ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
สงครามอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ของมนุษย์มาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่มีการบันทึกเหตุการณ์สำคัญเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งพบว่า ไม่มีช่วงเวลาใดที่มนุษย์ว่างเว้นจากการทำสงคราม
ปัจจุบันสงครามและความขัดแย้งยังดำเนินอยู่มากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก และประมาณ 30 ประเทศยังคงมีสงครามกลางเมืองอยู่ นอกจากสงครามแล้วยังมีความขัดแย้งรูปแบบอื่นอีก เช่น การชุมนุมประท้วงเรียกร้องสิทธิ์หรือประท้วงทางการเมือง
ซึ่งเป็นสงครามทางความคิดที่ได้แพร่ขยายและเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้นทั่วโลก โดยในปี 2019 เพียงปีเดียวมีการประท้วงเกิดขึ้นทุกภูมิภาคมากถึง 114 ประเทศ และตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมามีความถี่เพิ่มขึ้นทั่วโลก เฉลี่ยร้อยละ 11.5 ต่อปี
ในอนาคต ผมคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น และ อาจมีความเป็นไปได้มากที่จะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 เนื่องมาจาก 3 สาเหตุสำคัญ ได้แก่
1. การลุกลามของสงครามย่อยๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก เห็นได้ชัดจากการเกิดขึ้นของสงครามในที่ต่างๆ ทั่วโลก เช่น ความขัดแย้งของอิสราเอลกับปาเลสไตน์ในเรื่องฉนวนกาซา การสู้รบในอิรัก ความขัดแย้งบริเวณเอเชียแถบทะเลจีนใต้ รัสเซีย-ยูเครน เป็นต้น
2. สงครามอุ่น กลายเป็นสงครามร้อน สงครามอภิมหาอำนาจในยุคปัจจุบัน แตกต่างจากในอดีต มีลักษณะที่อยู่ระหว่างสงครามร้อนและสงครามเย็น ผมขอเรียกว่า สงครามอุ่น (Warm War) เป็นการเผชิญความตึงเครียดระหว่างอภิมหาอำนาจ 2 ขั้ว คือ สหรัฐอเมริกา-จีน ปรากฏเป็นสงครามทุกรูปแบบ ทั้งสงครามการค้า สงครามข้อมูลข่าวสาร สงครามเทคโนโลยี เป็นต้น ยกเว้นการทำสงครามทางทหารกันโดยตรงของสองประเทศ
3. สหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องก่อสงครามเพื่อรักษาสถานภาพความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและรักษาเงินดอลลาร์ให้เป็นเงินสกุลหลักของโลก ขณะนี้ความเป็นมหาอำนาจโลกของสหรัฐฯ กำลังโดนท้าทายโดยทั้งจีนและรัสเซีย และสหรัฐฯ พ่ายแพ้เกมทางการเงินแล้วหลังจากวิกฤตการเงิน 2008 ทำให้ FED อาจจะไม่มีเงินสำรองเหลือพอ
วิธีเดียวที่สหรัฐฯ จะเอาตัวรอดได้จากวิกฤตเศรษฐกิจ คือ ต้องก่อสงครามโลกเพื่อที่จะล้างไพ่และหวังว่าจะชนะเพื่อที่จะกลับมาเขียนระเบียบการเงินโลกใหม่อีกครั้ง
ผมมองว่า สงคราม เป็นอุปสรรคต่อสันติภาพของโลกและขัดขวางการสร้างชาติไม่ให้ประเทศสามารถพัฒนาไปสู่จุดสูงสุดของความเจริญได้ การแก้ไขความขัดแย้งและป้องกันไม่ให้เกิดสงครามจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งของโลก
แต่การจะบรรลุผลได้นั้นทุกประเทศทั่วโลกจะต้องพยายามและร่วมมือกันอย่างจริงจัง ผมจึงเสนอแนวคิดสำคัญบางประการที่จะสามารถนำไปประยุกต์ในการสร้างสันติภาพและยุติสงครามทั้งในระดับบุคคล องค์กร ชุมชน และ ประเทศชาติ ดังนี้
