ร่วมเป็น ? นักวิชาการสังกัด ?
นอกเหนือจากตำแหน่ง fellow แล้ว ยังมีอีกตำแหน่งหนึ่งที่มีความน่าสนใจและน่ากล่าวถึงเช่นกัน นั่นคือ ตำแหน่ง Associate ผมขอแปลเป็นไทยว่า นักวิชาการสังกัด ขณะที่อยู่ที่นี่ ผมได้รับเชิญจากศูนย์ศึกษากิจการระหว่างประเทศเวเธอร์เฮด (Weatherhead Center for International Affairs) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้เป็นนักวิชาการสังกัดที่นี่ ศูนย์แห่งนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับนานาประเทศทั่วโลก เป็นศูนย์วิจัยเกี่ยวกับกิจการระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดใน Faculty of Arts and Sciences มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ตำแหน่ง นักวิชาการสังกัด (Associate) ของศูนย์แห่งนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท อันได้แก่ Faculty Associate นักวิชาการกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นศาสตราจารย์ในภาควิชาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ทำงานวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องกับนานาประเทศ และระหว่างประเทศ ศูนย์จะเชิญศาสตราจารย์ที่มีการทำงานที่โดดเด่นเกี่ยวกับกิจการระหว่างประเทศ หรือทำงานการวิจัยนานาประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งเป็น Faculty Associate ยกตัวอย่างเช่น ศาสตราจารย์ไมเคิล เฮอร์ซเฟล เป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา ที่มีงานวิจัยในหลายๆ ประเทศในเอเชียเช่นเดียวกับ ศาสตราจารย์ริคาร์โด เฮ้าส์แมน เป็นศาสตราจารย์ประจำ Kennedy School of Government ซึ่งทำงานวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศลาตินอเมริกา เป็นต้น
อีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า Center Associate คือบุคคลที่ไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เป็นที่ยอมรับในสาขาวิชาชีพ มีความสนใจศึกษาและทำงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการระหว่างประเทศ และที่สำคัญจะต้องเป็นบุคคลที่มีศาสตราจารย์ของศูนย์นี้เสนอชื่อและรับรองในการเชิญเข้ามา ผู้ที่ได้รับการพิจารณาให้เข้าร่วมเป็น Associate จะเป็นนักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิประจำของศูนย์ นักวิชาการสังกัดของศูนย์นี้จะทำวิจัย ตีพิมพ์บทความลงในวารสาร และจัดกิจกรรมทางวิชาการที่เอื้อประโยชน์ต่อเป้าประสงค์ของศูนย์
ผมได้รับการเชิญให้เป็นนักวิชาการสังกัด (Associate) ของศูนย์แห่งนี้ ภารกิจที่ผมได้รับมอบหมาย ได้แก่ การทำผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์ในนามของศูนย์ การเป็นประธานในการจัดสัมมนาที่จัดขึ้น เป็นผู้ดำเนินการจัดสัมมนาภายใต้ชื่อของศูนย์ หรือจัดสัมมนาร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อขยายเครือข่ายออกไป รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษา และเป็นผู้ช่วยประสานงานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยด้วย
นอกจากตำแหน่ง Associate แล้ว ศูนย์แห่งนี้ ยังมีตำแหน่งอื่น ๆ ที่ให้คนภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมด้วย อาทิ Visiting Scholar หรือเรียกว่า นักวิชาการผู้มาเยือน โดยอาจเป็นศาสตราจารย์ หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกิจการระหว่างประเทศจากทั่วโลก มาดำรงตำแหน่งเป็นนักวิชาการผู้มาเยือน โดยมาอยู่เป็นเวลา 1 ปี และตำแหน่ง Weatherhead Fellow คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มาดูงาน เช่นที่ผ่านมามีกลุ่มนักการทูตจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาดูการทำงานของที่นี่ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ
ศูนย์แห่งนี้ นับเป็นอีกศูนย์หนึ่งภายในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่มุ่งสร้างนวัตกรรมทางปัญญา จากชุมชนนักวิชาการและนักปฏิบัติที่มีความแตกต่างหลากหลาย ที่สนใจในการศึกษาในระดับนานาชาติ และระหว่างประเทศ มาร่วมปฏิสัมพันธ์กันทางความคิดและสร้างผลผลิตทางปัญญา ซึ่งผลการวิจัยและการดำเนินการต่าง ๆ จะได้รับการเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะในหมู่นักวิชาการ แต่ออกไปสู่สาธารณะเพื่อก่อประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง
ความงดงามของ ศูนย์ศึกษากิจการระหว่างประเทศเวเธอร์เฮด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
เผยแพร่:
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ:
2007-06-15