เป็น "มืออาชีพ" อย่าเป็นเพียง "อาชีพ" !!
เราทำงานแบบ "มืออาชีพ" หรือทำเพียงเป็น "อาชีพ"?
เราสร้างผลงาน "ดีเลิศ" จนเป็นที่ยอมรับ หรือ ทำพอผ่าน ๆ ตามค่าตอบแทนที่ได้รับ..
เรารับผิดชอบงานอย่างดี แม้ไม่มีใครคุม หรือ ถ้าหัวหน้าไม่คุม ก็ไม่กระตือรือร้นที่จะทำ..
เรายินดีทุ่มเททำงานให้สำเร็จ เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม หรือ ถ้าส่วนตัวไม่ได้ประโยชน์ ก็ไม่ค่อยอยากทำ..
คนที่ทำงานแบบมืออาชีพจะแตกต่างจากคนที่ทำงานเป็นอาชีพ มืออาชีพจะมุ่ง ?งาน? แต่คนทำงานเป็นอาชีพจะมุ่ง ?เงิน? หรือเพื่อแลกเปลี่ยนผลตอบแทนที่ได้รับ
ในทุกองค์กรย่อมต้องการคนทำงาน ?มืออาชีพ? มากกว่า เพราะมั่นใจได้ว่าจะช่วยสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับองค์กรได้ คุ้มค่ากับค่าตอบแทนที่จ่ายไป และแน่นอนว่า โอกาสก้าวหน้าสู่ตำแหน่งหัวหน้า หรือผู้บริหารระดับสูง ๆ ขึ้นไปย่อมมีมากกว่า
สำนวนจีนบทหนึ่ง กล่าวไว้ว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน ระยะทางยิ่งยาวไกล ยิ่งทำให้รู้ว่าม้าที่เราควบไปนั้นมีกำลังมากน้อยเพียงใด เวลาที่ผ่านไปจะทำให้เราเห็นตัวตนของคน ๆ นั้นอย่างถ่องแท้ว่าเป็นเช่นไร... หากเปรียบกับการทำงาน อายุงานที่ผ่านไป จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพของบุคคลนั้นว่ามีมากน้อยเพียงใด
คนทำงานที่ต้องการความก้าวหน้า ไม่ว่าจะอยู่ในสาขาวิชาชีพ หรือบทบาทหน้าที่ใด ต้องพัฒนาให้ทำงานอย่างมืออาชีพ ไม่ควรทำงานเป็นเพียงอาชีพ หรือมุ่งทำเพื่อแลกผลประโยชน์ตอบแทนเท่านั้น แต่ต้องตั้งเป้าพัฒนาตนเองให้ทำงานเก่งขึ้น เร็วขึ้น ดีขึ้น ผิดพลาดน้อยลง สร้างผลงานที่มีคุณค่าสูงขึ้น ตามอายุการทำงานที่เพิ่มขึ้น
ผมนิยาม ความเป็นมืออาชีพ (professionalism) ว่าหมายถึง การมีความรอบรู้ เชี่ยวชาญชำนาญพิเศษในวิชาชีพของตน สามารถปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานอย่างถูกต้อง มีไหวพริบในการจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ และลงมือทำอย่างจริงจัง มุ่งมั่นตั้งใจให้เกิดผลงานที่ดีที่สุด
ความเป็นมืออาชีพนำความสำเร็จมาสู่คนทำงานในทุกวิชาชีพได้มากกว่า ในองค์กรใดหากมี ผู้นำมืออาชีพ จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับ ผู้นำมือสมัครเล่น สังเกตได้จาก ความสามารถในการนำ ความจริงจังในการนำ และความสำเร็จจากการนำ ผู้นำมืออาชีพมีแนวโน้มนำคน นำภารกิจ นำองค์กรบรรลุเป้าหมาย สร้างผลงานที่มีผลลัพธ์ได้มากกว่า ใช้ความรู้ความคิดสติปัญญาอย่างรอบคอบครบถ้วนทำให้ตัดสินใจผิดพลาดน้อยกว่า ฟันฝ่าวิกฤตอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ได้ดีกว่า สร้างแรงบันดาลใจปลุกพลังทีมงานได้แรงกว่า กระตือรือร้น มุ่งมั่นสู่เป้าหมาย อย่างไม่ย่อท้อล้มเลิกระหว่างทางได้มากกว่า มีความรับผิดรับชอบสูงกว่า และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เสียสละ ไม่เห็นแก่ตัวได้เหนือกว่า ฯลฯ และแน่นอนว่า จะนำองค์กรประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้มากกว่า
ในส่วนของคนทำงานทุกคน จึงควรพัฒนาตนเองให้ทำงานแบบมืออาชีพ โดยคนที่ทำงานแบบมืออาชีพ จะมีองค์ประกอบที่โดดเด่นครบ 6 ประการ ได้แก่
