สภานิติบัญญัติแห่งชาติบทพิสูจน์ตัวเอง
เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
ldquo;การล็อกตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้นเพื่อให้มีผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญให้มีการสืบทอดอำนาจแบบเดียวกับคณะรสช ก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีข่าวปรากฏหนาหูทางสื่อมวลชนทุกสำนักว่ามีการล็อบบี้และล็อกโผไว้เรียบร้อยแล้ว แม้ใครจะเป็นคู่แข่ง แม้ใครจะทักท้วงประการใดก็ไร้ความหมาย อีกทั้งมีการตั้งข้อสังเกตว่า
สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่เป็นทั้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา จึงเป็นองค์กรที่มีความสำคัญทั้งต่อการพิจารณาร่างกฎหมายและร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ประชาชนจึงมีความคาดหวังว่าบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เป็นคนดีมีคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพ ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายโดยปราศจากข้อกังขา
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปรียบเหมือนฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องคอยตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาล ดังนั้น หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นพวกเดียวกับรัฐบาลหรือเป็นตรายางที่คอยประทับตรากฎหมายของรัฐบาลแล้ว จึงไม่ต่างอะไรกับระบอบทักษิณที่ทำให้กลไกในการตรวจสอบพิกลพิการ ทำงานไม่ได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี แม้ในเวลานี้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูว่าประวัติศาสตร์กำลังเดินซ้ำกับรอยเดิมสมัย รสช. หรือไม่ ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมมองว่าเรายังไม่ควรด่วนสรุปหรือรวบรัดตัดสินทันทีในสิ่งที่ยังไม่เกิด แต่ควรเปิดโอกาสให้ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติและตัวท่านประธานมีชัยเอง เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ เพื่อพิสูจน์ข้อครหาที่เกิดขึ้น ฉะนั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติจำเป็นต้องกอบกู้ภาพพจน์ที่ดีผ่านการทำงานครั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจและเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา โดยผมมีข้อคิดเห็นบางประการ ดังนี้
ให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่กำลังจะมีขึ้น หรือในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่ถูกบีบด้วยระยะเวลาเพียง 1 ปีเศษ สภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องเป็นองค์กรที่มีบทบาทและผลักดันให้มีการรับฟังเสียงของประชาชนและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากที่สุด อาทิ สนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมาธิการภาคประชาชนเพื่อติดตามตรวจสอบการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาชนเข้าร่วมประชุมและมีสิทธิแสดงความคิดเห็นด้วยทุกครั้ง การทำประชาพิจารณ์ในร่างกฎหมายที่สำคัญเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อสภานิติบัญญัติ เป็นต้น
โปร่งใส ไม่หมกเม็ด การปฏิบัติหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องมีความโปร่งใสอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาร่าง กฎหมายต่าง ๆ รวมถึง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง สามารถตอบคำถามและชี้แจงข้อสงสัยต่อประชาชนได้ โดยต้องแถลงความคืบหน้าของการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อประชาชนทุกไตรมาส ผ่านสื่อฯทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ถ่ายทอดสดเพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับรู้ข้อมูลอย่างถูกต้อง เป็นต้น
ตรวจสอบโดยภาคประชาชนได้ ต้องยอมรับว่าในเวลานี้เป็นช่วงสุญญากาศการเมืองไทย กลไกการตรวจสอบโดยระบบกฎหมายไม่มี ดังนั้น การตรวจสอบโดยภาคประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง จึงควรจัดให้มีเวทีสาธารณะเวียน ไปตามภูมิภาคต่าง ๆในทุก ๆ ไตรมาส มีการเสวนา โดยเปิดเผยข้อมูลการประชุม รายงานผลการทำงานและ เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถซักถามข้อสงสัยได้ เพื่อเปิดให้สังคมไทยตรวจสอบการทำงานของสภานิติบัญญัติได้อย่างเต็มที่