นโยบายเศรษฐกิจวางยา : ยาพิษมีฤทธิ์ทำให้คนแข็งแรงกลายเป็นคนอ่อนแอ

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

การแถลงข่าวเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์นั้น ผมได้เปรียบเทียบนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเหมือนการวางยาประชาชนหลายขนาน กล่าวคือ

นโยบายเศรษฐกิจแอลเอสดี (ยาหลอนประสาท) คือ นโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลพยายามชูภาพในด้านดีว่าเมื่อแปรรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้ว จะทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ เกิดการขยายศักยภาพในการปฎิบัติงาน กำไรที่ได้จะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศเป็นการสร้างภาพให้ประชาชนเห็นแต่สิ่งที่ดี บิดเบือนความเข้าใจของประชาชนเพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงจากการแปรรูปที่เห็นได้จาก ป... คือ การให้เอกชนเข้ามาเป็นเจ้าของ เลยไปถึงรัฐบาลและเอกชนเป็นคนคนเดียวกัน คือเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้กำหนดนโยบายและผู้ประกอบธุรกิจ ทำให้ธุรกิจนี้ไม่เกิดการแข่งขัน กลายเป็นธุรกิจผูกขาด ส่งผลให้ประชาชนใช้สาธารณูปโภคในราคาที่สูงขึ้น

ตัวอย่างการแปรรูปฯ กฟผ. มีการประมาณกันว่าเมื่อมีการแปรรูปจะทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทันทีอย่างน้อย 10% และในระยะยาว ค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้นเท่าตัว เพราะเป็นการผูกขาดโดยเอกชนที่แสวงหากำไรสูงสุด ส่งผลให้ GDP ลดลง 2.7% เงินเฟ้อ สูงขึ้น 3% การจ้างงาน ลดลง 7.2% การส่งออกสินค้าและบริการลดลง 5.3% สวัสดิการสังคม ลดลงถึง 5.1 แสนล้านบาท !! เป็นการทำลายความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอย่างแท้จริง

นโยบายเศรษฐกิจแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ได้แก่ นโยบายประชานิยมต่าง ๆ เช่น พักชำระหนี้ กองทุนหมู่บ้าน ปรับโครงสร้างหนี้ โครงการเอื้ออาทร เป็นต้น สรรพคุณของนโยบายทำให้ประชาชนรู้สึกกระชุ่มกระชวยในช่วงแรก เพราะได้รับประโยชน์ระยะสั้นจากนโยบาย แต่แก้ปัญหาไม่ได้จริง ประชาชนจะเสพติดนโยบาย โดยมีความต้องการนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ขาดไม่ได้ และหากใช้ไปในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทางเศรษฐกิจของประชาชนแต่ละคน และเศรษฐกิจของประเทศ

รัฐบาลใช้นโยบายให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย และเป็นหนี้กันมากขึ้น เมื่อชำระหนี้ไม่ไหว รัฐบาลออกนโยบายปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ประชาชนเกิดค่านิยมที่ผิดต่อการชำระหนี้ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมารายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.3 ต่อปี รายจ่ายครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.7 ต่อปี แต่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.2 ต่อปี หากทิศทางยังคงเป็นเช่นนี้ สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ทั้งปีของครัวเรือน จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 80 ในปี 2553

นโยบายเศรษฐกิจสเตอร์รอยด์ คือนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่หากใช้ในปริมาณมากเกินไปจะก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับการใช้สเตอร์รอยด์เพื่อเพิ่มศักยภาพของกล้ามเนื้อ แต่หากใช้มากเกินไปจะไปทำลายอวัยวะอื่น ตลอด 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินทั้งในงบประมาณและนอกงบประมาณเพื่อใช้จ่ายในโครงการต่าง ๆ และสร้างภาระผูกพันที่จะต้องจ่ายคืนในอนาคตจำนวนมาก เป็นการสร้างภาระให้ลูกหลาน ยิ่งไปกว่านั้นการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ถึง 1.8 ล้านล้านบาท อาจก่อให้เกิดปัญหาการขาดเสถียรภาพการคลังและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

สามนโยบายเศรษฐกิจข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายที่ผมได้วิพากษ์นโยบายของรัฐบาล 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นนโยบายที่มีฤทธิ์ทำลายจิตประสาท บั่นทอนความเข้มแข็ง แม้ในระยะแรกดูเหมือนประชาชนจะได้รับประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้ แต่ผลที่สุดกลับส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจของประเทศ

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-02-09