เสริมสร้างเสน่ห์ให้ลูกรัก

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

จากบทหนึ่งในหนังสือ ldquo;เรื่องเล่าเขย่าคิดrdquo; ที่ผมเคยเขียนเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังว่า ผมมีหนังสือที่สันปกได้รับความเสียหายอยู่หลายสิบเล่ม แม้ผมจะบริจาคเข้าห้องสมุดไปหมดแล้ว แต่เมื่อคิดถึงหนังสือเหล่านี้เมื่อใด เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุจะผุดขึ้นมาในใจผม พร้อม ๆ กับคำถามที่ยังค้างคาใจอยู่เสมอว่า ldquo;เหตุใด พ่อแม่จึงปล่อยให้ลูกทำแบบนี้hellip;.rdquo;

สมัยเมื่อทำงานอยู่ในประเทศออสเตรเลีย ครั้งหนึ่งมีเพื่อนคนไทยมาเยี่ยมบ้าน พาลูก ๆ วัยกำลังซนมาด้วย 2 คน ขณะที่เรานั่งพูดคุยกัน ลูก ๆ ของเขาก็ไปอยู่ที่ชั้นหนังสือของผมซึ่งมีหนังสืออยู่เต็ม เด็ก ๆ ได้หยิบหนังสือออกมาจากหิ้งทีละเล่ม แต่ไม่ได้เอามาอ่านนะครับ เอามาโยนเล่นกันไปมาอย่างสนุกสนาน

ผมเหลือบตาไปมอง ตกใจhellip;หนังสือของผม!! หนังสือดี ๆ ทั้งนั้นอุตส่าห์สะสมไว้ แทนที่จะอ่านดี ๆ กลับมาโยนเล่นกันอย่างนี้ หนังสือก็เสียหมดน่ะสิ..

ผมคิดว่าพ่อแม่เมื่อเห็นลูกทำอย่างนั้นจะรีบห้ามปราม แต่ที่ไหนได้ กลับนั่งเฉยทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่สนใจ พูดคุยต่อไปเรื่อย ๆ ไม่คิดจะลุกไปเตือนลูกสักคำว่ากำลังทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมอยู่

ตอนนั้น ผมไม่รู้จะทำอย่างไร จะไปว่า ไปตักเตือนลูกเขาก็ใช่ที่ พ่อแม่เขายังไม่เตือนเลย เพื่อเป็นการรักษาน้ำใจระหว่างกัน ผมจึงต้องอดทนดูหนังสือถูกโยนไป โยนมา แต่ทำอะไรไม่ได้
หลังจากครอบครัวนี้กลับไป ผมสำรวจความเสียหายของหนังสือ พบว่า สันหนังสือเสียไปหลายสิบเล่ม ในใจนึกขยาดครอบครัวนี้ไปนานทีเดียวhellip;

ในฐานะที่เป็นพ่อแม่ เราคงไม่ต้องการให้ลูกที่รักของเราเป็นที่ถูก (แอบ) รังเกียจ เช่นนี้เป็นแน่ เราอาจเคยมองดูเด็กคนอื่น ๆ ด้วยความคับข้องใจในพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ รวมไปถึงความสงสัยในตัวพ่อแม่ของเด็กคนนั้นว่าทำไมไม่สั่งสอนลูก

อย่างไรก็ตามเราเคยมองย้อนมาสู่ตัวลูกของเราหรือไม่ว่าลูกที่รักของเรานั้นมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์อันเป็นที่สร้างความอัดอัดต่อคนรอบข้างบ้างหรือไม่ เนื่องจากพ่อแม่จำนวนมากมักมีใจที่แอบโน้มเอียง เข้าข้างลูกของตนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่าเป็นเด็กดี ทำอะไรก็น่ารัก แม้ลูกมีนิสัยที่ไม่ดีมากมายแต่พ่อแม่พร้อมที่จะปกป้องลูกเสมอทั้ง ๆ ที่ในบางครั้งเป็นการเข้าข้างกันแบบข้าง ๆ คู ๆ แก้ตัวแทนอย่างไม่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำกล่าวอ้างที่ว่า ลูกยังเล็กอยู่ ไร้เดียงสา ทำอะไรก็น่าเอ็นดู คงไม่มีใครถือสา โดยไม่คิดที่จะมาแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของลูกนั้นอย่างจริงจัง ส่งผลให้พฤติกรรมที่ไม่น่ารักต่าง ๆ นั้นยังคงติดตัวและฝังรากลึกในชีวิตลูกเรื่อยไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถใช้ข้ออ้างที่ว่ายังเล็กอยู่ ยังไร้เดียงสา ทุกคนพร้อมที่จะให้อภัยได้อีกต่อไป

