อนาคต Startup และการบ่มเพาะธุรกิจ


แหล่งที่มาของภาพ : http://trak.in/wp-content/uploads/2012/03/startup-incubators.jpg

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับเชิญไปกล่าวปาฐกถาเปิดการประชุม International Congress of Business Incubators ที่ประเทศสเปน โดยสหภาพยุโรป (European Union) ได้มอบหมายให้ Chamber Institute for Business Creation and Development ซึ่งก่อตั้งโดยหอการค้าของประเทศสเปน เป็นผู้ดำเนินการ โดยเชิญ business incubators ชั้นนำจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม ผมขอนำเนื้อหาบางส่วนของปาฐกถานี้มาเล่าให้ฟัง

?ธุรกิจเริ่มใหม่หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Startup คือ บริษัทเปิดใหม่ที่เริ่มจากคนเพียงไม่กี่คน ที่มุ่งหวังให้กิจการเติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด โดยมีแผนธุรกิจ มีทีมงาน และมีนักลงทุนมาร่วมกันดำเนินการ ในส่วนของการบ่มเพาะธุรกิจ (Business incubation) หมายถึง กิจกรรมการพัฒนาธุรกิจรูปแบบหนึ่งซึ่งช่วยลดอัตราความล้มเหลวในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ช่วยส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการผ่านการนำเสนอผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในสาขาต่างๆ ที่สร้างขึ้น อันมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ ให้เติบโตเป็นบริษัทเต็มรูปแบบ (spin-off company) ที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันศูนย์บ่มเพาะธุรกิจทั่วโลกที่มีประมาณ 9,000 แห่ง สามารถดูแลธุรกิจใหม่ได้ 2.7 ถึง 3.6 แสนรายเท่านั้นซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีก 600 ล้านคนใน 5 ปีข้างหน้า ในการกล่าวปาฐกถานี้ ผมจึงได้ฉายภาพอนาคตของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยผมได้วิเคราะห์แนวโน้มของธุรกิจเริ่มใหม่และการบ่มเพาะธุรกิจ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ ผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจชาวไทยด้วย

แนวโน้มประการที่ 1 การเกิดธุรกิจใหม่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

จำนวนของผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การคาดการณ์ระบุว่า ผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้นจาก 400 ล้านคน ในปี 2555 (1 คนต่อประชากรโลก 19 คน) เป็น 1 พันล้านคน ในปี 2563 (2.3 คนต่อประชากรโลก 19 คน) โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่จะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21 จะมีตลาดเกิดใหม่ ที่มีขนาดเศรษฐกิจแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้ว จึงส่งผลให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจใหม่ และการบ่มเพาะธุรกิจในตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ การบ่มเพาะธุรกิจในตลาดเกิดใหม่จะมีโอกาสให้ผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่า โดยเฉพาะการบ่มเพาะธุรกิจใหม่ด้านเทคโนโลยี (ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสูง) จะมีโอกาสคุ้มทุนมากกว่า เพราะเป็นการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าสำหรับตลาดที่มีขนาดใหญ่

แนวโน้มประการที่ 2 เกิดความต้องการธุรกิจใหม่ที่ให้ผลตอบแทนเร็วขึ้น

การพัฒนาความรู้อย่างรวดเร็วในอนาคต จะทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลทำให้อายุของผลิตภัณฑ์ (product life cycle) สั้นลง ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงต้องการผลตอบแทนการลงทุนที่เร็วขึ้น คือได้รับผลตอบแทนภายใน 3-5 ปี ไม่ใช่ 5-10 ปี นักลงทุนจึงมองหาโครงการที่จะให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) สูง ซึ่งต้องเป็นโครงการที่มีคุณภาพสูง

การบ่มเพาะธุรกิจในอนาคต จำเป็นต้องขยายขอบเขตของบริการบ่มเพาะธุรกิจให้กว้างขึ้น จากเดิมที่เน้นการบ่มเพาะธุรกิจในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ อาจต้องขยายไปสู่ช่วงที่ธุรกิจใกล้จะผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจยังจำเป็นต้องแสวงหาองค์ความรู้จากภายนอก โดยการร่วมมือกับองค์กรและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายมากขึ้น

แนวโน้มประการที่ 3 ธุรกิจใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์

แนวโน้มการทำธุรกิจบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวสูง เนื่องจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการคาดการณ์ว่า ธุรกิจดิจิทัลจะมีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 70 ของจีดีพีโลก ในปี 2573 ด้วยเหตุนี้ การทำธุรกิจบนเครือข่ายออนไลน์ จึงกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญของการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจโลก แม้ว่าการผลิต การทำตลาด และการกระจายสินค้าและบริการแบบออนไลน์ เป็นวิธีดำเนินธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำ แต่ประเด็นสำคัญ คือ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจที่มีความสามารถในการพัฒนาธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ยังมีจำกัด สังเกตได้จากผู้ที่ให้บริการบ่มเพาะธุรกิจแบบเสมือนจริง (virtual business incubators) ยังมีอยู่น้อยมาก โดยมีเพียงประมาณ 65 แห่ง จากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจทั่วโลกประมาณ 9,000 แห่ง

ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจแบบเสมือนจริง คือศูนย์ที่จะทำให้ธุรกิจใหม่สามารถรับบริการบ่มเพาะธุรกิจได้กว้างขวางมากขึ้น โดยไม่ถูกจำกัดด้วยตำแหน่งที่ตั้งของธุรกิจ และทำให้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจสามารถสร้างความร่วมมือกับศูนย์บ่มเพาะธุรกิจอื่นและองค์กรอื่นๆ ได้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้การบ่มเพาะธุรกิจมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

การปรับตัวไปสู่การบ่มเพาะธุรกิจแบบเสมือนจริง จะทำให้เกิดรูปแบบของการบ่มเพาะธุรกิจแบบเปิด (open incubation) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนลดลงในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงบริการบ่มเพาะธุรกิจได้ง่ายขึ้น เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และมีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น รวมทั้งทำให้ง่ายต่อการใช้ทรัพยากรร่วมกับธุรกิจอื่น เพราะดำเนินการบนฐานของนวัตกรรมการร่วมธุรกิจใหม่ๆ อาทิ แพลตฟอร์มความร่วมมือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (collaboration platforms) การบริการในระบบคลาวด์ (cloud services) การระดมทุนจากมวลชนในระบบคราวด์ (crowd funding) ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจใหม่ และการบ่มเพาะธุรกิจดังกล่าวข้างต้น เป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามสำหรับธุรกิจในประเทศไทย การปรับตัวให้มีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และการสร้างธุรกิจให้มีคุณภาพจะเป็นตัวรับประกันว่า ธุรกิจใหม่จะสามารถแข่งขันได้ในอนาคต สำหรับแนวโน้มของธุรกิจใหม่และการบ่มเพาะธุรกิจในประเด็นที่เหลืออยู่ ผมจะนำเสนอในบทความต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
 
แหล่งที่มาของภาพ : http://image.bangkokbiznews.com/media/images/size1/2015/08/10/f98icihi9g5bieiba78db.jpg