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนทางสังคม (social capital) เพราะคนเข้าง่าย ออกง่าย และไม่จำเป็นต้องแสดงตัวตนที่แท้จริง จึงไม่ทำให้เกิดความสัมพันธ์กันเหมือนการปฏิสัมพันธ์แบบหน้าต่อหน้า (face-to-face contact.) (Putnam, 2000: 177) ไม่เพียงเท่านี้ ยังมองว่า การที่ประชาชนใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทำให้เกิดความสงสัยว่า จะทำให้การใช้เวลาในการทำกิจกรรมในชุมชนลดลง และอาจทำให้เกิดช่องว่างที่มากขึ้นระหว่างผู้ที่มีส่วนร่วมกับผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วม (Garramone et al, 1986) ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาที่ผ่านมา ไม่พบว่า การเปลี่ยนแปลงด้านข้อมูลข่าวสารมีผลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองและก่อให้เกิดรูปแบบกิจกรรมที่แปลกใหม่แต่อย่างใด (Bimber, 2003: 4-5)
นอกจากนี้ อินเทอร์เน็ต ยังได้รับการพยากรณ์ว่า จะทำให้เกิดปัญหา ความตื่นตัวของพหุนิยม (hyperpluralism) อันเกิดจากการที่มีกลุ่มผลประโยชน์จำนวนมาก จนทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายในกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย. (Bimber, 1998) รวมทั้งยังทำให้เกิดภาวะการแตกแยกและไม่มีเสถียรภาพของกลุ่มการเมืองหรือชุมชนการเมืองต่าง ๆ โดยกลุ่มเหล่านี้เป็นการรวมตัวแบบเฉพาะกิจสำหรับบางสถานการณ์เท่านั้น หรือเรียกว่า กลุ่มเฉพาะกิจ (event group)(Bimber, 2003: 22)
จากการศึกษาข้อถกเถียงข้างต้น จะเห็นภาพในมุมบวก พบว่า อินเทอร์เน็ตได้เปิดพื้นที่ทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เพราะการที่อินเทอร์เน็ตทำให้ต้นทุนของข้อมูลทางการเมืองต่ำลง ช่วยให้เกิดความหลากหลายของแหล่งข้อมูล ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางการเมืองได้ง่ายขึ้น มีข้อมูลและความรู้มากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองย่อมมีมากขึ้น การเชื่อมโยงเครือข่ายภาคพลเมืองในขอบเขตที่หลากหลายและกว้างขวางออกไปย่อมมีมากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน ในมุมตรงกันข้ามมองว่า อินเทอร์เน็ตส่งผลกระทบทางลบต่อการเมืองและประชาธิปไตยด้วย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการท่วมท้นของข่าวสารที่มีจำนวนมหาศาล ปัญหาช่องว่างในการรับรู้ข่าวสารระหว่างผู้ที่เข้าถึงเทคโนโลยีกับผู้ที่เข้าไม่ถึง ปัญหาความวุ่นวายและความแตกขั้วในการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ต้องรับผิดชอบ ปัญหาความน่าเชื่อถือของการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการเลือกตั้ง การทำประชาพิจารณ์ อีกทั้ง ปัญหาความวุ่นวายอันเกิดจากการมีกลุ่มพหุนิยมจำนวนมาก ที่พร้อมจะเรียกร้องผลประโยชน์ของตนในกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย และปัญหาอื่น ๆ อีกดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
การแตกขั้วในมุมมองอินเทอร์เน็ตต่อผลกระทบทางการเมืองและประชาธิปไตย นับเป็นเรื่องที่เราควรเรียนรู้ เพราะจะช่วยให้เราสามารถเลือกรับและปรับใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม เพื่อการพัฒนาทางการเมืองและประชาธิปไตยของไทยต่อไปในอนาคต
เชิงอรรถ
Abramson, Jeffrey B., Christopher Arterton and Gary Orren. (1988) The Electronic Commonwealth: The Impact of New Media Technologies on Democratic Politics. New York: Basic Books, Inc.
