นวัตกรรมยุทธศาสตร์การออกแบบกติกาสังคมเชิงระบบ: (1) การคิดครบระบบ
“ระบบที่ดี คือ ระบบที่ทำให้คนชั่วทำดีโดยไม่รู้ตัว”
เป็นนิยามที่ผมได้จาการตลกผลึกมาหลายสิบปี ด้วยเพราะระบบที่ดีต้องถูกออกแบบเพื่อป้องกันไม่ให้คนเกเรทำสิ่งไม่ดี หรือทำให้เกิดความไม่คุ้มค่าที่จะกระทำผิดหรือไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกับการออกแบบกติกาสังคม ที่ไม่ได้ออกแบบเพื่อเอื้อคนดี เพราะคนดีทำดีอยู่แล้วแม้ไม่มีระบบ การที่มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคมนั้น หลีกเลี่ยงการบริหารจัดการไม่ได้ และในการบริหารจัดการก็หลีกเลี่ยงการกำหนดนโยบายไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาเชิงระบบของ “สังคม” ให้บรรลุผลลัพธ์ ไม่ว่าจะเป็นสังคมโลก สังคมระดับชาติ สังคมระดับกลุ่มหรือองค์กร และสังคมระดับครอบครัว
ด้วยเหตุนี้ การชี้ทิศว่า ประเทศจะไปทิศทางไหน จะใช้นโยบายอะไร จะออกแบบกติกาสังคมในเรื่องต่าง ๆ ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่อย่างไร จำเป็นต้องคิดพิจารณาให้ครบทั้งระบบ
การออกแบบกติกาสังคมให้คนชั่วทำดีโดยไม่รู้ตัวจำเป็นต้องคิดเป็นระบบ หรือผมใช้คำว่า Systematized thinking ซึ่งหมายถึง การคิดอย่างมีระบบระเบียบ เชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผล ต่อเนื่องเป็นขั้นเป็นตอน ครบถ้วนทั้งกระบวนการ จนกระทั่งสามารถคิดทะลุ (breakthrough) หรือได้คำตอบหรือผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
การคิดเป็นระบบนั้น ประกอบด้วยการคิด 3 รูปแบบ ได้แก่
- คิดครบระบบ (Systems thinking)
- คิดเชิงระบบ (Systemic thinking)
- คิดอย่างเป็นระบบ (Systematic thinking)
แต่สำหรับในการกำหนดนโยบายหรือกำหนดกติกาสังคม จำเป็นต้องคิดเป็นระบบ 2 รูปแบบ คือ คิดครบระบบ (Systems thinking) และ คิดเชิงระบบ (Systemic thinking) เท่านั้น เพราะการคิดอย่างเป็นระบบ (Systematic thinking) เป็นกระบวนการคิดในสมองมากกว่าการกำหนดกติกาสังคม การคิดครบระบบ หมายถึง การมองอย่างองค์รวม และคิดเชื่อมโยงครบทุกมิติที่อยู่ภายในระบบ กล่าวคือ (1) ครบวงจร คน ระบบ บริบท และ (2) ครบองค์ประกอบของระบบ ที่ประกอบไปด้วย
- โครงสร้าง (structure)
- กระบวนการ (process)
- กฎ / กติกา / กฎหมาย (rules / regulations / law)
- วัฒนธรรม (culture)
- ประเพณี (tradition)
- บรรทัดฐาน/ค่านิยม (norms /values) และ
- ความเป็นสถาบัน (institution)
การพัฒนาประเทศที่เกิดจาการคิดครบระบบจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างและน่าประทับใจ ผมขอยกตัวอย่างการสร้างชาติของสิงคโปร์ภายใต้การนำของ ลี กวน ยู ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศเดียวในโลกที่สามารถพัฒนาจากการเป็นประเทศด้อยพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในหนึ่งชั่วอายุคน ในปี 1965 สิงคโปร์ยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา มีรายได้ประชาชาติ (GNI) ต่อหัวที่ 516 เหรียญสหรัฐ (ไทย 140 เหรียญสหรัฐ) แต่ในปี 2013 สิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวสูงถึง 55,182 เหรียญสหรัฐ แซงหน้าสหรัฐอเมริกา มากกว่ามาเลเซีย 5 เท่า และมากกว่าไทยเกือบ 10 เท่า สิงคโปร์มี GNI เพิ่มขึ้น 103 เท่า ส่วนประเทศไทยเพิ่มขึ้น 41 เท่า ในช่วงเวลา 50 ปี สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะสิงคโปร์มีผู้นำ “คิดครบระบบ”
ในด้านคน เนื่องด้วยสิงคโปร์เป็นเพียงเกาะเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรใดๆ ลี กวน ยู จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ผ่านการลงทุนด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่งผลทำให้สิงคโปร์มีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพสูง และสถาบันการศึกษาของสิงคโปร์มีคุณภาพติดอันดับโลก
