3 วิกฤตการศึกษาไทยที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้

ผ่านพ้นการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ไม่ว่าพรรคใดได้เข้ามาเป็นรัฐบาล สิ่งที่รัฐบาลใหม่จะต้องเร่งดำเนินการคือการพัฒนาด้านการศึกษาทั้งด้านโอกาสและคุณภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนากำลังคนของประเทศ และกระทรวงศึกษาธิการเป็นใหญ่ที่มีภารกิจงานมาก ในขณะที่ผ่านมามีปัญหาด้านการศึกษาหลายประการที่สะสมมายาวนาน ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขจะนำไปสู่ปัญหาอื่นตามมา บทความนี้นำเสนอประเด็นปัญหาวิกฤตการศึกษาที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งหาทางออกและแก้ไข ดังนี้

1. จัดการศึกษา 12 ปี ฟรีจริงหรือไม่

กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 49 และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มีผลให้ผู้เรียนทุกคนต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้จริง จากผลการประเมินการบังคับใช้กฎหมายการศึกษา ปี 2548 ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในประเด็นของการจัดการศึกษาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยสอบถามผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้บริหารสถานศึกษา และครู พบว่า การศึกษาไม่ได้ฟรีจริงอย่างที่คิด มีเพียงร้อยละ 36.8 ที่ไม่เก็บค่าใช้จ่าย และร้อยละ 63.2 มีการเก็บค่าใช้จ่าย เนื่องจากงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้และเงินอุดหนุนไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายจริงที่โรงเรียนต้องรับผิดชอบ

ปัญหาดังกล่าว เริ่มต้นจากการไม่มีกฎหมายลูกรองรับตั้งแต่แรก ขณะที่ผู้บริหารสถานศึกษาเข้าใจดีว่าหากปฏิบัติตามกฎหมายจะทำให้งบฯ ไม่เพียงพอ จึงหาช่องทางโดยการจัดโปรแกรมพิเศษต่าง ๆ เพื่อหารายได้ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าการศึกษาไม่ฟรีจริง ยิ่งพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่มีนโยบายเรียนฟรี หากไม่มีกฎหมายรองรับที่ดีพอ นอกจากจะไม่สามารถจัดการศึกษาให้ฟรีจริงแล้ว ยังสร้างความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา เพราะคนรวยได้เปรียบคนจน และอาจเป็นภาระต่องบประมาณประเทศ

2. คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ

การประเมินผลการศึกษาของไทย โดยหน่วยงานภายในประเทศไทยและต่างประเทศ ชี้ชัดว่าคุณภาพการศึกษาไทยมีปัญหา ผลการประเมินในโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment: PISA) ปี 2549 โดยองค์การ OECD จากการสำรวจพบว่า มีนักเรียนไทยถึงร้อยละ 47 รู้วิทยาศาสตร์ต่ำกว่าระดับพื้นฐาน ผลการประเมินขององค์กรยูเนสโก (UNESCO) พบว่า ประเทศไทยควรปรับปรุงคุณภาพการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา และผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ปี 2548 พบว่า ระดับปฐมวัย เด็กปฐมวัยมากถึง 1 ใน 6 (กว่า 4 แสนคน) ได้รับการศึกษาไม่ทั่วถึงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ระดับการศึกษาชั้นพื้นฐาน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาต่าง ๆ ต่ำกว่าร้อยละ 50 ทุกวิชา และขาดทักษะการคิด ระดับอาชีวศึกษา ไม่สามารถจัดการศึกษาเพื่อสนองต่อตลาดแรงงาน ระดับอุดมศึกษา ขาดศักยภาพในการพัฒนางานวิชาการ การควบคุมคุณภาพการศึกษาไม่ดีพอ มีการเปิดหลักสูตรที่ไม่ได้คุณภาพ หากปล่อยให้การศึกษาไร้คุณภาพเช่นนี้ต่อไป ทรัพยากรบุคคลของประเทศจะด้อยคุณภาพลงเรื่อย ๆ

3. ขาดแคลนครูทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ

ผลการประเมินการบังคับใช้กฎหมายการศึกษา ปี 2548 ของ สกศ. โดยเข้าไปสอบถามความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ผู้ตอบร้อยละ 92.62 กล่าวว่า อัตรากำลังครูที่ได้รับจัดสรรจากส่วนกลางยังไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนและชั้นเรียน ซึ่งการขาดแคลนครูเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นมากในช่วงโครงการเออลี่รีไทร์ โดยตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน ได้รับอัตรากำลังครูคืนเพียงร้อยละ 26 หากรัฐบาลใหม่ตัดสินใจให้ครูเข้าร่วมโครงการเออร์ลี่รีไทร์ในปี 2552 ขณะที่ยังไม่ได้รับอัตรากำลังคืนทั้งหมด ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหา นอกจากนี้ การขาดแคลนครูยังเกิดจากการที่ไม่มีใครอยากเป็นครู เนื่องจากเงินเดือนน้อยและภาระความรับผิดชอบมาก จากการประเมินของ OECD ปี 2005 (Education at a Glance 2005) พบว่าครูไทยมีผลตอบแทนและสวัสดิการต่ำ แต่มีชั่วโมงการทำงานที่สูง โดยครูไทยต้องรับผิดชอบนักเรียนประมาณ 40 คน ต่อ 1 ห้องเรียน ชั่วโมงการทำงานอยู่ระหว่าง 900-1,200 ชั่วโมงต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยในประเทศกลุ่ม OECD ซึ่งอยู่ที่ 600-700 ชั่วโมงต่อปี อัตราเงินเดือนขั้นต้นของครูไทยอยู่ที่ 6,048 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในประเทศกลุ่ม OECD ซึ่งอยู่ที่ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ปัญหาการขาดแคลนครูจะส่งผลเสียต่อคุณภาพการศึกษาไทยในอนาคต หากรัฐบาลหน้าไม่เริ่มต้นแก้ไขอย่างจริงจัง

ทางออกของวิกฤตปัญหาการศึกษาทั้ง 3 ประการนั้น ต้องอาศัยความจริงจัง ความต่อเนื่อง มีการกำหนดกลไก มาตรการและขั้นตอนดำเนินการที่ชัดเจน โดยเอาประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เหนือสิ่งอื่นใด จุดขับเคลื่อนสำคัญคือ ต้องเริ่มจากคัดเลือกผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากบุคคลที่มีความเหมาะสมคือ มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา มีวิสัยทัศน์ มีภาวะผู้นำ สามารถบริหารเชิงกลยุทธ์ มีคุณธรรมจริยธรรม สามารถสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษา และที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่มุ่งมั่นไม่เอนเอียงไปตามกระแสทางการเมือง ตั้งใจที่จะเห็นการศึกษาไทยมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น จากนั้นต้องปฏิรูปการทำงานของแกนกลาง 5 แท่งของกระทรวงศึกษาธิการ โดยวัดความสำเร็จกันที่ผลสัมฤทธิ์ด้านคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศ โดยแกนกลางทั้ง 5 จะต้องเร่งปฏิรูปการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์จากแกนกลาง ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ ที่มุ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะหากจุดเริ่มต้นมีปัญหาย่อมส่งผลสู่ปลายทาง ดังนั้นต้องเร่งปฏิรูประบบการทำงานรวมถึงกำลังคนของแกนกลางทั้ง 5 แท่ง โดยไม่ได้วัดกันที่จำนวนนโยบาย มาตรการ หรือกฎหมายต่าง ๆ ผลักดันสู่หน่วยปฏิบัติการเท่านั้น แต่ต้องวัดกันที่ผลสัมฤทธิ์ด้านคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศ และให้มีส่วนร่วมกันรับกันผิดและรับชอบกันไปตามผลงาน
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐรายวัน
เมื่อ: 
2008-01-07