จะเกิด Magna City ในอนาคตหรือไม่ ?
จากรายงาน PWC?s Investor Resource Institute ประจำปี 2014 ที่อธิบายถึง 5 แนวโน้มโลกอนาคตช่วงปี 2030 - 2050 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ 5 ประเด็น ประเด็นแรก ในปี 2050 ประชากรทั่วโลกที่อาศัยอยู่ในเมืองจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 72 ประเด็นที่สอง ในปี 2030 จะมีประชากรทั่วโลก 8.3 พันล้านคน โดยมีความต้องการด้านพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 และความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 ประเด็นที่สาม จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงการประชากร โดยในปี 2050 สัดส่วนผู้สูงอายุทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 21 ของประชากรทั้งหมด ประเด็นที่สี่ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจจากฝั่งตะวันตกมาเป็นตะวันออก โดยจะมีสัดส่วนชนชั้นกลางทั่วโลกคิดเป็นร้อยละ 66 และการบริโภคของชนชั้นกลางทั่วโลกร้อยละ 59 มาจากทวีปเอเชีย และประเด็นที่ห้า ในด้านของการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีจะเกิดการเพิ่มขึ้นของ ?Internet of Things?
จากแนวโน้มโลกอนาคตข้างต้น ประเด็นสำคัญที่ผมหยิบขึ้นมาคุยในรายละเอียดในบทความนี้คือ เรื่องแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมือง (urbanization) และการเพิ่มขึ้นของประชาชนที่อยู่อาศัยในเมือง สอดคล้องกับรายงาน UN - HABITAT state of the world?s cities 2006/7 คาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าที่จะถึงนี้ จะเกิด megacities 12 เมืองในเอเชีย รวมทั้งการที่เมืองมุมไบ เมืองเดลี เมืองเม็กซิโกซิตี้ เมืองเซาเปาโล เมืองนิวยอร์ก เมืองดาห์กา เมืองจากาต้าร์ และเมืองลากอส จะมีสถานะเป็น metacity โดย UN ได้ให้ความหมายของคำว่า metacity คือ เมืองที่มีการขยายตัว จนทำให้มีประชากรภายในเมืองนั้นมากกว่า 20 ล้านคน แต่ผมเคยนำเสนอบทความสร้างศัพท์เรื่อง Meta City ไว้ โดยได้นิยามความหมายคำว่า Meta City ในครั้งนั้นของผมเองว่าคือ เมืองที่เกิดการขยายตัวจนมีประชากรมากกว่า 50 ล้านคนอาศัยอยู่ ดังนั้น เพื่อป้องกันการสับสนและเกิดความซ้ำซ้อนในการใช้คำศัพท์ ผมจึงขอเสนอคำศัพท์ใหม่ เพื่ออธิบายถึงเมืองที่เกิดการขยายตัวจนมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 50 ล้านคน ว่า ?Magna City?
ในนิยามของผม คำว่า Magna City เป็นคำที่สะท้อนถึงจำนวนของประชากรมากกว่า 50 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมือง อันเนื่องมาจากเมืองนั้นๆ เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือมีการรวมเมืองต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน จนกลายเป็นเมืองใหญ่เพียงเมืองเดียว ดังเช่นตัวอย่างในประเทศจีน ที่ตั้งใจจะรวมเมืองทั้ง 9 เมืองจากกวางโจวถึงเสินเจิ้นไว้ด้วยกัน เรียกว่า The Pearl River Delta เพื่อให้ประชาชนสามารถท่องเที่ยว ใช้บริการทางการแพทย์ และใช้สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ในที่ต่างๆ กันได้อย่างอิสระ โดยคาดการณ์ว่าจะมีประชากรทั้งสิ้น 42 ล้านคนภายในปี 2017 เป็นต้น ซึ่งนอกจากประเทศจีนแล้ว ยังมีประเทศอินเดีย ที่น่าจับตามอง ด้วยมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนเมือง (urban areas) จาก 34 เมือง เป็น 51 เมือง และจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง UN คาดการณ์ว่าอินเดียจะมีประชากรมากกว่าจีนในปี 2028 และในปี 2030 อินเดียจะมีประชากรในอาศัยในเมืองกว่าร้อยละ 40 หรือจะมีประชากรเพิ่มขึ้นกว่า 225 ล้านคนเข้ามาอาศัยในเขตเมือง ในขณะที่ปี 2050 อินเดียจะมีประชากรเข้ามาอาศัยในเมืองเพิ่มอีก 180 ล้านคน
จากการวิเคราะห์ พบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิด Magna City คือ 1) จำนวนเมืองที่เพิ่มขึ้น ทั้งเมืองใหม่ (มีประชากรอาศัยมากกว่า 500,000 คน) megacity (ประชากรตั้งแต่ 10 - 19 ล้านคน) และ metacity (ประชากรตั้งแต่ 20 - 49 ล้านคน) 2) จำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและแอฟริกา 3) การลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน รถไฟ สนามบิน เป็นต้น 4) การเพิ่มมูลค่าและยกระดับเศรษฐกิจหลักให้ก้าวไปสู่ความเป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีที่สูงขึ้น เพื่อเสริมสร้างรายได้และเพิ่มอำนาจการซื้อให้กับประชาชน และ 5) นโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้ออำนวยและมีความสอดคล้องกันอย่างเหมาะสมในการพัฒนาประเทศ เช่น นโยบายการสร้างงาน สร้างคน สร้างประเทศของจีน ด้วยการแบ่งโซนเมือง และผนวกรวมเมือง เพื่อสร้างจุดแข็งและขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ความเป็นไปได้ที่จะเกิด Magna City จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country) ที่มีขนาดใหญ่และมีประชากรเป็นจำนวนมาก เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มากกว่าประเทศที่มีขนาดเล็กและมีจำนวนประชาชนทั้งประเทศไม่ถึง 200 ล้านคน
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อเกิด Magna City ในอนาคต ได้แก่ เกิดการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) และเกิดพลังในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคม มีจุดแข็งและอำนาจในการต่อรองทางการค้า เกิดความสะดวกสบายและประชากรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ในขณะเดียวกัน หากไม่มีการบริหารจัดการหรือวางระบบให้มีประสิทธิภาพ จะเกิดผลเสียตามมา คือ ประชากรล้นเมือง ทรัพยากรไม่เพียงพอและทรุดโทรม เกิดความเสื่อมโทรมและอาชญากรรมทางสังคมในที่สุด
เมื่อย้อนกลับมาดูประเทศไทย ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีประชากรอาศัยอยู่ที่ 15.3 ล้านคน เป็นอันดับ 22 จากทั้งหมด 36 เมืองทั่วโลกที่มีขนาดประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 10 ล้านคน และแม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีการเติบโตถึงร้อยละ 45.2 แต่จำนวนประชากรในประเทศไทยในปี 2050 จะมีเพียง 60 ล้านคนเท่านั้น จึงทำให้มีความเป็นไปได้ต่ำที่จะเกิด Magna City นอกจากนี้ในอนาคต สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมผู้อายุ ที่เน้นการอยู่อาศัยแถบชานเมืองหรือต่างจังหวัดมากกว่าอยู่อาศัยในเมือง ประกอบกับนโยบายจากภาครัฐที่มีแผนจะขยายความเป็นเมืองไปทั่วประเทศเพื่อลดการกระจุกตัวของประชาชนในเมืองหลวง พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาค รวมทั้งความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย ที่ประชาชนมีเสรีภาพและมีความเป็นเอกภาพในแต่ละจังหวัด จึงเป็นการยากที่จะเกิดการรวมจังหวัดขึ้น
ไม่ว่าในอนาคตจะเกิด Magna City ในประเทศต่าง ๆ มากหรือน้อยในโลก แต่จะเริ่มเกิดขึ้นแน่และสิ่งที่นับว่าเป็นโอกาสและความท้าทายของทุกประเทศทั่วโลกที่จะได้รับรู้ถึงสถานการณ์ ความเป็นไป และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น เพื่อร่วมกันการพัฒนาและผนึกกำลังไปสู่ทางที่ดีขึ้น สร้างความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง เกิดความตระหนักและการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : https://taweesakinth.files.wordpress.com/2012/03/wpid-20120308_1322481.jpg
Catagories:
Tags:
Post date:
Tuesday, 21 April, 2015 - 13:42
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 128 ครั้ง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 163 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 157 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,434 ครั้ง
แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย
Total views: อ่าน 1,483 ครั้ง