มนุษย์ทุกคนย่อมต้องการที่จะเป็นที่รักของผู้อื่น มากกว่าการเป็นที่เกลียดชังของคนรอบข้าง การเป็นคนที่น่ารักย่อมเป็นที่ได้เปรียบกว่าในทุกทาง ใครเห็นใครเอ็นดู พร้อมอุ้มชูให้ไปสู่ความสำเร็จได้โดยง่าย ทั้งในชีวิตการทำงาน ชีวิตครอบครัว ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่เติบโตมาอย่างเป็นที่รักของคนรอบข้างนั้นย่อมมีความมั่นคงในจิตใจ มีความมั่นใจในตนเองมากกว่า รวมทั้งเป็นความภาคภูมิใจของพ่อแม่ด้วยเช่นกัน

การที่พ่อแม่จะสามารถสร้างลูกให้เติบโตมาเป็นที่รักต่อคนรอบข้าง หรือ เป็นเด็กที่ใครเห็นใครรัก ใครอยู่ด้วยล้วนแล้วแต่เอ็นดูได้นั้น พ่อแม่จำเป็นต้องสร้าง ldquo;เสน่ห์rdquo; ให้กับลูกนั่นเอง โดยแนวทางการสร้าง ldquo;เสน่ห์rdquo; หรือตามที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายว่าเป็น ldquo;ลักษณะที่ชวนให้รักrdquo; นั้นไม่ใช่เพียงแค่การสร้างลักษณะภายนอกหรือการจับลูกของเรามาแต่งหน้าแต่งตัวให้สวยงามแต่อย่างใด แต่เป็นการสร้างเสน่ห์ที่ยั่งยืนลึกลงไปถึงลักษณะนิสัยภายในอันจะอยู่ติดตัวลูกไปอย่างยั่งยืน
โดย ldquo;ลักษณะนิสัยชวนให้รักrdquo; หลัก ๆ สำคัญ ที่พ่อแม่ควรสร้างให้เกิดขึ้นในชีวิตของลูกนั้นได้แก่

ความมีน้ำใจต่อคนรอบข้าง

เด็ก ๆ สามารถทำสิ่งที่ดีเพื่อผู้อื่นได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเด็กไม่เคยทำอะไรลักษณะเช่นนี้เลย นี่สิแปลก ทั้งนี้เพราะเด็ก ๆ ทุกคนจะมีส่วนประกอบของจิตใจที่สามารถเห็นอกเห็นใจ สงสาร และปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้ที่มีความทุกข์ มีความเศร้าโศก

จากการศึกษาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ได้มีการศึกษาถึงต้นกำเนิดของพฤติกรรมการห่วงใยผู้อื่น (caring behavior) พบว่า แม้แต่เด็กอายุเพียง 18 เดือนก็สามารถที่จะแสดงความเห็นใจ (sympathy) คนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือคนที่ไม่มีความสุข และแสดงออกซึ่งความพยายามที่จะช่วยเหลือ แต่ลักษณะเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นก่อนจะแสดงออกอย่างชัดเจนเมื่ออายุ 4 ขวบ และจะเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งถึงอายุ 13 ปี ลักษณะดังกล่าวสัมพันธ์กับความสามารถในการมีอารมณ์ร่วมกับสิ่งต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นตามวัย และการที่เด็กแสดงพฤติกรรมดังกล่าวนั้นไม่ขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในครอบครัวที่ยากจนหรือร่ำรวยก็สามารถทำสิ่งที่ดีเพื่อผู้อื่นได้

