เหตุผลที่ ปาร์ตี้ลิสต์ ควรมีต่อไป
ประเด็นสำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประการหนึ่ง ได้แก่ ข้อถกเถียงเกี่ยวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (party list) ยังควรมีและจำเป็นต่อสังคมการเมืองไทยต่อไปอีกหรือไม่?
หลายฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นทั้งในมุมเห็นว่า ควรมีต่อไป และเห็นว่า ควรยกเลิก ซึ่งสำหรับประเด็นนี้ ในทัศนะของผม คิดว่า ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นั้นยังคงมีความสำคัญ เพราะมีข้อดีหลายประการ อาทิ
1. เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีชื่อเสียงและประสบการณ์เข้ามาทำงานการเมือง ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ อาจไม่มีความถนัดในการลงพื้นที่หาเสียงหรือไม่มีฐานเสียงในพื้นที่มากเพียงพอ ทั้ง ๆ ที่มีความปรารถนาเข้ามาทำงานเพื่อช่วยพัฒนาประเทศชาติ
ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 และ 2548 ที่มีบุคลากรดังกล่าวจำนวนมากสนใจและลงสมัครรับเลือกตั้งในพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งทำให้มีผู้แทนราษฎร ที่มีประสบการณ์ในบริหารงานระดับชาติ ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ตลอดจนเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงเข้ามาทำงานทางการเมืองและบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคลากรดังกล่าวได้เข้ามามีส่วนรับผิดชอบในการคิดและผลิตเป็นนโยบายของพรรคซึ่งจะกลายเป็นนโยบายในการบริหารประเทศหากได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
2. คะแนนเสียงสะท้อนคะแนนนิยมพรรคได้อย่างสมเหตุสมผล การมีผู้สมัครแบบปาร์ตี้ลิสต์จะทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีค่าโดยนำมาคิดเป็นสัดส่วนที่นั่งที่พรรคการเมืองควรจะได้ กล่าวคือ เมื่อประชาชนลงคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งคะแนนนั้นจะไม่สูญหายไปแต่จะนำมารวมเป็นคะแนนทั้งประเทศ หลังจากนั้นจึงนำมาคิดสัดส่วนจำนวนที่นั่ง ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นควรจะได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ขณะที่การเลือกตั้งแบบเดิมก่อนปี 2540 คะแนนเสียงของเราจะไม่ถูกนับหรือถูกปัดทิ้งไปอย่างไร้ค่าหากผู้สมัครที่เราลงคะแนนเสียงเกิดแพ้คู่แข่งขันอื่น ทำให้ไม่สะท้อนคะแนนนิยมที่ได้รับจากประชาชนอย่างแท้จริง
3. ขยายพื้นที่ทางการเมืองให้คนรุ่นใหม่ ดังจะเห็นได้ว่านักการเมืองอาวุโสที่เป็นผู้แทนมาหลายสมัยในเขตเลือกตั้งของจังหวัดต่าง ๆ มักผันตนเองมาลงสมัครในแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่หรือนักการเมืองท้องถิ่นที่อุทิศตนทำงานให้กับท้องถิ่น ได้มีโอกาสลงสมัครเลือกตั้งและเข้ามาทำงานทางการเมืองระดับชาติแทนนักการเมืองอาวุโส
4. เปิดพื้นที่ให้กับพรรคขนาดเล็กให้มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร หากเราแก้ไขสัดส่วนของจำนวน ส.ส. ที่พรรคควรได้รับตามที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งจาก 5% ให้ลดลงเหลือเพียง 1 ndash; 3% หรืออาจคำนวณสัดส่วนจากผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ เช่น สัดส่วนของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน (กำหนดให้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน) จะต้องได้คะแนนเสียงประมาณ 300,000 เสียง ตัวเลขนี้จะช่วยเปิดโอกาสให้กลุ่มตัวแทนของคนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มผลประโยชน์ได้มีโอกาสเข้ามาทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร
การเลือกตั้งในระบบนี้จะช่วยให้พรรคที่เป็นตัวแทนของคนกลุ่มน้อยหรือตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะด้านมีโอกาสได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ เป็นปากเป็นเสียงหรือเสนอกฎหมายเฉพาะด้านให้กับท้องถิ่น ภูมิภาคและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ
5. ส่งเสริมให้การเมืองของประเทศไทยในอนาคตเข้มแข็ง ทั้งนี้ เนื่องจากการเมืองจะพัฒนาได้ต้องประกอบด้วย 2 ส่วน คือ พรรคการเมืองและภาคประชาชน การเลือก ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อสะท้อนการเลือกพรรคหรือนิยมชมชอบในพรรคนั้น ซึ่งจะส่งเสริมให้พรรคต้องมีนโยบายที่ประชาชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนสนใจในการดำเนินนโยบายของพรรคมากขึ้น อันเป็นจุดเริ่มต้นอันดีในการนำประชาชนไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
หากพิจารณาในข้อดีของการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อแล้ว น่าจะยังคงเป็นประโยชน์ต่อการเมืองไทยมากกว่าที่จะตัดทิ้งไป หากเพียงแต่เราต้องใคร่ครวญเพื่อหาทางอุดช่องว่างของปัญหาที่เกรงว่าจะซ้ำรอยอดีตที่ผ่านมา
Catagories:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2007-02-18
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 122 ครั้ง
คนไทยเรียนรู้อะไร จากบทเพลงสุดท้ายของพี่ศรี
Total views: อ่าน 60 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร
Total views: อ่าน 219 ครั้ง
บทบาทของไทยและอาเซียนต่อการรวมเกาหลีให้เป็นหนึ่งเดียว
Total views: อ่าน 1,981 ครั้ง
การสร้างคุณภาพชีวิตเมืองเพื่อการสร้างชาติ ด้วยโมเดลเมืองน่าอยู่ 12 มิติ: Dr.Dan Can Do’s Livable City Model
Total views: อ่าน 2,601 ครั้ง