Anderson, R. H., T. K. Bikson, S. A. Law, and B. M. Michael (1995). Universal Access to e-mail: Feasibility and societal implications. Santa Monica, CA: RAND. cited in Tedesco, John C. (2004) ldquo;Chapter 19: Changing the Channel: Use of the internet for Communicating About Politicsrdquo; in Lynda Lee Kaid (ed.) Handbook of Political Communication Research. Mahwah, New York: Lawrence Erlbaum Associates, p. 512.
Barber, B. R. (1984) Strong democracy. Berkley: University of California Press.
Bennett, W. L., and R. M. Entman. (2001). ldquo;Mediated politics: An Introduction.rdquo; In W. L. Bennett and R. M. Entman. (eds.), Mediated politics: Communication in the future of democracy. Cambridge: Cambridge University Press, p.1-32. cited in Tedesco, John C. (2004) ldquo;Chapter 19: Changing the Channel: Use of the internet for Communicating About Politicsrdquo; in Lynda Lee Kaid (ed.) Handbook of Political Communication Research. Mahwah, New York: Lawrence Erlbaum Associates, p. 514.
Bimber, B. (1998). ldquo;The internet and political transformation: Populism, community, and accelerated pluralismrdquo; Polity, 31(1), 133-160. cited in Tedesco, John C. (2004) ldquo;Chapter 19: Changing the Channel: Use of the internet for Communicating About Politicsrdquo; in Lynda Lee Kaid (ed.) Handbook of Political Communication Research. Mahwah, New York: Lawrence Erlbaum Associates, p. 515.
Bimber, Bruce. (1998). lsquo; The internet and Political Transformation: Populism, Community and Accelerated Pluralism.rsquo; Polity XXXI (1): 133-160.
Bimber, Bruce. (2003) Information and American Society: Technology in the Evolution of Political Power. Cambridge: Cambridge University Press
Budge, I. (1996). The New Challenge of Direct Democracy. Oxford: Polity Press.
Coleman, S. (2005). ldquo;E-democracy ndash; Whatrsquo;s the Big Idea?rdquo;The Paper was commissioned by The Governance Team (Governance and Information) British Council, Manchester, 2005.
Dutton, W. H. (2004). Social Transformation in an Information Society: Rethinking Access to You and the World. Paris: UNESCO.
Etzioni, Amatai. (1993). The Spirit of Community. NY: Crown Publications.
Fishkin, J. S. (2000). Virtual democratic possibilities: Prospects for Internet Democracy Presented to the conference on ldquo;Internet, Democracy and Public Goods,rdquo; Belo Horizonte, Brazil, November. (in Price, Vincent (2006) ldquo;Chapter 1: Citizens Deliberating Online: Theory and Some Evidencerdquo; in Todd Davies and Beth Simone Noveck (eds.). Online Deliberation: Design, Research, and Practice. CSLI Publications,p. 6)
Gamson (2001) cited in Tedesco, John C. (2004) ldquo;Chapter 19: Changing the Channel: Use of the internet for Communicating About Politicsrdquo; in Lynda Lee Kaid (ed.) Handbook of Political Communication Research. Mahwah, New York: Lawrence Erlbaum Associates, p. 515.
Gomez, James. (2005) ldquo;Between Freedom and Censorship: Asian Political Parties in Cyberspace.rdquo; Occasional Paper 10, The Liberal Institute of the Friedrich Naumann Foundation. (This paper was presented at the Liberal Institutersquo;s ldquo;The Fate of Liberal ndash; Human Rights and Civil Liberties in the Age of Global Crime and Terrorrdquo; conference in Potsdam, Germany, 7-19 September 2004.)
Graber, Dorris, and Brian White. (1999) The many faces of news: From main stream media to cybermedia. Paper read at a meeting of the American Political Science Association.
