AEC ทำให้การพัฒนาประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? (4)
หลังจากที่ผมได้นำเสนอการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาประเทศไทยซึ่งเป็นผลจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มาแล้ว 5 ประเด็น พบว่า ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมและพัฒนาประเทศด้วยมุมมองและในทิศทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง พัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถให้โดดเด่นท่ามกลางนานาประเทศ ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างความไว้วางใจระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน รวมถึงมียุทธศาสตร์ในการวางตัวอย่างเหมาะสมกับประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ เพื่อมีช่องทางและโอกาสในการพัฒนาและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศอย่างสอดคล้องกับทิศทางของโลก
บทความนี้ ผมจะนำเสนอ 2 ประเด็น คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ (space) ของการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงมิติของการเชื่อมโยง
ประการที่ 6 การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ของการพัฒนา
การเปิด AEC จะทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ของการพัฒนาประเทศไทย คือ เปลี่ยนแปลงจากการกระจุกตัวของการพัฒนาสู่การกระจายมากขึ้น เนื่องจาก AEC มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan of ASEAN Connectivity) โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร และพลังงาน ที่มีการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ เช่น โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงอาเซียน โครงการสร้างทางรถไฟสิงคโปร์ ? คุนหมิง โครงการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้า ท่อส่งก๊าซ และโครงข่ายอินเทอร์เน็ตของอาเซียน เป็นต้น
AEC ได้รับการคาดการณ์ว่า จะมีการลงทุนสูงถึง 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานช่วง 10 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมระหว่างประเทศตามกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งประกอบด้วย 3 เส้นทาง ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก ? ตะวันตก เชื่อมโยงระหว่างเมืองเมาะละแหม่งของเมียนม่าร์ ผ่านประเทศไทย ลาว และสิ้นสุดที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมโยงระหว่างนครคุนหมิง ประเทศจีน ผ่านเชียงราย ไปสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ และระเบียงเศรษฐกิจแนวใต้ เชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งเชื่อมต่อกับโครงการมอเตอร์เวย์ระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวายและท่าเรือแหลมฉบัง
การลงทุนนี้จะก่อให้เกิดโอกาสการพัฒนาทั้งทางตรงและทางอ้อม การพัฒนาทางตรงที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะโครงการดังกล่าวจะมีการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่ามหาศาล ซึ่งธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์มีตั้งแต่บริษัทที่ปรึกษา สำรวจ และออกแบบ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง ผู้ผลิตรถไฟและระบบอาณัติสัญญาณในการควบคุมการเดินรถ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงธุรกิจร้านค้าต่างๆ เป็นต้น ส่วนโอกาสการพัฒนาทางอ้อม ได้แก่ การกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ห่างไกล และมีเขตเศรษฐกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ตามแนวเส้นทางที่ถนนและระบบรางตัดผ่าน และบริเวณพรมแดนที่เป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศ
มากกว่านั้นมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของเมืองในประเทศกำลังพัฒนาจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เมืองในตลาดเกิดใหม่ (emerging market cities) จำนวน 440 เมือง จะมีส่วนแบ่งในอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกถึงร้อยละ 47 ระหว่างปี พ.ศ. 2553 - 2568 โดยเฉพาะเมืองในประเทศจีน เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีส่วนแบ่งถึงร้อยละ 33 ส่วนครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่า 7,500 เหรียญสหรัฐ (PPP) ต่อปีใน 440 เมือง จะเพิ่มขึ้นจาก 235 ล้านครัวเรือนในปี พ.ศ. 2553 เป็น 461 ล้านครัวเรือนในปี พ.ศ. 2568 ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายตัวของเขตเมือง คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางคมนาคมและระบบขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้การเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศและระหว่างเมืองมีต้นทุนต่ำลง เกิดการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น
ประการที่ 7 การเปลี่ยนแปลงมิติของการเชื่อมโยง
การเปิด AEC ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของมิติของการเชื่อมโยง กล่าวคือ จากการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจเป็นการเชื่อมโยงด้านประชาชน โดยก่อนจะเกิด AEC อาเซียนมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA จัดตั้งเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2536 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของประเทศสมาชิกในการเจรจาระหว่างประเทศ ดึงดูดการลงทุน และลดภาษีศุลกากรในกลุ่มสมาชิก เน้นการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจเป็นหลัก จากนั้นในการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี พ.ศ. 2546 ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนตกลงกันที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียน
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ปี พ.ศ. 2553 ผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศตกลงรับรองแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน เพื่อความเป็นปึกแผ่นของประชาคมอาเซียน แม้ว่าการเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจมีความสำคัญ แต่การเชื่อมโยงด้านประชาชนจะได้รับความสำคัญเพิ่มมากขึ้น
การเชื่อมโยงด้านประชาชน สามารถเกิดขึ้นผ่าน
(1) การแลกเปลี่ยนทางการศึกษา โดยโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัย
ไทยและมหาวิทยาลัยอาเซียนมีจำนวนเพิ่มขึ้น
(2) การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม โดยรัฐบาลไทยมีนโยบายในการเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน
เรียนรู้ทางวัฒนธรรมภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ทั้งนี้อาเซียนได้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนขึ้นเป็นแห่งแรกของภูมิภาค เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2558
(3) การท่องเที่ยว กล่าวคือ จำนวนนักท่องเที่ยวในอาเซียนด้วยกันเองขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
จากสถิติในปี พ.ศ. 2556 พบว่า มีการขยายตัวร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2555
การเปลี่ยนแปลงมิติของการเชื่อมโยง จะเปลี่ยนจากการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจไปสู่การเชื่อมโยงด้านประชาชนมากขึ้น ทำให้การกำหนดนโยบายของภาครัฐมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพิ่มขึ้น และผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจส่งผลในวงกว้างมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่หรือมิติการเชื่อมโยง ประเทศไทยจะต้องเร่งพัฒนาศักยภาพให้ตรงตามอัตลักษณ์ จุดแกร่งและจุดแข็งของประเทศ รวมทั้งต้องพัฒนาอย่างสมดุลทั้งในมุมของประชาชน ภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ผมยังมีการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาประเทศไทยซึ่งเป็นผลจาก AEC อีก 2 ประเด็นที่มีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน ซึ่งจะนำเสนอในบทความครั้งต่อไป
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
แหล่งที่มาของภาพ : http://blogs.worldbank.org/ic4d/files/ic4d/connect_id.jpg
Catagories:
Tags:
Post date:
Tuesday, 16 February, 2016 - 16:26
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 127 ครั้ง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 162 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 156 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,433 ครั้ง
แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย
Total views: อ่าน 1,482 ครั้ง