บทเรียนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของฟินแลนด์

 
ประเทศฟินแลนด์มีการเน้นย้ำในเรื่องการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจมหภาคและวัฏจักรเศรษฐกิจ วางบทบาทของธนาคารแห่งประเทศอย่างชัดเจนประเทศเศรษฐกิจรายได้ปานกลาง (middle-income country) เป็นประเทศที่ได้เดินทางมาครึ่งหนึ่งของการก้าวสู่ประเทศรายได้สูง แต่ครึ่งทางของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ประเทศไทยได้ติดอยู่ที่ครึ่งทางนี้เป็นระยะเวลาหลายทศวรรษแล้ว ขณะนี้ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องก้าวให้พ้นสภาวะของการติดกับดัก (trap) เพื่อไปให้ถึงจุดหมายการเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง สิ่งสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินหน้าและหลุดพ้นจากกับดักนี้ คือ การค้นพบปัจจัยขับเคลื่อน ภายใต้เงื่อนไขที่สมเหตุสมผลของแต่ละช่วงเวลา

 
ผมได้ทบทวนและประมวลบทเรียนจากประเทศต่างๆ ที่ได้เปลี่ยนผ่านจากการเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง โดยครั้งนี้ ผมนำเสนอบทเรียนจากประเทศฟินแลนด์เป็นตอนแรก สำหรับบทเรียนอื่นๆ ผมจะนำเสนอในบทความครั้งต่อๆ ไป
 
จากงานวิจัยเรื่อง Making the Transition from Middle-income to Advanced Economies โดย Alejandro Foxley และ Fernando Sossdorf ในปี 2011 ได้เสนอบทเรียนจาก 5 ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงจากประเทศเศรษฐกิจรายได้ปานกลางก้าวสู่ประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง โดยเริ่มที่ฟินแลนด์ก่อน โดยเริ่มที่การทบทวนทิศทางของนโยบายทางเศรษฐกิจของฟินแลนด์ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
 
เศรษฐกิจของฟินแลนด์เติบโตค่อนข้างมีเสถียรภาพตลอดช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงช่วงต้นศตวรรษ 1990 ซึ่งความความมั่นคงทางเศรษฐกิจนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงเวลา ดังนี้
 
ช่วงแรก คือ ตั้งแต่ปี 1945 - 1970 ระหว่างช่วงเวลานี้ รัฐบาลมีบทบาทอย่างแข็งขันในการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มีการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การควบคุมอัตราดอกเบี้ย และให้ธนาคารแห่งฟินแลนด์ (Bank of Finland) มีบทบาทเด่นในการกำกับดูแล ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อก่อให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ได้ ทั้งนี้ จุดสำคัญ คือ อภิสิทธิ์ทางนโยบายของธนาคารแห่งฟินแลนด์ ที่รวมถึงการตัดสินใจอันเกี่ยวข้องกับการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศ คำแนะนำ และข้อเสนอแนะที่ออกให้แก่ธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น ลักษณะเฉพาะทางเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ คือ การมีอัตราดอกเบี้ยต่ำและการแบ่งความน่าเชื่อถือด้านการบริหารไปยังบางพื้นที่ของการลงทุนทางธุรกิจ อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายของผู้ฝากเงินและผู้ประกอบการ
 
ในขณะเดียวกันมี 2 การปฏิรูปที่ท้าทายอย่างยิ่งถูกนำมาใช้ในช่วงนี้ ประการแรก ความตั้งใจในการปรับปรุงแก้ไขความครอบคลุมและคุณภาพของระบบการศึกษาให้ดีขึ้น (ปี 1968) และ ประการที่สอง คือ วิธีการใหม่ในการกระตุ้นให้เกิดค่าใช้จ่ายทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปี 1967)
 
อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศย่อมมีช่องความอ่อนแอเสมอ จุดอ่อนที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจฟินแลนด์ คือ ต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ (forestry product) ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้ในช่วงเวลานี้ เศรษฐกิจฟินแลนด์ได้เริ่มต้นด้านอุตสาหกรรมและค่อยๆ เกิดการก่อตัวขึ้นของระบบการคุ้มครองทางสังคม
 
ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ปี 1970 - 1990 ฟินแลนด์อยู่ในช่วงที่ต้องจัดการกับวิกฤตการณ์น้ำมัน มีการดำเนินนโยบายที่สวนทางกับวัฏจักรเศรษฐกิจ (Countercyclical) จึงทำให้บัญชีการคลังของฟินแลนด์อยู่ในภาวะสมดุล ฟินแลนด์มั่นใจในอุปทานของน้ำมันด้วยราคาพิเศษจากคู่ค้าอย่างสหภาพโซเวียต และค่อย ๆ ดำเนินการในกระบวนการเปิดเสรีทางการเงิน ตั้งแต่ปี 1895 - 1992
 
จากการเปิดเสรีทางการเงินดังกล่าว ทำให้เกิดการขยายตัวของสินเชื่อที่มากเกินไป จนเหนี่ยวนำราคาสินทรัพย์ที่สูงมากเกินไป ประกอบกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ส่งผลต่อการส่งออกของประเทศฟินแลนด์ ด้วยปัจจัยร่วมทั้ง 2 ปัจจัยนี้ ทำให้ประเทศฟินแลนด์ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 1992 - 1993
 
 
สิ่งที่น่าสนใจคือ วิธีการที่ยอดเยี่ยมของฟินแลนด์ในการบริหารจัดการช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ กล่าวคือ รัฐบาลประเทศฟินแลนด์บริหารจัดการและยึดตามแนวทางของการเมืองและฉันทามติทางสังคมที่อนุญาตให้ปรับเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญทางเศรษฐศาสตร์มหภาคได้เป็นหลัก โดยปรับให้การผลิตและการส่งออกของประเทศมุ่งเน้นไปที่ภาคที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงแทน ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในนโยบายคุณภาพการศึกษาและการสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่ฟินแลนด์ได้เริ่มดำเนินการและทำให้เป็นเป้าหมายร่วมของประเทศตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 โดยกระบวนการนี้มาพร้อมกับความมั่งคงทางการคลังรวมถึงการปฏิรูประบบเงินชดเชย และการควบคุมความเข้มแข็งทางการเงิน เพื่อลดความเสี่ยงในวิกฤตธนาคารในอนาคต
 
ในความเป็นจริง ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำในปัจจุบันนี้ รัฐบาลฟินแลนด์ไม่มีความจำเป็นที่ต้องช่วยเหลือธนาคารสักแห่งเดียวเนื่องจากธนาคารแห่งชาติมีการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี และหลังจากการเติบโตของ GDP ติดลบร้อยละ 8 ในปี 2009 แล้ว สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของฟินแลนด์ดีขึ้น มีการเติบโตของ GDP ร้อยละ 3 ร้อยละ 2.6 ร้อยละ -1.5 ร้อยละ -1.2 ในปี 2010, 2011, 2012, และ 2013 ตามลำดับ
 
เห็นได้ว่า บทเรียนของประเทศฟินแลนด์มีการเน้นย้ำในเรื่องการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจมหภาคและวัฏจักรเศรษฐกิจ วางบทบาทของธนาคารแห่งประเทศอย่างชัดเจน มองปัญหาภาพรวมของประเทศเป็นหลัก และเข้าถึงต้นสายของกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศ นั่นคือ การลงทุนในการศึกษาและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ฟินแลนด์ยังมีความเป็นเอกภาพ จากการที่รัฐบาลยึดฉันทามติของสังคมเป็นหลัก และด้วยองค์ประกอบเหล่านี้จึงทำให้เป็นฟินแลนด์กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงในที่สุด
 
บทเรียนสำหรับประเทศไทย เราอาจเริ่มต้นจากการบริหารเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศให้มีประสิทธิภาพในทุกสภาวการณ์ทั้งภาวะปกติและภาวะวิกฤติ การศึกษายังคงเป็นตัวแปรหลักที่สำคัญ หากต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง แต่การศึกษาจะไม่สามารถพัฒนาหากไม่ได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่าย เพราะฉะนั้นทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ข้าราชการทุกกระทรวง นักวิชาการ นักวางแผนนโยบาย ผู้ประกอบการภาคเอกชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนคนทั่วไป ทำตามบทบาทและหน้าที่อย่างเต็มที่และเต็มใจ ร่วมกันสร้างความเป็นเอกภาพของชาติขึ้นมา และทำให้ประเทศไทยมีเสถียรภาพและรักษาความเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ปฏิรูประบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อก้าวไปสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงโดยเร็วที่สุด
 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
Tuesday, Feb 10, 2015 05:23
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

>