ยุควิกฤตเด็กและเยาวชน?ขาดภาวะผู้นำ
สถาบันวิจัยเยาวชนแห่งญี่ปุ่น ได้สำรวจทัศนคติการดำเนินชีวิตในอนาคตของเด็กวัยรุ่นที่มีอายุ 15 ปี ในช่วงเดือนกันยายน - ธันวาคม ปี 2006 โดยสำรวจเด็กวัยรุ่นใน 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน และเกาหลีใต้
ผลสำรวจได้สร้างความกังวลใจให้แก่ชาวญี่ปุ่นพอสมควร เมื่อพบว่าเด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นที่ตอบแบบสอบถาม จำนวน 1,461 คน จากสถาบันการศึกษามัธยม 12 แห่ง ใน 10 จังหวัดใหญ่ ๆ ของประเทศ พบว่าประมาณร้อยละ 79 ให้ความเห็นว่า การเป็นผู้มีอำนาจ หมายถึงการมีภาระรับผิดชอบอันหนักหน่วง ในขณะที่เด็กวัยรุ่นในอีก 3 ประเทศมีทัศนคติทางบวกต่อการเป็นผู้มีอำนาจ เช่น เป็นผู้ที่มีโอกาสใช้ความสามารถของตนอย่างเต็มที่ หรือเป็นผู้ที่สามารถทำให้ตนเป็นที่ยอมรับจากบุคคลอื่น เป็นต้น ในขณะที่ เด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นมีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น ที่ต้องการเป็นผู้ทรงอำนาจในอนาคต เมื่อเทียบกับเด็กวัยรุ่นจีน มี ร้อยละ 34 เด็กวัยรุ่นเกาหลีใต้ มีร้อยละ 23และเด็กวัยรุ่นอเมริกัน มีร้อยละ 22 ตามลำดับ
เด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 43 มีความต้องการที่จะใช้ชีวิตแบบอย่างง่าย ๆ ในอนาคต เพียงแต่ให้มีรายได้ที่เพียงพอ มีถึงร้อยละ 21 ตอบว่า ldquo;พอใจที่จะมีชีวิตที่เงียบสงบ แม้ว่าจะน่าเบื่อหน่ายหรือไม่น่ารื่นรมย์อยู่บ้างก็ตามrdquo; ในขณะที่เด็กวัยรุ่นอเมริกันมีเพียงร้อยละ 9 เด็กวัยรุ่นเกาหลีใต้มีร้อยละ 15 และเด็กวัยรุ่นจีนมีร้อยละ 15 (นกุล ว่องฐิติวงศ์,ldquo;เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า,rdquo; มติชนสุดสัปดาห์, 27 (25-31 พ.ค. 50),หน้า 45)
หากวิเคราะห์กรณีเด็กญี่ปุ่น อาจจะเป็นได้ว่าสาเหตุที่เด็กญี่ปุ่นไม่มีความต้องการที่จะเป็นผู้มีอำนาจหรือเป็นผู้นำนั้น อาจเนื่องมาจากสภาพสังคมที่มีความกดดัน ตั้งแต่ประถมจนถึงมหาวิทยาลัย เด็กญี่ปุ่นต้องรับผิดชอบต่อการเรียนและการสอบอย่างหนัก เพื่อเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาดี ๆ ตามความคาดหวังของครอบครัวและสถาบันการศึกษา อีกทั้ง ค่านิยมในสังคมญี่ปุ่น เมื่อใครไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความคาดหวังของสังคม จะได้รับการลงโทษจากสังคมอย่างหนักโดยเฉพาะผู้นำ ด้วยเหตุนี้ เด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นจำนวนมากจึงเลือกที่จะหันหลังให้กับภาระความรับผิดชอบที่หนักหน่วง และต้องการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายแทน
กรณีเด็กและวัยรุ่นไทยขาด ldquo;ภาวะผู้นำrdquo;
กรณีเด็กและเยาวชนไทยมีสภาพการณ์ที่แตกต่างจากเด็กญี่ปุ่นกล่าวคือ เด็กและวัยรุ่นไทยจำนวนมากไม่เพียงไม่มีความปรารถนาที่จะเป็นผู้นำ หากแต่มีเด็กและเยาวชนจำนวนมากไม่มีภาวะความเป็นผู้นำอีกด้วย เนื่องด้วยสาเหตุที่เด็กและวัยรุ่นไทยอยู่ภายใต้สังคมที่เคยชินกับการเป็นผู้ตามมากกว่าผู้นำการไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะในประเด็นที่แตกต่างจากคนอื่นเพราะกลัวเป็นแกะดำ สภาพครอบครัวไทยจำนวนมากที่ประคบประหงมดูแลอย่างใกล้ชิดแม้จะโตจนเรียนระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงระบบการศึกษาไทยที่ครูจำนวนมากสอนโดยมีครูเป็นศูนย์กลาง เด็กต้องคิดตามกรอบที่กำหนด หากคิดแตกต่างจะได้เกรดไม่ดีและไม่เป็นที่รักของครู รวมถึงการที่ระบบการศึกษาไทยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนให้มีภาวะผู้นำเท่าที่ควรนอกจากนั้นยังมีสภาพการปกครองของคนในสังคมที่มีกลุ่มชนชั้นนำเพียงบางกลุ่ม ส่วนกลุ่มอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมไม่มากนัก หรือไม่เข้ามีส่วนร่วมหรือแสดงออกทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่แผ่วเบาไปกว่าช่วงสมัยก่อน