เด็กที่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นก่อนจะมีแนวโน้มก้าวหน้าในการพัฒนาการใช้เหตุผล (mental reasoning) พวกเขาจะมีแนวโน้มเป็นเด็กที่มีความกระตือรือร้นและมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นคนที่เลือกทำงานเพื่อก่อประโยชน์แก่ส่วนรวมและผู้อื่น เป็นผู้ที่ผู้อื่นเลือกที่จะคบหาสมาคมด้วยมากกว่า
พ่อแม่ควรสอนลูกให้มีน้ำใจต่อคนรอบข้าง โดยการเป็นแบบอย่างที่ดีและการสอนผ่านชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปัน การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน การยอมเสียสละมอบสิ่งดีที่มีอยู่ให้ผู้อื่น การเรียนรู้ที่จะเป็นผู้เสียเปรียบมากกว่าการตั้งเป้าเพียงแค่ว่าตนต้องเป็นผู้ที่ได้รับเท่านั้น ห้ามเสียเปรียบใครทั้งสิ้น เพราะการที่เราให้ออกไปนั้นแท้จริงแล้วเปรียบได้กับเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์สิ่งดีลงไปในดิน ซึ่งเมื่องอกงามเป็นต้นไม้ใหญ่แล้วย่อมออกดอกออกผลให้เราได้เก็บกินสิ่งดีที่ได้หว่านออกไปนั้นตามมามากมายตราบนานเท่านาน

เคารพในสิทธิของผู้อื่น

พ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกได้เห็นถึงสิทธิส่วนบุคคลที่เราทุกคนพึงมีพึงได้ อาทิ สิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล ฯลฯ และชี้ให้ลูกเห็นว่าการไปรุกล้ำละเมิดในสิทธิของผู้อื่นแล้วจะทำให้เกิดความเดือดร้อนอย่างไร เช่น สอนว่าหากลูกไปขโมยเงินของเพื่อนเขาอาจไม่มีเงินซื้ออาหาร หรือไม่มีเงินค่ารถที่จะกลับบ้าน หรือชี้ให้ลูกเห็นว่าพนักงานเก็บเงินคงจะเดือดร้อนเป็นอย่างมากที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนของสินค้าที่เราแอบขโมยออกมาจากร้านhellip;สอนลูกว่าหากเราไปทำร้ายร่างกายผู้อื่น ผู้ที่ถูกเราทำร้ายย่อมได้รับความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก

พ่อแม่ควรสอนให้ลูกสะท้อนคิดว่าถ้าหากมีใครมาทำกับเขาเช่นนี้บ้างเขาเองจะรู้สึกอย่างไร รวมถึงผลจากการกระทำที่เขาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น การถูกลงโทษจากกฎหมาย หรือกฎโรงเรียน การถูกลงโทษจากสังคม การถูกรังเกียจและไม่มีใครอยากคบด้วย เป็นต้น

ความซื่อสัตย์

ความซื่อสัตย์นับเป็นลักษณะชีวิตที่สำคัญประการหนึ่งที่สามารถบ่งบอกได้ว่าคนผู้นั้นเป็นผู้ที่น่าคบหาสมาคมสามารถไว้วางใจได้มากเพียงใด หรือเป็นผู้ที่ควรหลีกห่างออกไปให้มากที่สุด
หากพ่อแม่ต้องการสร้างให้ลูกของตนเป็นเด็กที่ซื่อสัตย์ สิ่งสำคัญนอกจากการเป็นแบบอย่างของตัวพ่อแม่เองแล้ว นั่นคือพ่อแม่ต้องสอนให้ลูกเห็นคุณค่าของความซื่อสัตย์เสียก่อน เพราะการสร้างเพียงรูปแบบ หรือการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้ลูกทำตามเท่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอ เช่น หากพ่อแม่สอนลูกในเรื่องของการพูดโกหกว่า ldquo;ห้ามโกหกแม่นะ แม่ไม่ชอบrdquo; ลูกย่อมไม่พูดโกหกเพราะกลัวว่าแม่จะโกรธหรือตี โดยที่ในความเข้าใจของเขานั้นอาจคิดในอีกมุมหนึ่งว่า ldquo;หากจะโกหกแม่ต้องมีชั้นเชิงอย่าให้แม่จับได้rdquo; หรือ ldquo;จะไปโกหกหลอกลวงใครที่ไหนก็ได้ยกเว้นกับแม่ตัวเองrdquo; เป็นต้น

