ธ.ก.ส. ไม่ควรให้รัฐมนตรีกำหนดปริมาณเงินสำรอง
การแยกฝ่ายกำกับและดูแลระบบสถาบันการเงินออกจากธนาคารแห่งประเทศไทยมาไว้ที่กระทรวงการคลังนั้น เป็นประเด็นที่ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ และยังคงไม่ได้ข้อสรุป แต่อย่างไรก็ตามมีหลายคนที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านในเรื่องดังกล่าว ซึ่งผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าวผมได้ชี้แจงจุดยืนของผมไปแล้ว ในการอภิปรายเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2548 ในวาระรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ hellip;) พ.ศ. hellip; (ปรับปรุงวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.สัดส่วนของการถือหุ้นของสถาบันการเงินและบุคคลอื่นใน ธ.ก.ส.) ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
ในร่าง พ.ร.บ.นั้นมีการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราหนึ่ง คือ มาตรา 13 เกี่ยวกับการเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีในการกำหนดเงินกองทุนและเงินสดสำรอง ซึ่งอนุญาติให้ในกรณีมีเหตุอันสมควร รัฐมนตรีอาจกำหนดเงินกองทุนและเงินสดสำรองได้ ซึ่งแต่เดิมนั้นกำหนดให้เป็นไปตามข้อบังคับตามกฎหมาย ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี ซึ่งประเด็นนี้มีหลักการคล้ายกับ การที่รัฐบาลพยายามดึงอำนาจการกำกับและดูแลระบบสถาบันการเงินออกจากธนาคารแห่งประเทศไทยมาไว้ที่กระทรวงการคลัง ซึ่งจะทำให้กระทรวงการคลังหรือรัฐบาลมีอำนาจในการกำหนดเงินกองทุนและเงินสดสำรองของธนาคารต่าง ๆ ได้
ในสภาวันนั้น ผมได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายในมาตรา 13 นี้ เนื่องจาก การให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดเงินกองทุนและปริมาณเงินสดสำรอง เป็นการเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจที่อาจสร้างปัญหาได้ ทั้งนี้การเพิ่มหรือลดอัตราเงินสดสำรองเป็นวิธีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณเงินอย่างรุนแรง ทำให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นหรือลดลง รวดเร็ว ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายให้รัฐบาลมีอำนาจดังกล่าว อาจสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพราะโดยทั่วไป รัฐบาลมักมีแรงจูงใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว เพื่อหวังผลทางการเมือง
ในกรณีที่รัฐบาลเห็นว่า เศรษฐกิจไม่ดี ชะลอตัว อาจไม่เติบโตตามเป้า รัฐบาลอาจใช้ ธ.ก.ส.เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการลดเงินกองทุนและปริมาณเงินสดสำรอง ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวอย่างมากของสินเชื่อและส่งผลให้เกิดการบริโภคมากขึ้น เศรษฐกิจโตตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าเอาไว้ แต่ว่าวิธีการดังกล่าว อาจจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น และปริมาณหนี้ของประชาชนที่อาจเพิ่มสูงขึ้น
ยิ่งในกรณีที่กฎหมาย ธกส. จะได้รับการแก้ไข เพื่อให้เอกชนเข้ามาถือหุ้น ธกส.ได้มากขึ้น และขยายบทบาทการให้สินเชื่อได้กว้างขวางขึ้น ธกส.จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีความใกล้เคียงธนาคารพาณิชย์มากขึ้น จึงยิ่งไม่ควรให้กระทรวงการคลังเข้ามามีอำนาจในการกำหนดเงินกองทุนและปริมาณเงินสดสำรอง
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการแยกฝ่ายกำกับและดูแลระบบสถาบันการเงินมาไว้ที่กระทรวงการคลัง เพราะอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในอนาคตได้