แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย

การพัฒนา ทุนมนุษย์ ยังถือว่ามีความจำเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต เพราะทุนมนุษย์ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ซึ่งเป็นสังคมความรู้ สังคมปัญญา และสังคมความดี ผู้เขียนขอเสนอแนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์ ไว้ในบทความนี้ 

ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาหลายประการในปัจจุบัน เช่น การสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน การติดกับดักรายได้ปานกลาง ผลิตภาพแรงงานต่ำ ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้เกิดการขาดแคลนประชากรวัยแรงงาน เป็นต้น

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนทุนมนุษย์ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เห็นได้จากการที่ธนาคารโลกระบุ ผลการจัดอันดับดัชนีทุนมนุษย์ ปี พ.ศ. 2563 (Human Capital Index) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 63 จาก 216 ประเทศทั่วโลก

ผมนิยามคำว่า “ทุน” ว่าหมายถึง “ความเอกอุ” เนื่องจากทุนมีลักษณะเป็นปัจจัยการผลิตที่สามารถสร้างผลผลิตหรือสร้างคุณค่าได้ มีความคงทน ใช้แล้วไม่หมดไป สามารถสะสมได้ สามารถสร้างเพิ่มเติม หรืออาจทำซ้ำได้ แต่อาจเสื่อมค่าลงได้เช่นกัน

คำว่า ทุนมนุษย์ แตกต่างจากทรัพยากรมนุษย์ เพราะทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยการผลิต ที่มีคุณค่า มีประโยชน์ และให้ความหมายในเชิงปริมาณของแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่ ทุนมนุษย์ ให้ความหมายในเชิงคุณภาพ คุณค่าและความสามารถของมนุษย์

หากประเทศไทยต้องการหลุดจากปัญหาต่างๆ และก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง จำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างจริงจัง และการพัฒนาทุนมนุษย์ยังถือว่ามีความจำเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

เพราะทุนมนุษย์ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ซึ่งเป็นสังคมความรู้ สังคมปัญญา และสังคมความดี ผมจึงเสนอแนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์ ไว้ดังนี้

1. การพัฒนาสุขสภาพ กาย ใจ จิต
การสำรวจวรรณกรรมทางวิชาการ พบว่า แนวคิดการพัฒนาทุนมนุษย์โดยส่วนใหญ่ถูกพิจารณาเฉพาะมิติร่างกายเป็นหลัก ซึ่งเป็นแนวคิดที่ให้น้ำหนักไม่ครบถ้วน เพราะมนุษย์ไม่ได้มีเพียงมิติร่างกายเท่านั้น

แต่ยังมีมิติจิตใจที่เกี่ยวข้องกับความคิด อารมณ์ เจตนา และมิติทางจิตวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับจิตสำนึก จิตมโนธรรม และจิตอุดมการณ์ด้วย และที่สำคัญกาย ใจ จิต นั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ผมจึงเสนอว่า การพัฒนาทุนมนุษย์ต้องพัฒนาครบและพัฒนาอย่างบูรณาการ ทั้งสุขสภาพ กาย ใจ จิต

การพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยควรได้รับการพัฒนาครบทั้งคน ระบบ และบริบท ทั้งการสร้างความตระหนักด้านสุขสภาพ (wellness) การพัฒนาความรู้และทักษะด้านสุขสภาพของประชาชน การพัฒนาคุณภาพของระบบสุขภาพ การศึกษา ครอบครัว สถาบันทางสังคม และสถาบันศาสนา รวมทั้งการส่งเสริมอุตสาหกรรมและระบบนิเวศน์ที่เกี่ยวกับสุขสภาพ

ทั้งนี้ผมได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขสภาพของประเทศไทยว่า เราควรกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาให้ประเทศไทยเป็น เมืองหลวงสุขสภาพโลก ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จุดแกร่งของประเทศไทยร่วมกับ การเป็นเมืองหลวงอาหารโลก เมืองหลวงการท่องเที่ยวโลก และเมืองหลวงอภิบาลคนชราโลก เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาสุขสภาพของคนในประเทศ และยังตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ เพราะอุตสาหกรรมสุขสภาพกำลังเติบโตทั่วโลก

