ย้อนรอยผลกระทบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540

25-27 พฤษภาคม 2550

ความพยายามของสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจะเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งใหม่ โดยรัฐธรรมนูญที่อยู่ระหว่างร่างอยู่เวลานี้มีแนวคิดจะให้กลับไปใช้วิธีการเลือกตั้งแบบเดิม คือ ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยเปลี่ยนจากเขตเดียวเบอร์เดียวไปสู่ระบบเขตใหญ่เลือกได้หลายเบอร์ และอาจจะยกเลิก.ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เหตุผลที่จะกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเดิมเพราะต้องการแก้ปัญหาการซื้อเสียงและลดความเข้มแข็งของรัฐบาลในเขตนั้นอาจจะมาจากพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน ประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองต่าง ๆ จึงได้รับความพึงพอใจมากกว่าระบบเลือกตั้งที่มี ส.ส.คนเดียวที่มาจากพรรคเดียว

ทั้งนี้ข้อถกเถียเรื่องระบบการเลือกตั้งผมเคยศึกษาไว้ในงานวิจัย เรื่อง rdquo;ผลกระทบของระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ที่มีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยrdquo; โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาประเด็นที่เป็นเป้าหมายทางการเมืองใน 3 มิติสำคัญ อันเป็นสามประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่มั่นคงในระยะยาว และนำไปสู่การค้นหาระบบการเลือกตั้งที่พึงประสงค์ของประเทศ ได้แก่

ประการแรก มิติการเป็นตัวแทนของประชาชน คือความพึงพอใจของประชาชนโดยรวมที่มีต่อ ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมามิติความเท่าเทียมกันทางการเมือง คือ การกระจายของความพึงพอใจที่ผู้เลือกตั้งแต่ละคนได้รับ พิจารณาว่ามีการกระจายอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ ประการสุดท้าย มิติเสถียรภาพของรัฐบาลซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนพรรคการเมืองที่สำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล และสัดส่วนจำนวน ส.ส. ของเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

งานวิจัยชิ้นนี้ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า ldquo;Spatial Voting Modelrdquo; ซึ่งใช้วัดผลการดำเนินการของระบบการเลือกตั้ง โดยใช้วิธี Computer Simulation จำลองสถานการณ์ของการเลือกตั้งรูปแบบต่าง ๆ กันหลาย ๆ ครั้ง แล้วคำนวณดัชนีชี้วัดผลการดำเนินการใน 3 มิติดังกล่าวข้างต้น และนำมาเปรียบเทียบผลการดำเนินการของระบบการเลือกตั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ผมคิดว่างานศึกษานี้จะเป็นประโยชน์อันจะนำไปสู่การค้นหาระบบการเลือกตั้งที่พึงประสงค์ของประเทศในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ผลกระทบการแบ่งเขตเลือกตั้งให้มีขนาดเล็กลง

ทำให้ความพึงพอใจของประชาชนโดยรวมหรือระดับการเป็นตัวแทนประชาชนในระดับเขตลดลงร้อยละ 3.39 และความเท่าเทียมกันทางการเมืองลดลงร้อยละ 14.86 เพราะเกิดจากประชาชนมีทางเลือกของนโยบายน้อยลง เนื่องจากแต่ละเขตมีจำนวน ส.ส. น้อยลง ทั้งนี้เพราะตัวแทนที่ได้รับเลือกตั้งย่อมสะท้อนประโยชน์เชิงนโยบายแก่คนกลุ่มหนึ่งในเขต แต่คนกลุ่มอื่น ๆ ในเขตที่ไม่ได้เลือกตัวแทนคนดังกล่าว ย่อมไม่ได้รับความพึงพอใจเท่าที่ควร เพราะไม่มีผู้สมัครที่ตนเองเลือกได้เป็นตัวแทนของตนในเขตเลย ตัวอย่างเช่น ประชาชนที่ชื่นชอบ ส.ส. ที่ได้รับความนิยมในลำดับรองลงมา แม้จะมีสัดส่วนจำนวนที่มากพอสมควร ก็จะไม่มีโอกาสได้ ส.ส. ที่ตนชื่นชอบเลย หากประชาชนกลุ่มนี้ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม การแบ่งเขตเลือกตั้งส่งผลดีตรงที่ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.42 เนื่องจากทำให้นักการเมืองที่มาจากพรรคที่ได้รับความนิยมในลำดับรองลงไป มีโอกาสได้รับเลือกน้อยลง ทั้งนี้เพราะแต่ละเขตมีจำนวน ส.ส. ได้น้อยลง พรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมในลำดับรองจึงมีโอกาสได้ที่นั่งในสภาฯ จาก ส.ส. ในระบบแบ่งเขตน้อยลง
ผลกระทบจากระบบ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ

จากการศึกษาพบว่า ระบบบัญชีรายชื่อไม่ได้ทำให้ความพึงพอใจของประชาชนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในแง่ขนาดและการกระจาย (สัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่ากับ 100 คนจากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 500 คน แต่หาก ส.ส. บัญชีรายชื่อมีสัดส่วนมากขึ้น ก็น่าจะทำให้ความพึงพอใจของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป) แต่ระบบบัญชีรายชื่อกลับทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลลดลงร้อยละ 3.76 เนื่องจากทำให้พรรคการเมืองที่มีขนาดต่าง ๆ มีโอกาสได้ที่นั่งในสภาฯ เพิ่มขึ้นในส่วนของ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ไม่เพียงแต่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ เนื่องจากพรรคต่าง ๆ จะได้ที่นั่งในสภาฯ ตามสัดส่วนความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรค โดยไม่ถูกตัดโอกาสของความเป็นรองซึ่งทำให้ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ในกรณีของการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต

ผลลัพธ์โดยรวมของผลกระทบทั้งสองสามารถสรุปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้ประชาชนได้รับความพึงพอใจจากนโยบายในระดับเขตลดลงร้อยละ 3.22 และความเท่าเทียมกันในการได้รับบริการทางการเมืองของประชาชนลดลงถึงร้อยละ 14.86 แต่เสถียรภาพของรัฐบาลไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เนื่องจาก แม้ว่าการแยกเขตเลือกตั้งจะทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลเพิ่มขึ้น แต่กลับถูกลดทอนจากผลของการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อซึ่งทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลลดลง ดังนั้นหากหันกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเดิม (รวมเขตและไม่มี ส.ส. บัญชีรายชื่อ) ก็จะทำให้ประชาชนได้รับความพึงพอใจจาก ส.ส. ที่ได้รับเลือกเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับความเท่าเทียมกันทางการเมืองมากขึ้น ในขณะที่เสถียรภาพของรัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปข้างทั้งสองประการอยู่บนข้อสมมติที่ว่า มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ 2 พรรค และประชาชนได้รับความพึงพอใจจากนโยบายในระดับเขตและประเทศในระดับเท่า ๆ ซึ่งในบริบทดังกล่าวระบบการเลือกตั้งแบบเดิมจึงเป็นระบบที่พึงประสงค์มากกว่าระบบใหม่ เพราะระบบที่มี ส.ส. ได้หลายคนใน 1 เขตเลือกตั้ง ทำให้ ส.ส.

ทั้งนี้หากบริบททางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจมีความแตกต่างจากข้อสมมติข้างต้น เนื่องในแต่ละพื้นที่ประชาชนอาจมีความนิยมต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ แตกต่างกัน หรือบางพื้นที่อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายในระดับท้องถิ่นมากนัก ผลการวิเคราะห์อาจเปลี่ยนแปลงไปจากข้างต้น ผมคิดว่าการกำหนดระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรมีการปรับเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งให้เหมาะสมกับบริบททางการเมือง และคำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาระบบประชาธิปไตยว่าควรจะเน้นไปในทิศทางใด ซึ่งได้แก่ ความพึงพอใจของประชาชนโดยรวม ความเท่าเทียมกันทางการเมืองของประชาชน หรือเสถียรภาพของรัฐบาล

ประการสุดท้ายควรส่งเสริมให้พรรคการเมืองหรือนักการเมืองเพิ่มทางเลือกของนโยบายแก่ประชาชนมากขึ้น ทั้งในแง่ของจุดยืนของนโยบายในแต่ละประเด็น โดยยังคงจำนวนพรรคการเมืองให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับความพึงพอใจสูงขึ้นและมีความเท่าเทียมกันทางการเมืองมากขึ้น เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยไม่ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลลดลง

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
กรรมการบริหาร และรองประธานคณะทำงานเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์

admin
เผยแพร่: 
สยามธุรกิจ
เมื่อ: 
2007-05-25