มีความรู้และรอบรู้ ถ้าไม่มีความรู้เป็นมืออาชีพไม่ได้ เราอยู่ในสายงานใดต้องรู้จริง รู้ลึกซึ้ง รู้สุดพรมแดนความรู้ในขอบข่ายงานที่ทำ ไม่เพียงมีความรู้แต่มีความรอบรู้ รู้กว้าง รู้ไกล ในเรื่องต่าง ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานได้อย่างเหมาะสม
มีความเชี่ยวชาญชำนาญ มืออาชีพมักจะเป็นพวกมี ?ชั่วโมงบินสูง? มีประสบการณ์ในการทำงานนั้น ๆ มาอย่างช่ำชอง ผ่านการเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก ความผิดพลาดล้มเหลว เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างรอบด้าน จนเกิดความเชี่ยวชาญชำนาญ เป็นผู้มีความสามารถในระดับสูง ทำคล่อง ทำเร็ว ทำถูกต้อง มีเทคนิควิธีที่ยอดเยี่ยม
มีมาตรฐาน มืออาชีพจะมีทักษะในการปฏิบัติงานเป็นอย่างดี ทำงานมีประสิทธิภาพ รวดเร็วแม่นยำ สามารถสร้างงานได้มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน หรือสูงกว่ามาตรฐาน จนเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาชีพนั้น ๆ ว่า เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง
มีจริยธรรม มืออาชีพจะไม่ทำลายตนเองด้วยการละเมิดจรรยาบรรณ เพราะรู้ว่ามันเป็นการทำลายอนาคตที่เหลือของตนเอง จึงเป็นพวกที่ยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ ด้วยจิตสำนึกผิดชอบชั่วดี เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว
มีความทุ่มเทจริงจัง มืออาชีพจะเป็นคนที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ มีเป้าหมายชัด ยุทธศาสตร์ชัด วิธีการชัด และเป็นคนที่กระตือรือร้น ทุ่มเททำอย่างจริงจัง มีความรับผิดชอบ มุ่งมั่นสู่เป้าหมาย ไม่ย่อท้อล้มเลิกระหว่างทาง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาตามเป้าหมาย
มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ถ้าไม่มีผลงานแสดงว่า ยังไม่มืออาชีพ มืออาชีพต้องมีผลงานที่มีผลลัพธ์ตามเป้าประสงค์ และต้องเป็นผลงานที่ ?ดีเลิศ? ไม่ใช่ออกมาแบบพอผ่าน จึงสะท้อนความเป็นมืออาชีพได้อย่างแท้จริง
หากคนทำงานทุกคนใช้เวลาทำงานทุกวัน พัฒนาความเป็นมืออาชีพ - รู้มากขึ้น รู้ลึกขึ้น เชี่ยวชาญมากขึ้น มีมาตรฐานสูงขึ้น จริยธรรมสูงขึ้น ทุ่มเทจริงจังมากขึ้น และสร้างผลงานที่ทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น ย่อมเท่ากับเป็นการสร้าง "มูลค่าเพิ่ม" ให้ตนเอง ในฐานะมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง
งานวันนี้
ปีที่ 16 ฉบับที่ 698 วันที่ 5-12 สิงหาคม 2557
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
Tags:
Post date:
Thursday, 22 October, 2015 - 10:48
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เมื่อธรรมาภิบาลสั่นคลอน: บทเรียนและทางออกสำหรับตลาดทุนไทย
Total views: อ่าน 90 ครั้ง
แชร์ไอเดีย นโยบายการจัดการยาบ้าออกจากสังคมไทย
Total views: อ่าน 95 ครั้ง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 284 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 272 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 295 ครั้ง