ในขณะที่ปัจจุบัน สังคมไทยต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีภาวะผู้นำ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการนำทิศทางของประเทศให้อยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่มีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ
ldquo;ผู้นำrdquo; ในนิยามของผม คือ ผู้ที่ยืนอยู่ที่ต้นแถว เพื่อนำทิศทางผู้อื่นให้ก้าวไปสู่จุดหมาย โดยใช้ศักยภาพ ความสามารถ และลักษณะชีวิตที่ดีในการนำ การสร้างให้เด็กมีภาวะผู้นำนั้น ควรเริ่มตั้งแต่การสอนให้เด็กมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อการเป็นผู้นำ โดยอาจเริ่มจากการเป็นผู้นำความคิดในกลุ่มเพื่อน และผู้นำกิจกรรมในสถาบันการศึกษา อันจะพัฒนากลายเป็นผู้นำครอบครัว ผู้นำองค์กร ผู้นำชุมชน และผู้นำประเทศที่ดีมีคุณภาพได้ในอนาคต
สถาบันหลักสำคัญในการหล่อหลอมและพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้มีความเป็นผู้นำหรือมีภาวะผู้นำ คือ สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะบทบาทสถาบันการศึกษา โดยสถาบันการศึกษาไทยในทุกระดับ ควรให้ความสำคัญในการสร้างให้เด็กมีทัศนคติ ความรู้ ทักษะ และบุคลิกภาพในการเป็นผู้นำ โดยมีแนวทางดังนี้
สอนทักษะที่จำเป็นในการเป็นผู้นำ สถาบันการศึกษาควรให้ความสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอนทักษะและความรู้ที่จำเป็นในการพัฒนาเป็น ldquo;ภาวะผู้นำrdquo; ในผู้เรียน เช่น สอนทักษะการพูด สอนทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ ทักษะการแก้ปัญหาต่อสถานการณ์ต่าง ๆ การมองอนาคต วิธีการตั้งเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การบริหารความสัมพันธ์กับผู้อื่น การสื่อสารในที่สาธารณะ การสร้างแรงจูงใจ การบริหารเวลา การสร้างทีมงาน การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ เป็นต้น โดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านสถานการณ์จริง เช่น การให้ผู้เรียนผลัดกันเป็นผู้นำกลุ่ม ให้ดูภาพยนต์หรือละคร ที่ให้ข้อคิดการเป็นผู้นำ เพื่อให้ผู้เรียนวิเคราะห์ภาวะผู้นำ วิธีการวางแผน และรู้จักวิธีตอบสนองสถานการณ์ต่าง ๆ ของผู้นำ เป็นต้น
ส่งเสริมกิจกรรมเชิงสังคมเพื่อพัฒนาภาวะผู้นำ สถาบันการศึกษาควรส่งเสริมกิจกรรมเชิงสังคมตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่น กิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา กิจกรรมพัฒนาชุมชนรอบโรงเรียน เป็นต้น พัฒนาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การสร้างสัมพันธ์ สามารถค้นพบหรือรู้จักตนว่ามีระดับความเป็นผู้นำมากน้อยเพียงใด และรู้จักเรียนรู้แก้ปัญหาจากสถานการณ์จริง โดยการจัดกิจกรรม สถาบันการศึกษาควรกำหนดวัตถุประสงค์ของกิจกรรม และตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่มีส่วนวัดการมีภาวะผู้นำ เช่น กำหนดให้ผู้เรียนมีความสามารถจูงใจให้ผู้อื่นเห็นด้วยกับสิ่งที่ตนเองเสนอ ตามหลักการและเหตุผลที่ดี สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้าใจเพื่อนร่วมทีมและปัญหาของทีม สามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ทักษะเหล่านี้จำเป็นต่อการเป็นผู้นำ เพราะผู้นำที่ดีควรเป็นผู้ที่นำทิศทางผู้อื่นให้ไปสู่เป้าหมาย และสามารถแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง
พัฒนาทักษะเรียนรู้ซึ่งเป็นฐานพัฒนาภาวะผู้นำ การศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเป็นการเปิดโลกของผู้เรียนให้กว้างขึ้น ซึ่งการเป็นผู้นำที่ดีต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัดสินใจสูง ดังนั้น ผู้นำจึงต้องมีรากฐานการคิดที่ดี รอบคอบ มีความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง มีความแม่นยำในการวินิจฉัยบุคคลและสถานการณ์ ซึ่งการพัฒนาคุณสมบัตินี้ได้ ควรส่งเสริมให้ผู้เรียนอ่านหนังสือหรือเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ที่หลากหลายประเภท ส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมนอกห้องเรียน และที่สำคัญคือ สอนให้ผู้เรียนให้รู้จักวิเคราะห์และคัดเลือกข้อมูล และสร้างนิสัยการเป็นผู้รักการแสวงหาความรู้ อันเป็นพื้นฐานของการเป็นผู้นำที่มีคุณภาพ
ฝึกสังเกตและเข้าใจผู้อื่น การสังเกตคนเป็นพื้นฐานสำคัญของผู้นำอีกประการหนึ่ง สถาบันการศึกษาจึงควรพัฒนาผู้เรียนให้รู้จักการสังเกตและเข้าใจคน ทั้งด้านอารมณ์ พฤติกรรม และความสามารถหรือศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของบุคคลอื่น และที่สำคัญ คือการปลูกฝังทัศนคติการสังเกตคนที่ถูกต้อง เช่น มองผู้อื่นในด้านบวก มองว่าทุกคนมีคุณค่าและมีศักยภาพ แม้ว่าจะมีความแตกต่างก็สามารถนำความแตกต่างมาเสริมสร้างกันได้ เพื่อยิ่งมีส่วนในการพัฒนาการมีภาวะผู้นำให้เกิดผล ซึ่งอาจทำได้โดยการสอดแทรกความรู้ความเข้าใจ และมุมมองที่ถูกต้องในการสังเกตคน ผ่านการเรียนการสอนและการทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นต้น
สนับสนุนเด็กที่ฉายแววความเป็นผู้นำ มิใช่เด็กทุกคนจะมีลักษณะของการเป็นผู้นำอย่างชัดเจน แต่จะมีเพียงบางคนที่มีลักษณะฉายแววการเป็นผู้นำที่โดดเด่น ควรได้รับการสนับสนุนการพัฒนาการเป็นผู้นำที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น มอบหมายให้เป็นผู้นำห้อง สนับสนุนให้สมัครเป็นประธานนักเรียน ส่งเด็กเข้าประกวดการโต้วาที การได้รับการส่งไปเข้าแคมป์เยาวชนผู้นำรุ่นใหม่ หรือได้รับการพัฒนาหลักสูตรหรือกิจกรรมเพื่อพัฒนาการเป็นผู้นำที่เฉพาะเจาะจง ฯลฯ โดยสถาบันการศึกษาควรมีการค้นหาหรือทำแบบทดสอบภาวะผู้นำ เพื่อคัดเลือกผู้เรียนที่มีแววผู้นำเด่นชัด แล้วส่งเสริมให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการพัฒนาให้มีลักษณะการเป็นผู้นำระดับแนวหน้าของสังคมต่อไป
เป็นความจริงที่ว่าสังคมใดที่มีความเจริญก้าวหน้า มักจะมี ldquo;ผู้นำrdquo; ที่ดี แต่หากสังคมใดไร้ผู้นำที่ดี ก็เปรียบเหมือนเรือเดินทะเลที่ขาดกัปตัน ลูกเรือก็เคว้งคว้าง สับสน แต่การที่ประเทศจะมีผู้นำที่ดีได้นั้น ต้องเริ่มจากการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความเป็นผู้นำตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนถึงระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนที่ฉายแววการเป็นผู้นำ ยิ่งต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพนี้อย่างเต็มที่ เพื่อในอนาคตพวกเขาจะกลายเป็นผู้นำที่มีความรู้ความสามารถในการนำทิศทางสังคม เฉลียวฉลาดในการแก้ปัญหา มีทักษะในการจูงใจและนำกลุ่มคน ที่สำคัญเป็นผู้นำที่มีคุณธรรมจริยธรรมด้วย
เผยแพร่:
การศึกษาวันนี้
เมื่อ:
2007-06-28