ผมยังได้เสนอแนวคิด สุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพ (Golden Zone Wellness) กล่าวคือ การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในประเทศไทยที่ผู้คนมีอายุยืนยาว สุขภาพดี และมีความสุข เพื่อเป็นแบบอย่างและขยายผลการพัฒนาไปทั่วประเทศ และเพื่อรองรับผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการพัฒนาสุขสภาพองค์กรสู่องค์กรสร้างชาติ (Wellness Corporate Nation-Building)

ซึ่งเป็นความพยายามวางระบบเพื่อส่งเสริมสุขสภาพของคนในชาติที่อยู่ในองค์กรประเภทต่าง ๆ และช่วยสร้างบริบทให้เกิดความตระหนัก เห็นคุณค่าและความสำคัญของสุขสภาพ เพราะผมเชื่อว่าคุณภาพคนไม่สามารถเกิดได้จากการเข้าสู่ระบบการศึกษาเท่านั้น แต่ต้องเกิดจากสภาพที่ดีของมนุษย์ทั้งทางกาย ใจ จิต และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขสภาพด้วย

2. การพัฒนาการคิด 4 ทิศ: คิดเป็น คิดดี คิดบวก คิดครบ
การพัฒนาทุนมนุษย์มีปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การพัฒนาความคิด เพราะความคิดเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นส่วนที่ลึกที่สุดของมนุษย์ หากเปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยนได้ ผมได้เสนอ ทฤษฎีกระบวนการแสดงออกของมนุษย์ (Dr. Dan’ s Human Manifestation Process Theory)

ระบุว่า การคิด (Thinking) นำไปสู่ การรู้ (Knowing) นำไปสู่ ความเป็นตัวตน (Being) นำไปสู่ วิถีชีวิต (Living) และนำไปสู่ การสำแดงหรือการแสดงออก เช่น การพูด การเขียน การกระทำ (Manifesting) ดังนั้นการเปลี่ยนคนอย่างยั่งยืน ต้องเปลี่ยนคนในส่วนลึกที่สุด คือ ความคิด

การพัฒนาทุนมนุษย์ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาการคิด ซึ่งผมได้นำเสนอแนวคิด กระบวนคิด 4 ทิศ ประกอบด้วย คิดเป็น (ทักษะการคิด: การคิด 10 มิติ) คิดบวก (ทัศนคติการคิด) คิดดี (คุณธรรมการคิด) คิดครบ (ระบบการคิด: คิดเป็นระบบ) เพื่อพัฒนาคนให้มีกระบวนคิดที่สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์การคิดที่มีพลัง และกระบวนคิดยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนากระบวนรู้ กระบวนปัญญา และกระบวนธรรมะ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นในการพัฒนาทุนมนุษย์ในยุคสังคมความรู้ สังคมปัญญา และสังคมความดี

3. การพัฒนาวิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต
การพัฒนาทุนมนุษย์อย่างสมบูรณ์ ไม่ได้มีเพียงการพัฒนาความรู้ของมนุษย์เท่านั้น แต่ควรได้รับการพัฒนาทั้ง ความรู้ ปัญญา ความดี ครบทุกองค์ประกอบ เพื่อให้สามารถนำทั้งสามสิ่งนี้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงานได้ ซึ่งแนวทางการพัฒนาทั้งสามด้านนี้ ผมเรียกว่า การพัฒนาวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต

1) ด้านวิชาการ คือ การพัฒนาเพื่อให้ได้ ความรู้ ซึ่งต้องทำให้คนมีทั้งความรู้ลึก รู้กว้าง และรู้ไกล สามารถเลือกประยุกต์ใช้ความรู้ได้อย่างเหมาะสม โดยการจัดหลักสูตรให้มีการบูรณาการความรู้จากศาสตร์ต่างๆ การนำแต่ละวิธีการเรียนรู้มาผสมผสานให้ได้มาซึ่งความรู้ที่หลากหลาย การส่งเสริมให้มีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายและเข้าได้ง่าย การส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และการจัดระบบทดสอบและเทียบโอนความรู้จากการศึกษาในโหมดต่างๆ

