ความน่าจะเป็นของเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

สภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันได้ชะลอตัวลงจากปีก่อนค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มถดถอยลงอีกในครึ่งปีหลัง โดยปัจจัยที่สำคัญมาจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ และราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น

แม้หลายฝ่ายคาดหวังว่าหลังจากได้รัฐบาลชุดใหม่จากการเลือกตั้ง เศรษฐกิจไทยน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่กระนั้นภาวะเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งจะยังคงได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางการเมือง โดยขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่ว่าใครจะมาเป็นผู้นำประเทศ

กรณีแรก พ...ทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ หรือใช้นายกฯนอมินี (Nominee) ผมคิดว่าทั้งสองประเด็นนี้ไม่แตกต่างกัน เพราะประชาชนมีความเข้าใจการเมืองมากขึ้น ในกรณีนี้ความขัดแย้งน่าจะยังคงอยู่เพราะสาเหตุของความขัดแย้งคือตัว พ...ทักษิณ และที่ผ่านมารักษาการนายกฯ ยังไม่สามารถตอบคำถามคาใจประชาชนได้ เช่น กรณีผลประโยชน์ทับซ้อน การขายหุ้นโดยไม่เสียภาษี การซุกหุ้น เป็นต้น

หากพ...ทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ หรือใช้นายกฯนอมินี จะทำให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยออกมาต่อต้านอยู่ตลอดเวลา จนทำให้บริหารบ้านเมืองได้ยากลำบาก ภาพความขัดแย้งทางการเมืองจะทำให้นักลงทุนและประชาชนเกิดความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของรัฐบาล ในที่สุดอาจย้ายฐานการลงทุนไปประเทศคู่แข่งซึ่งทำให้ไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ

กรณีต่อมา พรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลผสมและทักษิณไม่รับตำแหน่งนายกฯและไม่ตั้งนอมินี ผมคิดว่ากรณีนี้ไม่น่าจะเกิดความขัดแย้งรุนแรง เพราะต้นตอของความขัดแย้งไม่มีอีกแล้ว การที่ พ...ทักษิณไม่รับตำแหน่งทำให้ฝ่ายต่อต้านหรือกลุ่มทีไม่เห็นด้วยไม่มีเหตุออกมาขับไล่รัฐบาล ประชาชนและนักลงทุนจะสามารถยอมรับได้ในระดับหนึ่ง ส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจน่าจะดีกว่าการที่ พ...ทักษิณฯกลับมาเป็นนายกฯ แต่กระนั้นสังคมอาจจะมีความกังวลว่า พรรคไทยรักไทยอาจจะกลับลำเปลี่ยนให้ พ...ทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งได้

กรณีสุดท้าย พรรคร่วมฝ่ายค้านได้เป็นรัฐบาล กรณีนี้จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม เนื่องจากที่ผ่านมาพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ได้เป็นชนวนหรือต้นเหตุของปัญหาทางการเมือง ประกอบกับอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านเน้นนโยบายการปฏิรูปการเมืองซึ่งเป็นความต้องการของสังคม แม้สังคมอาจกลัวว่าฝ่ายสนับสนุนพรรคไทยรักไทยจะออกมาต่อต้านรัฐบาลที่จัดตั้งโดยอดีตพรรคฝ่ายค้าน แต่สังคมและสื่อสารมวลคงจะไม่ยอมรับ เพราะยังไม่มีประเด็นความผิดที่เพียงพอจะเป็นเหตุในออกมาต่อต้านรัฐบาลชุดนี้ได้

รัฐบาลที่จัดตั้งโดยพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงไม่ต้องคอยกังวลกับเสียงต่อต้านจากประชาชน ทำให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจน่าจะดีกว่าทั้งสองกรณีแรก

เศรษฐกิจกับการเมืองเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก เนื่องจากว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดีได้นั้นย่อมขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจจากฝ่ายการเมืองที่เข้าไปกำหนดนโยบาย บวกกับความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมือง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับประชาชนผู้เลือกตั้งเป็นสำคัญ

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-09-05