ในด้านระบบ ลี กวน ยู เชื่อว่า ถ้าเศรษฐกิจเจริญ สิ่งดีอื่นๆ จะตามมาเอง (เช่น อาชญากรรมจะลดลง) จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่ง หลักการที่สิงคโปร์ยึดมั่นและใช้เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนา คือ หลักการของระบบทุนนิยมที่ดี ไม่ยอมให้มีระบบพรรคพวกนิยม (Cronyism) และมุ่งเน้นการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ
ส่วนระบบราชการเน้นความมีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ ข้าราชการมีรายได้เทียบเท่าหรือมากกว่าเอกชน นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์มีรายได้ปีละ 56 ล้านบาท ขณะที่รัฐมนตรีมีรายได้ 28 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดคอร์รัปชั่น ระบบสังคมเป็นอีกปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญในการสร้างชาติสิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์มีความหลากหลายของเชื้อชาติและศาสนา ลี กวน ยู จึงให้น้ำหนักกับการพัฒนาสังคมเพื่อสร้างความสามัคคี ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และความมั่นคงของรัฐของสิงคโปร์ โดยออกแบบกติกาทางสังคม ผ่านนโยบาย ที่เรียกว่า “นโยบายสังคมพหุชาติพันธุ์” ซึ่งมีสาระสำคัญ 5 ประการ คือ
- ชาติสำคัญกว่าชุมชน และสังคมสำคัญกว่าปัจเจกบุคคล เพื่อเชิดชูความเป็นชาติเหนือปัจเจกบุคคล
- ครอบครัวเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม ดังนั้นสถาบันครอบครัวจึงเป็นรากฐานที่แท้จริงของสังคม
- การให้การสนับสนุน ช่วยเหลือกันในชุมชน และเคารพต่อปัจเจกบุคคล เป็นการสนับสนุนจารีตประเพณีที่ให้ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่
- การส่งเสริมฉันทามติแต่ไม่สร้างความขัดแย้ง แสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจใด ๆ ก็ตาม ควรเน้นการเห็นพ้องต้องกันมากกว่าการแข่งขันและการถกเถียงกัน
- ส่งเสริมและประสานความกลมกลืนด้านเชื้อชาติและศาสนา เพื่อความสามัคคีระหว่างประชาชน
ตัวอย่าง การออกแบบกติกาสังคมของสิงคโปร์ เช่น สิงคโปร์มีภาษาราชการมากกว่า 1 ภาษา ไม่เพียงแต่ภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ยังมีภาษาจีนกลาง ภาษามาลายู และภาษาทมิฬด้วย เพราะรัฐบาลปรารถนาจะสร้างคนให้เป็นพลเมืองโลกที่เข้าได้กับความแตกต่างทางวัฒนธรรม หรือการกำหนดวันหยุดทุกวันสำคัญของศาสนาต่างๆ ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม รวมถึงวันหยุดสำหรับธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมต่างๆ ด้วย
ในด้านบริบท สิงคโปร์พยายามสร้างบริบท เพื่อการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลายได้อย่างลงตัว ดังตัวอย่างย่านไชน่าทาวน์ที่มีความโดดเด่นในการบริหารจัดการสำหรับการอยู่ร่วมกันของคนหลากเชื้อชาติและความเชื่อ เพราะในย่านนี้มีทั้งวัดฮินดู วัดพุทธ มัสยิด โดยทุกกลุ่มอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไร้ปัญหาด้านเชื้อชาติและศาสนา อันเป็นชุมชนแบบ "พหุวัฒนธรรม" ที่แท้จริง
การกำหนดนโยบายที่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลปลายทางที่ต่างกัน การคิดไม่รอบคอบ คิดอย่างไร้ระบบ ไม่ครบถ้วน จะทำให้ประเทศชาติเกิดวิกฤตได้ เพราะฉะนั้น การกำหนดนโยบาย (ระเบียบ กฎ กติกา) ใด ๆ ก็ตามจำเป็นต้องคิดเป็นระบบ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีแท้และยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง โดยไม่ลืมเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และอุดมการณ์ในการพัฒนาประเทศ รวมถึงการลงมือทำงานหนัก แล้วความสำเร็จจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com