2) ด้านวิชาชีพ คือ การพัฒนาเพื่อให้ได้ชุดสมรรถนะที่สามารถนำไปใช้ทำงานได้จริง ซึ่งการพัฒนาด้านวิชาชีพจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นบนฐาน ความรู้ ปัญญา ความดี เพื่อให้มีความเข้าใจพื้นฐานความรู้ที่รองรับแนวปฏิบัติ มีปัญญาสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในการทำงานได้อย่างเหมาะสม และอยู่บนฐานคุณธรรมและจริยธรรมในการปฏิบัติวิชาชีพ

ทั้งนี้การพัฒนาด้านวิชาชีพควรคำนึงถึงสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในแต่ละยุคสมัยและสอดคล้องกับจุดแกร่งและทิศทางการพัฒนาชุมชนและประเทศ อาทิ ความรู้และทักษะการใช้เทคโนโลยีร่วมสมัย การคิดค้นนวัตกรรม การจัดการ การประกอบการ การทำงานเป็นทีม การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ การพัฒนาสุขสภาพ การอภิบาลคนชรา ภาษาต่างประเทศ เป็นต้น

3) ด้านวิชาชีวิต คือ การพัฒนา ความรู้ ปัญญา ความดี ที่จำเป็นต่อการมีชีวิตอย่างมีคุณค่าและสร้างประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตนเองและส่วนรวม โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อให้ได้มาซึ่งปัญญาและความดี เพราะปัญญาเป็นมากกว่าความรู้และเป็นฐานของความดี คนมีความรู้อาจจะไม่มีปัญญา และการมีปัญญาจะนำไปสู่ความดี และมีเป้าหมายในการสร้างคนให้เป็นคน ดี เก่ง กล้า

ตัวอย่างแนวทางการพัฒนาวิชาชีวิต เช่น การศึกษาเพื่อให้เข้าใจหลักปรัชญาชีวิตที่ดีแท้ งามแท้ จริงแท้ การศึกษาปรัชญาการอยู่ร่วมกันในสังคมที่พึงประสงค์ การศึกษาเพื่อให้เข้าใจตนเอง การพัฒนาคนให้เต็มศักยภาพ การพัฒนาจิตสาธารณะ การพัฒนาทักษะทางสังคม การศึกษาเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่พลเมือง เป็นต้น

การพัฒนาทุนมนุษย์เป็นยุทธศาสตร์คานงัดที่จำเป็นสำหรับประเทศไทย และจำเป็นต่อการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประเทศไทยเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยการพัฒนาทั้งกาย ใจ จิต การพัฒนากระบวนคิด และการพัฒนาครบทั้งความรู้ ปัญญา และความดี นอกจากนี้ ผมยังมีข้อเสนอแนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์ที่สำคัญอีก 3 ประการ ซึ่งจะนำเสนอในบทความต่อไป

รายการอ้างอิง

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2544). ลายแทงนักคิด. ซัคเซส พับลิชชิ่ง.

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2556). ชีวิตคิดบวก สไตน์ ดร.แดน. ซัคเซส มีเดีย.

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2559). คนเก่ง สร้างได้ : โมเดล สมรรถนะ KSL31220. ซัคเซส พับลิชชิ่ง.

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2561). คิดเป็นระบบ : Systematized Thinking. ซัคเซส พับลิชชิ่ง.

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2563). คิดดี เสน่ห์ดึงดูดคนดี. ซัคเซส พับลิชชิ่ง.

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2564). ประเทศไทย เมืองหลวงโลก 4 ด้าน. กรุงเทพธุรกิจ.

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2565). สุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพ : สุขสถานะของศตวรรษิกชน. ซัคเซส พับลิชชิ่ง.

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2565). โครงการพัฒนาสุขสภาพองค์กรสู่องค์กรสร้างชาติ (Wellness Corporate Nation-Building: Wellness CNB). วันที่ 5 เมษายน 2565 จัดโดยสถาบันสร้างชาติ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน.

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์. ภาพรวมการจัดอันดับของไทย. เข้าถึงได้จาก ภาพรวมการจัดอันดับของไทย – สพธอ. (etda.or.th) 

 

แหล่งที่มา : cioworldbusiness.com
24/7/2566

แหล่งที่มาของภาพ : https://www.cioworldbusiness.com/wp-content/uploads/2023/07/Human-Capital-Dr-Dan-750x450.png 

https://www.freepik.com/free-photo/business-man-woman-sitting-money_6657302.htm#page=3&query=Human%20capital&position=16&from_view=search&track=ais

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando