ศักยภาพ EEC กับคู่แข่งใน ASEAN: รุ่งโรจน์ หรือ ร่วงโรย

เปิดหน้าตักดูขุมกำลังทางเศรษฐกิจและโอกาสของการพัฒนาประเทศในอาเซียน และเปรียบเทียบศักยภาพ EEC กับคู่แข่งในภูมิภาคนี้ รวมถึงข้อเสนอจากผู้เขียนถึงประเด็นสำคัญสำหรับการพัฒนา EEC หากจะแข่งขันกับประเทศอื่นในอาเซียนได้มากขึ้น 

ปัจจุบันอาเซียนมีเขตเศรษฐกิจมากกว่า 1,000 แห่ง และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นถึง การแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนที่ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) เป็น เขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลไทยคาดหวังจะให้ช่วยยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตและน่าสนใจอีกครั้ง การพัฒนา EEC ให้ประสบความสำเร็จมีปัจจัยที่ต้องคำนึงหลายเรื่อง เช่น

1.คู่แข่งของ EEC มีใครบ้าง ?

หากพิจารณาระดับของการพัฒนา คู่แข่งของไทย ประกอบด้วย สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเป็นฐานการลงทุนในอาเซียนอยู่แล้ว,มาเลเซีย กำลังพัฒนาไปสู่นวัตกรรม,อินโดนีเซีย อยู่ในระดับเดียวกับไทย คือ ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ (Efficiency-Driven) รวมทั้ง ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่กำลังพยายามพัฒนาแบบกระโดดข้าม ไม่รวมบรูไน เนื่องจากมีขนาดเล็ก และเติบโตมาด้วยฐานทรัพยากรจำนวนมาก

หากพิจารณาจากนโยบายอุตสาหกรรม ทุกประเทศมีนโยบาย อุตสาหกรรม 4.0 อาทิ
1) ไทย มี EEC เป็นนโยบายเรือธง
ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรม 4.0

2) อินโดนีเซีย มีนโยบาย Making Indonesia 4.0 ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีซับซ้อน การบุกเบิกอุตสาหกรรมใหม่, อุตสาหกรรมส่งออกและอุตสาหกรรมที่เน้นคือ วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (research, development and innovation)

3) มาเลเซีย มีนโยบาย Industry4WRD: National Policy on Industry 4.0 พัฒนาอุตสาหกรรมบนฐาน A-C-T (Attract, Create and Transform) โดย Attract คือการดึงดูดผู้มีส่วนได้เสียสำหรับเทคโนโลยี, Create

คือ การสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้เกิดนวัตกรรม และ Transform คือ การปรับเปลี่ยนสมรรถนะของภาคอุตสาหกรรม ให้เป็นอุตสาหกรรม 4.0

4) สิงคโปร์ มีนโยบายครอบคลุม ซึ่งเกี่ยวกับ Industry 4.0 เช่น Smart Nation Initiative, Industry Transformation Maps, National Artificial Intelligence Strategy, Digital Government Blueprint หรือ Digital Service Standards เป็นต้น

5) เวียดนาม ออกนโยบาย Resolution No.52 เพื่อเตรียมประเทศให้พร้อมรับกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เช่น การพัฒนาการคิดเชิงนวัตกรรม, การพัฒนาสถาบัน ที่เอื้อ digital transformation ระดับชาติ, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น, พัฒนาสมรรถนะของชาติในการสร้างสรรค์นวัตกรรม, พัฒนาทรัพยากรมนุษย์, พัฒนา priority sectors and technologies, การบูรณาการทางเศรษฐกิจ

2.หากเปรียบเทียบ EEC กับคู่แข่งในอาเซียนเป็นอย่างไร?
พิจารณาด้านความพร้อม ประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนขาดความพร้อม มีเพียงสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่มีความพร้อม ไทยและฟิลิปปินส์ มีโครงสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และซับซ้อน แต่ยังขาดปัจจัยที่ขับเคลื่อนการผลิต ส่วนประเทศอื่นๆ ขาดความมร้อมทั้ง 2 ด้าน

จุดแข็งของ EEC คือการต่อยอดอยู่บนฐานอุตสาหกรรมเดิม มีสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนค่อนข้างสูง มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่กลางภูมิภาค และมีพรมแดนติดกับหลายประเทศ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุน โดยเฉพาะ ท่าเรือ สนามบิน ระบบราง และระดับการพัฒนาของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการลงทุนด้าน R&D เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ

แต่ จุดอ่อนของ EEC คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจช้า เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน และมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ขณะที่ประเทศอื่นยังมีหนุ่มสาวมาก ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น จนหมดความได้เปรียบเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนออกจากประเทศไทยไป

การขาดแคลนแรงงานทุกระดับ ไทยมีความขัดแย้งและการขาดเสถียรภาพทางการเมือง อีกทั้งมีข้อจำกัดในการเปิดเสรีทางการค้า เพราะถูกประชาชนต่อต้าน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการเปิดเสรีทางการค้ามากกว่า เป็นต้น

3. COVID-19 ส่งผลอย่างไรต่อ EEC และคู่แข่ง?
ผมคาดการณ์ไว้ว่า COVID-19 จะอยู่อย่างน้อย 2 ปีหรือจนกว่าวัคซีนจะกระจายทั่วถึง ตอนนี้เกิดความถดถอยทางเศรษฐกิจที่อาจกินระยะเวลายาวนานกว่านั้น แม้การระบาดจบลงแล้ว กว่าจะฟื้นตัวสู่ระดับเดิม อาจต้องใช้เวลานาน เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวสู่ระดับเดิมอาจใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีจากปัจจุบัน ซึ่งทำให้ธุรกิจจำนวนมากอาจล้มละลายไปก่อน และเกิดการว่างงานของคนจำนวนมาก

สถาการณ์นี้จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงการ EEC เพราะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก จะทำให้การลงทุนโดยตรง (FDI) ทั่วโลกหดตัว UNCTAD คาดว่า FDI ทั่วโลกปี 2563 จะลดลงร้อยละ 30-40 เทียบกับปี 2562 และจะลดลงอีกร้อยละ 10 ในปี 2564 และถือเป็นจุดต่ำสุด ก่อนจะกับมาขยายตัวในปี 2565 แต่การฟื้นตัวจะยังไม่แน่นอนและปัจจุบันมีการชะลอการลงทุนใน EEC เช่น บริษัท Exxon Mobile

การเดินทางระหว่างประเทศฟื้นตัวช้ากระทบต่อผลตอบแทนการลงทุน โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ คาดว่า การจราจรทางอากาศจะลดลงร้อยละ 63 ในปี 2563 เทียบกับปี 2562 และจะกลับมาสู่ระดับก่อนวิกฤต ในปี 2567 ทำให้ผลตอบแทนของการลงทุนในโครสร้างพื้นฐานลดลง โดยเฉพาะการลงทุนในสนามบินอู่ตะเภาและรถไฟความเร็วสูง

วิกฤต COVID-19 ยังเร่งการเปลี่ยนแปลงของกระแสการลงทุนระหว่างประเทศ เนื่องจาก ปัจจัยความสำเร็จของ EEC พึ่งพา FDI ค่อนข้างสูง แต่การดึงดูด FDI ในปัจจุบันและอนาคต มีประเด็นที่ต้องคำนึงถึง อาทิ

1) การย้ายการลงทุนออกจากจีน ประเทศอุตสาหกรรมมีแนวโน้มดึงการลงทุนกลับประเทศต้นทาง เช่น สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่เสี่ยงต่อละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ในประเทศพัฒนาแล้ว และด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง เช่น ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ AI ทำให้ความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาแรงงานราคาถูกลดลง

2) การแข่งขันจากประเทศเกิดใหม่ (New Emerging Economies) จากกระแสการย้ายฐานการผลิตส่วนหนึ่งออกจากจีน แม้การลงทุนส่วนหนึ่งย้ายมาไทย แต่เป้าหมายหลักคือเวียดนาม เพราะค่าแรงถูก มีคุณภาพ และขยัน ยิ่งไปกว่านั้น อุตสาหกรรมจำนวนหนึ่งกำลังย้ายฐานออกจากไทย
ผลกระทบจากโควิด ทำให้แข่งขันดึงดูดการลงทุนมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจถดถอยทำให้ประเทศใน ASEAN พยายามกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

4. EEC ต้องทำอะไรเพิ่ม?
หาก EEC จะแข่งขันกับประเทศอื่นในอาเซียนได้มากขึ้น ผมเสนอว่า EEC ต้องพัฒนาอีกหลายด้าน เช่น

1) การขยายขอบเขตการพัฒนาสู่ EEC Plus (8 จังหวัด) เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับพื้นที่จังหวัดข้างเคียง ระดมทรัพยากรเพื่อสนับสนุน EEC และกระจายผลประโยชน์สู่จังหวัดอื่นๆ ทำให้ EEC กระจายประโยชน์กับจังหวัดอื่นในตะวันออก และทำให้ EEC มีความน่าสนใจมากขึ้น

2) การกำหนด niche ของแต่ละจังหวัด เพื่อการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของจังหวัดและ EEC ให้มากขึ้น

3) การจัดตั้ง World Class University ใน EEC เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมนวัตกรรม ที่ต้องการทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง

4) การนำเข้าทุนมนุษย์จากต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานทุกระดับ และ แรงงานไม่มีคุณภาพ

5) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก โดยการออกแบบให้มีคุณภาพในการให้บริการระดับโลก เช่น ผู้โดยสารต่างประเทศ สามารถออกจากสนามบิน ภายใน 15 นาที เป็นต้น เพื่อเป็นจุดขาย และ ดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ

6) การเร่งเจรจาเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น เจรจาเพื่อเข้าร่วมกลุ่มการค้าเสรีต่างๆ ที่ไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิก เพื่อลดความเสียเปรียบด้านการตลาด เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง

7) การเจรจาเจาะจงรายบริษัทที่ต้องการให้เข้ามาลงทุนเพื่อทราบความต้องการและกำหนดมาตรการจูงใจได้อย่างเจาะจง เป็นต้น

ถึงแม้ว่าตอนนี้มีหลายประเทศในอาเซียนที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ผมเชื่อว่าหาก EEC สามารถเร่งแก้ไขจุดอ่อนที่มีอยู่และบริหารจัดการให้ดี EEC จะมีศักยภาพที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้และจะทำให้ EEC สามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจของไทยได้อย่างแท้จริง

 

แหล่งที่มา : cioworldmagazine.com
http://www.cioworldmagazine.com/dr-kriengsak-chareonwongsak-compare-eec-potential-with-competitors/ 
9 มิถุนายน 2564 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando

แหล่งที่มาของภาพ : http://www.cioworldmagazine.com/wp-content/uploads/2021/06/EEC-open-680x365_c.jpg