?การ์เด็น โกรฟ? แบบอย่างจัดการศึกษาในเมือง
ที่มาของภาพ http://www.broadfoundation.org/0/bp-masthead3.jpg
กรุงเทพฯ มีจำนวนโรงเรียนในสังกัดทั้งหมด 433 โรง สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีผู้เรียนประมาณ 350,000 คน และครูประมาณ 15,000 คนผู้เรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ จำนวนมากเป็นเด็กด้อยโอกาส ครอบครัวมีฐานะยากจน และขาดการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนและเสี่ยงต่อการออกกลางคัน อีกทั้ง ผู้เรียนบางส่วนไม่ใช่คนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด แต่อพยพย้ายถิ่นตามพ่อแม่เข้ามา ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา คนต่างจังหวัดจะเข้ามาทำงานในเมืองเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ กทม. ต้องจัดการศึกษาอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม สำนักการศึกษา กรุงเทพฯ มีบทบาทในการจัดการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกับเด็กกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เพื่อให้เด็กและเยาวชน สามารถเข้าสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
สำนักการศึกษาสามารถนำแบบอย่างการจัดการศึกษาของเมืองใหญ่ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ เช่นเขตพื้นที่การศึกษาการ์เด็น โกรฟ (Garden Grove Unified School District) เมืองลอสแอนเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา การ์เด็น โกรฟ เป็นแถบชานเมืองที่กำลังเจริญเติบโต มีผู้เรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลประมาณ 50,000 คน กระจายตามโรงเรียน 70 โรง มีลักษณะคล้ายคลึงกับกรุงเทพฯ ตรงที่มีกลุ่มผู้เรียนที่หลากหลายอันเนื่องมาจากการอพยพย้ายถิ่นเข้ามา โดยในจำนวนผู้เรียนทั้งหมด เป็นชาวเม็กซิกันร้อยละ 53 เอเชียร้อยละ 31 คนขาวร้อยละ 5 และอีกร้อยละ 1 เป็นคนแอฟริกันอเมริกัน ส่วนใหญ่เป็นผู้เรียนที่ด้อยโอกาส กว่าร้อยละ 60 ได้รับทุนอาหารกลางวัน อีกทั้ง เขตการศึกษานี้เต็มไปด้วยครอบครัวที่เพิ่งอพยพเข้ามาอยู่สหรัฐฯ โดยผู้เรียนกว่าร้อยละ 80 มีภาษาแม่ต่างกันถึง 68 ภาษา และพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง
เขตพื้นที่การศึกษาการ์เด็น โกรฟได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัยมากที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ และประสบความสำเร็จในพัฒนาผู้เรียนที่เรียนอ่อนให้มีผลการเรียนที่ดีขึ้นภายใน 2 ปี ทั้งยังมียุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพโรงเรียน ครู และนักเรียนที่น่าสนใจ ที่สำคัญยังได้รับรางวัล Broad Prize for Urban Education 2004 ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับเขตพื้นที่การศึกษาในเขตเมืองที่ดีที่สุดในสหรัฐฯ แนวทางที่เขตพื้นที่การศึกษาการ์เด็น โกรฟได้ดำเนินการ ดังนี้
1. มีเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียนในระยะยาว
เขตพื้นที่การศึกษาการ์เด็น โกรฟ มีเป้าหมายระยะยาวคือ มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้พร้อมก้าวเข้าสู่การเรียนระดับวิทยาลัย มหาวิทยาลัย และการประกอบอาชีพที่ใช้ทักษะในการทำงาน โดยเน้นพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน เขตพื้นที่การศึกษาอื่น ๆ พยายามเพิ่มจำนวนผู้เรียนที่จบการศึกษา แต่การ์เด็น โกรฟ มองว่าการจบการศึกษานั้นเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้เรียนมีความพร้อมสำหรับการศึกษาต่อวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือการทำงาน เขตพื้นที่การศึกษาการ์เด็น โกรฟ ต้องการที่รับประกันกับผู้เรียน ผู้ปกครอง วิทยาลัย และนายจ้างว่า ผู้เรียนทุกคนได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมและจำเป็น
2. พัฒนาและควบคุมคุณภาพผู้เรียนให้ได้มาตรฐาน
พัฒนาผู้เรียนตั้งแต่ปฐมวัย ผู้เรียนที่ด้อยโอกาสส่วนใหญ่ไม่สามารถที่ไปสู่การศึกษาระดับที่สูงหรือมีโอกาสในการทำงานที่ดีนอกจากจะได้รับการพัฒนาความพร้อม ดังนั้น เพื่อที่จะให้ผู้เรียนทุกคนพร้อมสำหรับการศึกษาระดับวิทยาลัยและมีความพร้อมทางอาชีพ โรงเรียนจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมผู้เรียนตั้งแต่ชั้นปฐมวัย อาทิ นำกิจกรรมการสอนทักษะการอ่านและการเขียนมาใช้ในชั้นอนุบาล ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการศึกษาต่อและการทำงาน
กำหนดเป้าหมายทางวิชาการของผู้เรียน เขตพื้นที่การศึกษาการ์เด็น โกรฟ ได้กำหนดตัวชี้วัดการเจริญเติบโตทางวิชาการของผู้เรียนไว้ 4 ระดับ คือ ไกลจากระดับพื้นฐานต่ำสุด (far below basic) อยู่ต่ำกว่าพื้นฐานต่ำสุด (below basic) อยู่ในระดับพื้นฐานต่ำสุด (low basic) และมีพื้นฐานที่ดี (high basic) ในแต่ละปีการเติบโตทางวิชาการของผู้เรียนต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 ระดับ นอกจากนี้ ยังวางเป้าหมายแต่ละรายวิชา โดยผู้เรียนทุกคนที่เข้ามาเรียนในเขตการศึกษาภายใน 5 ปี ต้องมีผลการศึกษาในระดับพื้นฐานที่ดีในทุกรายวิชา และภายใน 4 ปี ต้องมีความสามารถทางภาษาอังกฤษในระดับพื้นฐานที่ดี
ให้ความสำคัญกับผู้เรียนที่เรียนอ่อน ทุกโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาการ์เด็น โกรฟ จะมีการรวบรวมข้อมูลจากการสังเกตการเรียนการสอนและพัฒนาการของผู้เรียน เพื่อนำมาปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น เช่น การที่จะนำหลักสูตรพีชคณิตมาสอน ต้องตั้งคำถามก่อนว่าผู้เรียนที่เรียนอ่อนวิชานี้จะเรียนได้อย่างไร? อีกทั้ง เขตพื้นที่ฯ ได้นำเอาทางเลือกที่สามารถลดช่องว่างในระดับความรู้ของผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนที่เรียนอ่อนกว่าเข้าเรียนร่วมกับผู้เรียนที่เก่ง แต่ให้เพิ่มเติมสิ่งที่ผู้เรียนยังขาดเป็นรายบุคคล ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการวิเคราะห์ผลการเรียนของผู้เรียนที่เรียนอ่อนอย่างละเอียด
ควบคุมคุณภาพผู้เรียนเป็นรายบุคคล เขตพื้นที่การศึกษาการ์เด็น โกรฟ มีระบบประเมินผลและเก็บข้อมูลความก้าวหน้าทางการเรียนรู้ของผู้เรียนปีละ 4 ครั้ง สำหรับชั้นเรียนระดับมัธยม เพื่อทดสอบผู้เรียนด้านความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่เรียนมา ข้อมูลการทดสอบนี้เขตพื้นที่ฯ จะเก็บไว้เพื่อประเมินความก้าวหน้าทางการเรียน และดูภาพรวมในระดับชั้นเรียน โรงเรียน และระดับเขตพื้นที่การศึกษา
3. การจัดสรรและพัฒนาผู้สอนที่มีคุณภาพ