ดังนั้นพ่อแม่จึงควรที่จะสอนลูกให้เข้าใจอย่างแท้จริงว่าความซื่อสัตย์นั้นมีคุณค่า และความสำคัญต่อชีวิตของลูกอย่างไร เช่น ความซื่อสัตย์จะเป็นรากฐานที่นำลูกไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริง ความซื่อสัตย์ส่งผลให้ลูกของเราเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงดีเป็นที่รักของคนรอบข้างและเป็นผู้ที่สามารถไว้วางใจได้ ความซื่อสัตย์ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง เป็นต้น

การยึดเอาความซื่อสัตย์เป็นหลักเกณฑ์ในการดำเนินชีวิตนั้น แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง และน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะความซื่อสัตย์เป็นความกล้าหาญในการยอมรับความเป็นจริง และกล้าหาญในการกระทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม แม้รู้ว่าอาจต้องถูกลงโทษ หรืออาจต้องสูญเสียผลประโยชน์ที่ตนเองต้องการหรือควรที่จะได้รับไปก็ตาม

รู้กาลเทศะ มารยาทสังคม

มารยาทในการเข้าสังคมเป็นสิ่งที่ลูกจำเป็นต้องเรียนรู้ เนื่องจากเปรียบเสมือนมาตรฐานที่สังคมนั้นใช้เป็นเกณฑ์ในการปฎิสัมพันธ์กัน ซึ่งในแต่ละสังคมจะมีกฎกติกาที่แตกต่างกันออกไป หากพ่อแม่ไม่อบรมสั่งสอนลูกให้เข้าใจถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านั้นแล้ว เมื่อลูกเติบใหญ่ก้าวออกไปสู่สังคมภายนอก เขาอาจทำในสิ่งที่ขัดแย้งต่อกฎกติกามารยาทสังคมนั้น ส่งผลให้ถูกรังเกียจ ไม่มีใครอยากคบ เช่น มารยาทในการแต่งกาย หรือการเคารพนบนอบให้เกียรติผู้ใหญ่ของสังคมไทย เป็นต้น

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่จะมีการส่งผ่านวัฒนธรรมค่านิยมต่าง ๆ จากทั่วโลกอย่างเสรี ส่งผลให้เราอาจจะต้องเข้าไปปฏิสัมพันธ์รู้จักกับคนในกลุ่มที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับกฎกติกามารยาทของสังคมนั้น ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาทักษะทางสังคมที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลย

การสร้างเสน่ห์ให้กับตัวเองนั้นหลักการสำคัญคือ ldquo;ให้มากกว่ารับrdquo; เราปรารถนาอยากให้ผู้อื่นมองเราหรือปฏิบัติต่อเราเช่นไร เราต้องทำในสิ่งนั้นออกไปก่อนเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่จำเป็นต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก รวมทั้งการอบรมสั่งสอนจากประสบการณ์จริงผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ จากนิทาน หรือจากตัวอย่างสมมติ นอกจากนี้บทบาทสำคัญของพ่อแม่อีกประการหนึ่งนั่นคือในการเป็นกระจกเงาที่คอยส่องภาพความเป็นจริง สะท้อนให้ลูกได้เห็นและรู้จักและเห็นข้อบกพร่องของตนเองที่หากปล่อยทิ้งไว้แล้วอาจพัฒนากลายเป็นนิสัยที่น่ารังเกียจต่อไปในอนาคตอันเป็นเหตุให้ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วยในที่สุด ในขณะที่สอนย้ำถึงสิ่งที่ดีที่ลูกควรทำเพื่อเป็นเหมือนสมบัติที่ติดตัวเขาไปจนโตที่ไม่มีใครปล้นเอาไปได้

admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
นิตยสารแม่และเด็ก
เมื่อ: 
2009-06-01