วิเคราะห์มาตรการแก้ไขหนี้ภาคประชาชน

มาตรการแก้ไขหนี้ภาคประชาชนของรัฐบาลอาจสร้างความเสี่ยงในเรื่องศีลธรรม สถาบันการเงินของรัฐรับภาระหนี้เสีย เสนอ 3 มาตราการอุดรอยรั่วคือ มาตรการคัดกรองลูกหนี้ มาตรการสร้างค่านิยม และมาตรการเสริมสร้างศักยภาพ

การที่รัฐบาลประกาศมาตรการแก้หนี้ภาคประชาชน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อบรรเทาภาระหนี้แก่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย และเป็นลูกหนี้ในสถาบันการเงินที่เดือดร้อน ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ให้มีโอกาสฟื้นฟูสภาพในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพการงาน รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนให้มีความคืบหน้าอย่างแท้จริงนั้นถือว่าเป็นแนวทางที่เกิดจากความตั้งใจดีของรัฐบาล แต่สิ่งที่ผมมีความห่วงใยว่าแนวทางการแก้ไขหนี้เสียนี้ อาจทำให้เกิดการสุ่มเสี่ยงดังนี้

ความเสี่ยงทางศีลธรรม หรือ Moral Hazard เนื่องจากการที่รัฐบาลลดเงินต้นร้อยละ 50 อาจจะส่งผลเสียต่อวัฒนธรรมการชำระหนี้ของประชาชน ก่อให้เกิดแรงจูงใจให้คนตอบสนองแบบผิด ๆ เพราะการเป็นลูกหนี้ NPL ได้รับประโยชน์มากกว่า แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศว่าจะดำเนินการเพียงครั้งเดียว แต่การประกาศแก้ไขปัญหาหนี้ทุก ๆ ครั้งได้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเสมอ ดังเช่นกรณีการลงทะเบียนคนจน มีลูกหนี้ในระบบสถาบันการเงินถึง 90% ที่เข้าใจผิด คิดว่ารัฐบาลจะยกหนี้ให้ การที่รัฐจัดทำโครงการแก้ปัญหาหนี้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 4 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน นับเป็นการส่งสัญญาณที่เป็นอันตราย และสร้างค่านิยมว่ารัฐบาลจะต้องเข้ามาแก้ไขหนี้อีกในอนาคต

ความเสี่ยงที่สถาบันการเงินของรัฐต้องรับภาระหนี้เสีย การที่รัฐบาลให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือนแก่ลูกหนี้ที่มีงานทำแต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ครบก่อน 6 เดือน ทำให้ธนาคารต้องเข้ามาแบกรับความเสี่ยงในการปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มลูกหนี้ที่เคยมีประวัติหนี้สูญมาก่อน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงว่าจะเกิดหนี้สูญขึ้นอีก รัฐบาลยังไม่มีหลักประกันว่า ลูกหนี้ ที่เข้าร่วมโครงการจะไม่กลับมาเป็น NPL รอบใหม่อีก และไม่มีโครงการต่อเนื่องมาช่วยลูกหนี้ที่เข้าโครงการ เพื่อช่วยให้ฟื้นตัวได้แบบยั่งยืน แต่เป็นเพียงเปลี่ยนเจ้าหนี้รายใหม่เท่านั้น

นอกจากนี้ความไม่รอบคอบในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น ความไม่ชัดเจนในเงื่อนไขเวลาการเป็น NPL การไม่คัดกรองลูกหนี้ที่พฤติกรรมไม่ดี และความไม่ชัดเจนในการจัดลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือลูกหนี้ จะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้มาตรการดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชนที่แท้จริง

ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอเสนอมาตรการอุดรอยรั่วของมาตรการแก้ไขหนี้สินภาคประชาชนของรัฐบาล โดยการกำหนดมาตรการเสริมใน 3 ด้านคือ มาตรการคัดกรองลูกหนี้ โดยการช่วยลูกหนี้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จริง ๆ เป็นอันดับแรก และกำหนดหลักเกณฑ์ด้านระยะเวลาการเป็น NPL อย่างมีเหตุผล มาตรการสร้างค่านิยม ให้ความรู้กับลูกหนี้ในการบริหารจัดการด้านการเงิน การลงทุน ควบคู่ไปกับการสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง เช่น วินัยการใช้จ่าย รับผิดชอบ ไม่อยากเป็นหนี้ ประหยัด การเก็บออมไปพร้อมกัน มาตรการเสริมสร้างศักยภาพ เพื่อรองรับให้ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการไม่กลับมาเป็น NPL รอบใหม่ เช่น โครงการอบรมอาชีพเพื่อสร้างอาชีพ จัดหางานเพื่อให้ลูกหนี้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2005-10-29