แนวโน้มโลก 2050 (ตอนที่ 1)
กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเสวนา"การจัดการด้าน Supply Chain และ Logistics เพื่อเตรียมพร้อมรองรับประชาคมอาเซียน"ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภายใต้หัวข้อบรรยายเรื่อง "Global Trend 2050 (แนวโน้มโลกปี 2050)" ซึ่งผมได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในปี 2050 บทความนี้จะกล่าวถึงสิ่งที่ผมได้นำเสนอไปในงานเสวนาดังกล่าว โดยในตอนแรกจะกล่าวถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลกในปี 2050 ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร ส่งผลอย่างไรต่อทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดและทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
เมื่อดูจากการคาดการณ์จำนวนประชากรโลกปี 2050 พบว่า จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้น 38% จาก 6.9 พันล้านคน เป็น 9.6 พันล้านคน โดยประชากรจะมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้นอย่างน้อย 9 ปี ประชากรอายุ 15-64 ปีจะเพิ่มขึ้น 33% ในขณะที่ประชากรอายุมากกว่า 65 ปีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 181% ดังนั้น หากพิจารณาแนวโน้มดังกล่าวประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องอันเนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย จะเห็นได้ว่าการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันได้แก่ อาหาร น้ำ และพลังงาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรมนุษย์วัยแรงงาน จึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ
1. อาหาร
จากการคาดการณ์ปริมาณการผลิตพืชหลัก อาทิ ข้าวโพด ข้าว ข้าวสาลี และถั่วเหลือง ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายตัวเพียง 38-67% เท่านั้นในปี 2050 เป็นสัญญาณเตือนภัยที่สำคัญสำหรับโลกในการรับมือกับสภาวะการขาดแคลนอาหารที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเมื่อดูจากการคาดการณ์ความต้องการด้านอาหารในปี 2050 ที่กำลังจะมาถึง พบว่า ผลผลิตทางการเกษตรจำเป็นต้องขยายตัวสูงถึง 60-110% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของปริมาณผลผลิตที่โลกสามารถผลิตได้
ทั้งนี้สำหรับทวีปที่คาดว่าจะต้องการอาหารมากที่สุดคือทวีปแอฟริกา ทวีปที่ประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 814 ล้านคน และมีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นถึง 300% ดังนั้น เป็นที่ทราบดีว่า หากประชากรโลกมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ และการขยายตัวด้านอาหารไม่สามารถขยายตัวเพิ่มมากขึ้นได้ ความไม่มั่นคงทางอาหาร (food insecurity) จะเกิดขึ้นอย่างมากมายและรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบันในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีฐานะยากจนในแถบทวีปแอฟริกา เป็นต้น
2. น้ำ
จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการน้ำเพิ่มขึ้น 400% ในภาคการผลิต 140% สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อน และ 130% สำหรับการใช้ตามครัวเรือน ทำให้อุปสงค์น้ำทั้งโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่า 55% ของอุปสงค์น้ำ ณ ปัจจุบัน ทั้งนี้จากสภาวะขาดแคลนทรัพยากรน้ำส่งผลให้ประชากรกว่า 1.4 พันล้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮาร่า (Sub-Sahara Africa) จะยังคงไม่สามารถได้รับสุขอนามัยขั้นพื้นฐานที่ดี อันเนื่องมาจากปัจจัยเรื่องทรัพยากรน้ำ
3. พลังงาน
ผลจากการเพิ่มจำนวนประชากร และการขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้ความต้องการพลังงานในปี 2050 มีแนวโน้มขยายตัวตามไปด้วย ทั้งนี้เมื่อดูจากการประมาณของ International Energy Agency พบว่า ความต้องการพลังงานของโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 50% จากปี 2010 การใช้พลังงานประเภทฟอสซิลจะลดลง และสามารถตอบสนองความต้องการเบื้องต้นได้เพียง 80% ของความต้องการพลังงานทั้งหมด และถึงแม้ว่าพลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น จะมีแหล่งสำรองหลงเหลืออยู่บ้าง แต่หากมองในระยะยาว พลังงานฟอสซิลจะเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในระยะยาวได้ ดังนั้นพลังงานทดแทน อาทิ ลม โซลาร์เซลล์ (Solar cell) ไบโอแมส (Biomass) จะขยายตัวและมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นแทนที่พลังงานฟอสซิล
4. ทรัพยากรมนุษย์
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรมีผลต่อมิติแรงงาน ทั้งนี้กำลังแรงงานในหลายประเทศซึ่งหดตัวลง อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมัน มีสาเหตุหลักมาจากประชากรกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีอัตราการเกิดและอัตราการตายที่ลดลง แตกต่างจากบางประเทศ อาทิ อินเดีย และประเทศในทวีปแอฟริกา ที่มีแนวโน้มการขยายตัวของแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรโลกดังกล่าวส่งผลทำให้การแข่งขันเพื่อดึงดูดบุคลากรเข้ามาทำงานในประเทศของตนเป็นไปอย่างดุเดือดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะแรงงานคุณภาพและทรัพยากรวัยแรงงานจะมีจำนวนจำกัดมากขึ้น ดังนั้นเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน บริษัทต่างๆ จึงมีความจำเป็นต้องปรับตัวและวางนโยบายให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เฉกเช่นเดียวกับนโยบายของภาครัฐที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงด้านแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับแรงงานที่มาจากต่างประเทศ หรือนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนในชาติทำงานภายในประเทศ เป็นต้น
บทเรียนสำหรับประเทศไทย : ทรัพยากรทั้ง 4 ประการข้างต้นคือสิ่งที่ประเทศไทยควรวางแผนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในอนาคต
ในด้านอาหาร ไทยควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรเพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรในประเทศมีมากยิ่งขึ้น ในส่วนของทรัพยากรน้ำ สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือเราทุกคนควรร่วมมือกันประหยัดน้ำ และหาหนทางในการใช้น้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้านทรัพยากรพลังงาน ไทยมีความจำเป็นที่จะต้องหาแหล่งพลังงานทดแทนใหม่ๆ มาใช้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของโลก โดยส่งเสริมให้มีงานวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้นในประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือเกี่ยวกับการพัฒนาด้านพลังงานระหว่างประเทศ เป็นต้น ท้ายที่สุด ในส่วนของทรัพยากรมนุษย์ ประเทศไทยควรวางแผนระยะยาวในการดึงดูดแรงงานจากประเทศต่างๆ อาทิ ประเทศในแอฟริกา ทวีปที่จะมีวัยแรงงานมากที่สุดในโลกในปี 2050 ให้สามารถเข้ามาทำงานในประเทศได้มากยิ่งขึ้น โดยมีมาตรการในการป้องกันผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ เป็นต้น
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://1.bp.blogspot.com/-zF-Zy-8jnm8/T6qUst60lLI/AAAAAAAAAng/WofJrGPDsbg/s1600/GE_hands.jpg