เขตพื้นที่การศึกษาการ์เด็น โกรฟ จะเฟ้นหาผู้สอนที่มีคุณภาพ มีความมุ่งมั่นอุทิศตัวในการทำงาน และตั้งใจที่จะพัฒนาผู้เรียนที่ด้อยโอกาสและผู้เรียนที่ไม่พูดภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ต้องเป็นผู้ที่รักการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและสามารถทำงานเป็นทีม โดยเขตพื้นที่ฯ จะให้การสนับสนุนสิ่งที่จำเป็นในการสอนและการดำรงชีวิต เพื่อให้ผู้สอนอยู่ในโรงเรียนได้ระยะเวลานาน เขตพื้นที่ฯ จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาคอยดูและควบคุมผู้สอนใหม่อย่างน้อย 2 ปี เพื่อให้การสอนมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ สหภาพครูมีส่วนสำคัญต่อการทำงานของเขตพื้นที่ฯ และโรงเรียนอย่างมาก โดยจะสนับสนุนการฝึกอบรมความรู้และทักษะด้านต่าง ๆ แก่ผู้สอน เพื่อผลักดันให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ
จากตัวอย่างเขตพื้นที่การศึกษาการ์เด็น โกรฟ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการวางยุทธศาสตร์ของผู้ที่กุมนโยบายการศึกษาหลัก ซึ่งกลไกสำคัญที่กรุงเทพฯ สามารถเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้คือ การตั้งเป้าหมายเตรียมพร้อมผู้เรียนระยะยาวไม่ใช่แค่ชั่วคราว ให้ความสำคัญกับผู้เรียนด้อยโอกาส พัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล ประเมินคุณภาพผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง มีระบบการจัดเก็บข้อมูลทางการศึกษาเพื่อการประเมินผล คัดเลือกผู้สอนที่มีคุณภาพและมีความตั้งใจจริงในการดูแลผู้เรียน และส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างคณะกรรมการโรงเรียน สหภาพครู ผู้ปกครอง ภาคธุรกิจ และชุมชน ซึ่งเป็นการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ แต่ทั้งนี้ ต้องสอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนและผู้เรียนในเขตกรุงเทพฯ ที่ปัจจุบันถูกรายล้อมด้วยสภาพสังคมที่เสื่อมโทรม อาจเพิ่มในส่วนของนักจิตวิทยาเข้าไปในโรงเรียนเพื่อให้คำปรึกษาด้านจิตใจและปรับพฤติกรรมเป็นผู้เรียนเป็นรายบุคคล นอกเหนือจากการพัฒนาผู้เรียนด้านวิชาการ รวมถึงจัดให้มีการสอนทักษะอาชีพตามความเหมาะสม เนื่องจากผู้เรียนจำนวนมากมีฐานะยากจน ต้องช่วยเหลือพ่อแม่ทำงาน และอาจไม่ได้วางแผนที่จะศึกษาต่อในระดับที่สูงนัก จึงจำเป็นที่ผู้เรียนต้องมีทักษะอาชีพติดตัว
กรุงเทพฯ มีจำนวนเด็กด้อยโอกาสเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอพยพย้ายถิ่นเข้าของประชาชนที่มีฐานะยากจน หาเช้ากินค่ำ ไม่มีรายได้เพียงสำหรับการศึกษาของบุตรหลาน จึงทำให้เด็กจำนวนมากไม่ได้รับการศึกษาหรือต้องออกกลางคัน ดังนั้น สำนักการศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาของกรุงเทพฯ จึงต้องเร่งวางยุทธศาสตร์การศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นเมืองในปัจจุบัน เพื่อให้เด็กทุกคนที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพฯ ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและสอดคล้องกับความต้องการ อันจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ให้ดีขึ้นในอนาคต
* นำมาจากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ฉบับวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2551
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-05-10
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,500 ครั้ง
บูรณาการวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
Total views: อ่าน 2,336 ครั้ง
คิดเป็นระบบ Systematic Thinking ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร
Total views: อ่าน 4,268 ครั้ง
ความสัมพันธ์ของการศึกษากับการเป็นมหาเศรษฐี
Total views: อ่าน 2,081 ครั้ง
STEMMAD-CINDERELLA สร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 4,486 ครั้ง