Hacker, (1996) cited in Tedesco, John C. (2004) ldquo;Chapter 19: Changing the Channel: Use of the internet for Communicating About Politicsrdquo; in Lynda Lee Kaid (ed.) Handbook of Political Communication Research. Mahwah, New York: Lawrence Erlbaum Associates, p. 512.
Hague, B. N. and Loader, B. D. (1999). Digital democracy: Discourse and Decision-making in the Information Age. London: Routledge.
Hammond, (1997) cited in Tedesco, John C. (2004) ldquo;Chapter 19: Changing the Channel: Use of the internet for Communicating About Politicsrdquo; in Lynda Lee Kaid (ed.) Handbook of Political Communication Research. Mahwah, New York: Lawrence Erlbaum Associates, p. 513.
Hayward, T. (1995). Info-Rich, Info-Poor: Access and Exchange in the Global Information Society.K.G. Saur
Hill and Hughes (1998) cited in Tedesco, John C. (2004) ldquo;Chapter 19: Changing the Channel: Use of the internet for Communicating About Politicsrdquo; in Lynda Lee Kaid (ed.) Handbook of Political Communication Research. Mahwah, New York: Lawrence Erlbaum Associates, p. 514.
Hill, K. A. and Hughes, J. E. (1998). Cyberpolitics: Citizen Activism in the Age of the internet. Lanham, MD: Rowan amp; Littlefield.
Kalathil, Shanthi and Taylor C. Boas. (2003) Open Networks Closed Regimes: The Impact of the internet on Authoritarian Rule. Washington DC: Carnegie Endowment for International Peace.
Kavanaugh, Andrea. (1999) The Impact of the Internet on Community Involvement: A Network Analysis Approach. Paper prepared for Telecommunications Policy Research Conference September 25-27, 1999
Kinder, T. (2003). ldquo;Tele-democracy: How ICT is refreshing politics in Europe,rdquo; in WSIS 2003 lt;http://www.itu.int/wsis/newsroom/backgound/docs/ap/kinder_univedim.doc gt; (Updated: November 13, 2006; Retrieved: November 13, 2006).
Kling, 1999; Hindman, 2000cited in Tedesco, John C. (2004) ldquo;Chapter 19: Changing the Channel: Use of the internet for Communicating About Politicsrdquo; in Lynda Lee Kaid (ed.) Handbook of Political Communication Research. Mahwah, New York: Lawrence Erlbaum Associates, p. 515.
Margolis, Michael, and David Resnick. (2000) Politics as Usual: The Cyberspace lsquo; Revolutionrsquo; . Thousand Oaks, CA: Sage.
McChesney, Robert W. (1999) Rich Media, Poor democracy. Illinois: University of Illinois Press. p.182-185.
Newton, Kenneth. (1997). "Social Capital and Democracy." American Behavioral Scientist. (March/April) 40, 5: 575-586.
Norris, P. (2000) cited in Tedesco, John C. (2004) ldquo;Chapter 19: Changing the Channel: Use of the internet for Communicating About Politicsrdquo; in Lynda Lee Kaid (ed.) Handbook of Political Communication Research. Mahwah, New York: Lawrence Erlbaum Associates, p. 520.
Norris, Pippa (2003) ldquo;Deepening Democracy via E-Governancerdquo; chapter for the UN World Public Sector Report.
Noveck, Beth Simone. (2000) ldquo;Paradoxical Partners: Electronic Communication and Electronic democracyrdquo; in Peter Ferdinand. (ed.) The internet, democracy and Democratization. London: Frank Cass, p. 19-35.
NTIA, (1998) cited in Tedesco, John C. (2004) ldquo;Chapter 19: Changing the Channel: Use of the internet for Communicating About Politicsrdquo; in Lynda Lee Kaid (ed.) Handbook of Political Communication Research. Mahwah, New York: Lawrence Erlbaum Associates, p. 512.
Pattie, Charles and Patrick Seyd (2003) ldquo;Citizenship and Civic Engagement: Attitudes and Behaviour in Britainrdquo; POLITICAL STUDIES, VOL 51, 443ndash;468.
Putnam, R. (2000). Bowling Alone: The Collapse and Revival of American Community. NY: Simon amp; Schuster.
Rash, W. Jr. (1997). Politics on the Nets: Wiring the Political Process. New York: W.H. Freeman.
Rheingold, H. (1993). The Virtual Community: Homesteading on the Electronic Frontier. Mass.: Addison Wesley.
Selian, A. N. (2002), ICTs in Support of Human Rights, democracy and Good Governance (Geneva: International Telecommunication Union), August. www.itu.int
Shenk, David. 1997. Data Smog: Surviving the Information Glut. New York: Harper Collins.
Suchmann, L. (1987) Plans and Situated Actions: The Problem of Human-Machine Communication. Cambridge, New York: Simon amp; Schuster.
Sullivan (1995) cited in Tedesco, John C. (2004) ldquo;Chapter 19: Changing the Channel: Use of the internet for Communicating About Politicsrdquo; in Lynda Lee Kaid (ed.) Handbook of Political Communication Research. Mahwah, New York: Lawrence Erlbaum Associates, p. 519.
Sunstein, C. (2001). Republic.com. Princeton, NJ: Princeton University Press. (in Price, Vincent (2006) ldquo;Chapter 1: Citizens Deliberating Online: Theory and Some Evidencerdquo; in Todd Davies and Beth Simone Noveck (eds.). Online Deliberation: Design, Research, and Practice. CSLI Publications,p. 6)
Sussman, Leonard R.. 2000. lsquo; Censor Dot Gov: The internet and Press Freedom 2000rsquo; Freedom House Press Freedom Survey 2000. http://www.freedomhouse.org/pfs2000/sussman.html.
Tsagarousianou, R., Tambini, D. and Bryan, C. (1998). Cyberdemocracy:Technology, Cities and Civic Networks. London: Routledge
Wellman, Barry, Janet Salaff, Dimitrain Dimitrova, Laura Garton, Milena Gulia, Caroline Hythornthwaite (1996). Computer Networks as Social Networks: Collaborative Work, Tele-work, and Virtual Community. Annual Review of Sociology, 22, 213-239. (in Andrea Kavanaugh (1999) The Impact of the internet on Community Involvement: A Network Analysis Approach. Paper prepared for Telecommunications Policy Research Conference September 25-27, 1999, p. 5)
Whillock, (1997) cited in Tedesco, John C. (2004) ldquo;Chapter 19: Changing the Channel: Use of the internet for Communicating About Politicsrdquo; in Lynda Lee Kaid (ed.) Handbook of Political Communication Research. Mahwah, New York: Lawrence Erlbaum Associates, p. 522.
[1] ความไว้วางใจที่บอบบาง หมายถึง มีความสัมพันธ์ส่วนบุคคลในระดับต่ำ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางสังคมทางอ้อม มิได้พบปะเห็นหน้ากันโดยตรง (Thin trust is less personal, based on indirect, secondary social relations.)
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
วารสารรัฐสภาสาร
เมื่อ:
2007-08-01
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 158 ครั้ง
คนไทยเรียนรู้อะไร จากบทเพลงสุดท้ายของพี่ศรี
Total views: อ่าน 74 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร
Total views: อ่าน 239 ครั้ง
บทบาทของไทยและอาเซียนต่อการรวมเกาหลีให้เป็นหนึ่งเดียว
Total views: อ่าน 1,998 ครั้ง
การสร้างคุณภาพชีวิตเมืองเพื่อการสร้างชาติ ด้วยโมเดลเมืองน่าอยู่ 12 มิติ: Dr.Dan Can Do’s Livable City Model
Total views: อ่าน 2,638 ครั้ง