1. ให้ วรธรจิต (จิตที่ดี) เป็นประธาน
ผู้เขียนเคย บรรยายเรื่อง วรธรจิต ครั้งแรกในที่ประชุมผู้นำสมัชชาสยามอารยะ 2 ก.พ. 2564 เรื่อง โมเดลทรธรจิต (Terrorism Spirit Model) vs โมเดลวรธรจิต (Terrancist Spirit Model) โดย Terrancist Spirit เป็นคำที่ผู้เขียนสร้างขึ้น จากคำว่า terrance รากศัพท์ภาษาละติน แปลว่า tender, gracious, good
เนื่องจาก เบื้องหลังการกระทำของมนุษย์มาจากจิต สงครามหรือความขัดแย้งระหว่าง บุคคล ชุมชน ประเทศต่างๆ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการเอาผลประโยชน์ เศรษฐกิจ (กิน) สังคม (กาม) การเมือง (เกียรติ) หรือ ทรธรจิต (จิตที่ชั่วร้าย) เป็นตัวนำ
ดังนั้นการจะจัดการความขัดแย้งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีรากฐานชีวิตที่ถูกต้อง คือ การมีจิตเป็นประธาน ไม่เอากายหรือใจมานำหน้า โดยการเปลี่ยนคนที่จิต ซึ่งไม่สามารถทำได้จากการฟังบรรยายเพียงอย่างเดียว แต่พ่อแม่ ครูอาจารย์และผู้นำทางจิตภาพหรือผู้นำศาสนาต้องมีหน้าที่สั่งสอนและเป็นแบบอย่างในการมี วรธรจิต(จิตที่ดี) เพื่อสร้างคนให้มีความเข้าใจถูกต้องสอดคล้องกันไปตลอดทาง
2. มี สัมมาทิฐิ (ความเห็นถูกต้อง)
เนื่องจาก ความขัดแย้งและสงครามเกิดขึ้นจากการมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน หรือบางครั้งคนมีมิจฉาทิฐิ (ความเห็นที่ไม่ถูกต้อง) และจัดการกับความแตกต่างไม่ได้ จนนำไปสู่ความแตกแยก และแตกหัก เช่น สงครามยูเครน-รัสเซีย หรือ อิสราเอล-ฮามาส ที่การไกล่เกลี่ยทางการทูตหรือข้อตกลงสันติภาพไม่เป็นผล เป็นต้น
การมีสัมมาทิฐิ ที่หมายถึง แนวคิดที่ถูกต้อง ความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ถือเป็นองค์แรกในมรรคมีองค์แปด อันเป็นแนวทางสู่การหลุดพ้นจากทุกข์ จะช่วยเปลี่ยนความขัดแย้งเชิงลบเป็นความขัดแย้งเชิงบวก ซึ่งสามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ 2 ระดับคือ ระดับปัจเจกบุคคลโดยการสร้างคนให้มี กระบวนธรรมะ ปัญญา รู้ คิด
เมื่อสามารถ คิด ได้อย่างดี รู้ ลึกกว้างไกล มี ปัญญา ความสว่างแจ่มกระจ่างเข้าใจลึกซึ้ง และ เข้าใจ ธรรมะ แยกแยะผิดชอบชั่วดีก็จะนำไปสู่การมีความเห็นชอบในเรื่องต่างๆ ที่จะส่งผลต่อวิถีชีวิต ที่แสดงออกเป็นความประพฤติภายนอกที่ไม่นำไปขัดแย้งในทางลบ ที่จัดการไม่ได้จนเป็นความขัดแย้งหรือสงคราม
อีกระดับ คือ ระดับสังคม ผมได้เสนอเครื่องมือในการสนทนาระดับสาธารณะเพื่อจัดการกับความเห็นที่แตกต่าง เรียกว่า อารยสนทนา 12 ขั้นตอน ประกอบไปด้วย
1) อารยสดับ (ฟังแบบอารยะ)
2) อารยปุจฉา (ถามอย่างอารยะ)
3) อารยปริทัศน์
4) อารยถกแถลง
5) อารยพิจารณา
6) อารยวาที
7) อารยปรึกษา (กรณีต้องตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง)
8) อารยเสวนา (กรณีที่ข้อสรุปที่ได้ จะนำไปสู่ภาคปฏิบัติ)
9) อารยญัตติ
10) อารยมติ (กรณีประเด็นสาธารณะที่ต้องมีการลงมติ)
11) อารยวิสัชนา
12) อารยพันธกิจ โดยการสนทนาระดับสาธารณะที่เป็นขั้นเป็นตอน มีความอารยะ ความเห็นที่ต่างกันของคนต่างๆ สังคมก็จะสามารถหาทางออกที่นำไปสู่สันติภาพได้
3. ยึดหลัก ธรรมะสากล
เนื่องจาก องค์กร ชุมชน ประเทศชาติประกอบด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา สังคมจึงไม่สามารถนำหลักคำสอนของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาใช้เป็นหลักในการปกครองได้ เพราะมักจะไม่ครอบคลุมและมักขัดแย้งเรื่องจริยธรรมกระทบส่วนบุคคล (personal ethics) และจริยธรรมกระทบส่วนสังคม (social ethics) จึงมีแนวโน้มที่จะสร้างความขัดแย้งมากกว่า
ประเทศจึงควรส่งเสริมธรรมะที่ทุกคนในสังคมเห็นพ้องต้องกันว่า ดีแท้ งามแท้ จริงแท้ ควรค่าแก่การยึดถือไว้ เชิดชูไว้ โดยผมขอเรียกสิ่งนี้ว่า ธรรมะสากล ซึ่งผมได้สกัดตัวร่วมต่ำสุดจากหลักธรรมะในศาสนาและความเชื่อต่างๆ ออกมาทั้งสิ้น 10 ประการ ได้แก่
1) มนุษยธรรมนิยม 2) มนุษยนิยม 3) เสรีธรรมนิยม 4) สิทธิเสมอหน้าที่นิยม 5) ยุติธรรมนิยม 6) ภราดรธรรมนิยม 7) สามัคคีธรรมนิยม 8) สันติธรรมนิยม 9) อภัยธรรมนิยม 10) สิ่งแวดล้อมนิยม ผมเชื่อว่าธรรมะสากลนี้สามารถนำมาใช้เป็น ‘ฐานธรรมะ’ ที่คนทุกกลุ่มในสังคมจะยอมรับร่วมกันได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับความแตกต่างทางศาสนา หรือความเชื่อ และจะช่วยนำไปสู่การสร้างชาติสู่ความอารยะต่อไปได้ในที่สุด
การนำแนวคิดธรรมะสากลไปประชาสัมพันธ์ให้เกิดการขยายผลให้กว้างขวางที่สุดในทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทุกชุมชน ทั้งระดับใหญ่ ระดับย่อยและบูรณาการกับหลักสูตรการศึกษาเพื่อสอนคนในทุกระดับ อาจช่วยให้แนวคิดธรรมะสากลถูกเผยแพร่และเข้าถึงกลุ่มคนต่างๆ มากขึ้นและนำไปสู่การยึดถือและปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้เกิดสร้างสันติภาพในสังคมมากขึ้นได้ในที่สุด
การสร้างสันติภาพในโลกในทางปฏิบัติอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า การยุติสงครามและสร้างสันติภาพโลกถาวรนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชากิจ องค์กรระหว่างประเทศ และประชาชนทั่วไป ทุกคนต้องมีส่วนส่งเสริมสันติภาพในบทบาทที่ตนเองรับผิดชอบสูงสุด
เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ปลูกฝังค่านิยมแห่งสันติ เคารพในความแตกต่าง และร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นรากเหง้าของความขัดแย้งเชิงลบและเปลี่ยนเป็นความขัดแย้งเชิงบวกที่เสริมสร้าง และแม้ว่าหนทางสู่สันติภาพจะเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่หากทุกคนมีอุดมการณ์เดียวกัน มุ่งมั่นตั้งใจทำตามเป้าหมายก็จะสามารถบรรลุและทุกคนจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในโลกอย่างมีสันติภาพได้อย่างแท้จริง
แหล่งที่มา : cioworldbusiness
28/06/2024
แหล่งที่มาของภาพ : https://www.cioworldbusiness.com/wp-content/uploads/2024/06/no-war-750x450.jpg
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando