สร้าง "สมดุลวิถี" สู่ "อารยสมดุลวิถี" ดีกว่า "เหวี่ยงลูกตุ้ม" กระแทกใส่กัน!!
กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้ เป็นเหมือนภาพยนตร์เรื่องเดิมที่ฉายซ้ำแต่เปลี่ยนตัวแสดง เป็นวงจรการทำลายล้าง?คู่ขัดแย้ง"
ที่แท้จริงแล้ว ?ไม่สามารถ? ยุติได้ด้วยแรงกดดันของมวลมหาประชาชน เพราะแต่ละฝ่ายต่างก็มี ?มวลมหาประชาชน? ที่พร้อมออกจากบ้านมาแสดงพลังสนับสนุนในจำนวนนับล้านคนได้เช่นเดียวกัน!!ตั้งแต่เริ่มความขัดแย้งมาแต่ต้นหลาย ๆ ปีก่อน และจนมาครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ.2554 ผมได้วิเคราะห์ปัญหาความขัดแย้งและนำเสนอแนวคิด ?สมดุลวิถี? เพื่อเป็นทางออกประเทศไทย ซึ่งเมื่อไม่มีฝ่ายใดรับฟังและนำไปปฏิบัติ วงจรการประท้วงขับไล่จึงย้อนกลับมาอีกครั้ง
ผมเคยวิเคราะห์ไว้ว่า หากทั้งสองฝ่าย ยังคงใช้วิธีการเช่นนี้ต่อไป ความรุนแรงของการแย่งชิงพื้นที่ทางอำนาจจะมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่สามารถสมานฉันท์ได้ เหมือนกับการเหวี่ยงลูกตุ้ม เมื่อลูกตุ้มเหวี่ยงไปข้างหนึ่ง ต้องมีการสู้กลับ เมื่อฝั่งหนึ่งดึงลูกตุ้มฐานอำนาจไปสุดขอบของตัวเอง อีกฝั่งหนึ่งก็พยายามดึงฐานอำนาจกลับไปสุดขอบอีกเหมือนกัน โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็มีความคิดและเหตุผลรองรับว่า ทำไมตนต้องเหวี่ยงลูกตุ้ม แทนที่จะมานั่งโต๊ะเจรจา ผมวิเคราะห์ว่ามีเหตุผล 4 ประการ
ประการแรก คิดว่าฝ่ายตรงข้ามไม่น่าไว้ใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจที่ผู้ชุมนุมประท้วงมีต่อรัฐบาลนั้น ได้สูญเสียไปอย่างหมดสิ้นแล้ว จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา ยิ่งเมื่อสำทับด้วยการปลุกเร้าความเกลียดชังจากแกนนำฝ่ายต่อต้าน ยิ่งเท่ากับปิดประตูไม่มีทางเจรจากันได้ ดังนั้น ไม่ว่านายกฯจะมาขอให้มีการเจรจา หรือแม้กระทั่งยุบสภาฯ ก็ไม่สามารถทำให้เชื่อใจได้ว่าตั้งใจทำเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ประการที่สอง คิดว่าฝ่ายตนชนะได้ จากสถานการณ์ที่แสดงออกมาเป็นระยะทำให้เห็นว่า มีการดำเนินการหักเหลี่ยม ชิงไหวชิงพริบกันเป็นระยะ ๆ โดยต่างฝ่ายต่างคิดเห็นว่า ฝ่ายตนน่าจะมีชัยชนะ และสามารถทำให้อีกฝ่ายพ่ายแพ้อย่างราบคาบได้ ดังนั้น คำว่า ?เจรจา? จึงไม่อยู่ในความคิด แต่หากทั้งสองฝ่ายมองเห็นความสูญเสียของผลประโยชน์สาธารณะที่จะเกิดขึ้น อาจนำไปสู่การถอยคนละก้าวเพื่อยอมให้การเจรจาต่อรองเกิดขึ้นได้
ประการที่สาม คิดว่าถ้าแพ้เท่ากับศูนย์ งานนี้ทั้งสองฝ่ายมองว่า มีทางเลือกเดียวคือ ชนะ เพราะหากถอยหรือพ่ายแพ้เท่ากับการสูญเสียทั้งหมด ไม่เหลืออะไรเลย เป็นเหมือนการเดิมพันแบบ 100 ต่อ 0 ในความขัดแย้งครั้งนี้ ต่างฝ่ายต่างเห็นว่าไม่ใช่การสูญเสียบางส่วน แต่จะสูญเสียทั้งหมด ทำให้ต่างฝ่ายต่างต้องแสวงหาชัยชนะให้ได้ ซึ่งจะมีการใช้กำลังแสดงออกมาเรื่อย ๆ โดยไม่สามารถหันหลังกลับหรือไม่สามารถออกมาจากไพ่เกมส์นี้ได้ เพราะวางเดิมพันราคาแพงไว้
ประการสุดท้าย คิดว่าไม่มีคนกลางที่ไกล่เกลี่ยได้ เป็นครั้งแรก ๆ ในชีวิตของผมที่เห็นว่าความแตกแยกนั้นลงไปลึกถึงครอบครัว กลุ่มเพื่อน แม้แต่ไลน์กรุ๊ป นอกจากนี้ ผู้คนในสังคมถูกจับแบ่งฝ่ายหมด คล้ายจะไม่อนุญาตให้มีคนอยู่ตรงกลาง แทบทุกสถาบันที่เคยดำรงสถานะเป็นกลางทางการเมือง หรืออยู่นอกการเมืองถูกดึงเข้ามาอยู่ในวังวนความขัดแย้ง ด้วยการถูกจับให้เลือกข้างใดข้างหนึ่ง ทั้งโดยสมัครใจ หรือถูกตีความจากอีกฝ่ายไปเอง จนขณะนี้ ยากที่จะสามารถคัดสรรคนกลางที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับร่วมกันว่า มีความเป็นธรรมอย่างแท้จริง ในการทำหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งนี้ได้
ทางออกของความขัดแย้งนี้ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ในที่สุด ผมเห็นว่า จะต้องมาสรุปที่โต๊ะเจรจาของกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีคนกลางเข้ามาช่วย เพียงแต่จะทำ ก่อน หรือ หลัง จากความสูญเสียจากการปะทะกันเท่านั้น!!!
ผมหวังว่า จะได้เห็นการร่วมโต๊ะเจรจากันในเร็ววันนี้ ก่อนที่จะมีการสูญเสีย และหากถึงวันนั้น ผมขอเสนอทางออกด้วยแนวคิด สมดุลวิถี ซึ่งเคยเสนอไว้ ตั้งแต่เมื่อเริ่มต้นความขัดแย้งหลายปีก่อน และครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2554 เพื่อสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติได้อย่างแท้จริง
ปัญหาที่เกิดในประเทศไทยตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีความไม่สมดุลทั้ง 3 ด้านเกิดขึ้น เมื่อฝ่ายที่มีอำนาจ ได้ทำการครอบครองดุลอำนาจ ดุลผลประโยชน์ และดุลทางสังคม ไว้อย่างชัดเจนมาก สามารถถืออำนาจรัฐและควบคุมรัฐนี้ได้ค่อนข้างเบ็ดเสร็จ จนสร้างความหวาดหวั่นกับอีกฝ่ายหนึ่งว่า จะไม่มีที่ยืน ไม่มีผลประโยชน์ และไม่มีอำนาจเพียงพอ จึงพยายามหาทางดึงฐานอำนาจกลับ ด้วยการดึงภาคีกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาช่วยกันเรียกร้องขับไล่ แต่การดึงอำนาจกลับเช่นนี้ เป็นเพียงการเปลี่ยนขั้วอำนาจที่ดึงเอาดุลอำนาจ ดุลผลประโยชน์ และดุลทางสังคม มาไว้อีกฝั่งหนึ่ง และทำให้อีกฝั่งหนึ่งอยู่ในภาวะไร้ที่ยืน ไร้ผลประโยชน์ และไร้อำนาจ จนต้องปฏิบัติการตอบโต้ด้วยวิธีการที่เราเห็นกัน เพื่อแย่งชิงอำนาจกลับคืนมา
ทางออกจึงต้องพยายามสร้างสมดุล 3 ด้าน คือ สมดุลทางอำนาจ สมดุลทางเศรษฐกิจ และสมดุลทางสังคม ให้เกิดขึ้นกับภาคี 5 ภาคีซึ่งเป็นผู้เล่นหลักในสังคมไทย ได้แก่ ภาคีการเมือง ภาคีข้าราชการ ภาคีนักธุรกิจ ภาคีนักวิชาการ และภาคีประชาชน ให้ทุกฝ่ายได้รับการเฉลี่ยอำนาจ ผลประโยชน์ และมีที่ยืนทางสังคมอย่างเหมาะสม
สมดุลทางอำนาจ หมายถึง สมดุลทางการเมือง ถ้าผู้ถืออำนาจไม่แบ่งอำนาจทางการเมืองให้สมดุลอย่างเหมาะสม แต่ยึดอำนาจหรือโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนทำให้คนบางกลุ่มเกิดความรู้สึกไร้อำนาจ ถูกปิดกั้นเสรีภาพ ถูกกดขี่ข่มเหง หรือได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เสมอภาค เมื่อสมดุลอำนาจบกพร่องไป ย่อมนำมาซึ่งการต่อสู้เพื่อเรียกร้องแย่งชิงอำนาจกลับคืนมา ดังนั้น ถ้าสามารถสร้างสมดุลทางอำนาจได้อย่างเหมาะสมจะสลายความขัดแย้งได้อย่างรวดเร็ว
สมดุลทางเศรษฐกิจ หมายถึงสมดุลทางผลประโยชน์ คำกล่าวที่ว่า ?ผลประโยชน์ขัดกันต้องบรรลัย? ยังคงเป็นจริงในทุกยุคทุกสมัย ที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้คนรบราฆ่าฟันกันตลอดประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เมื่อใดก็ตามที่ขาดภาวะสมดุลทางผลประโยชน์ ผู้ถืออำนาจไม่เฉลี่ยแบ่งผลประโยชน์กันอย่างทั่วถึง อย่างสมเหตุสมผล กลุ่มที่เสียประโยชน์จะออกมาเรียกร้องต่อต้าน แต่หากสามารถสร้างสมดุลทางผลประโยชน์อย่างลงตัว ย่อมลดปัญหาความขัดแย้งลงได้
สมดุลทางสังคม หมายถึง สมดุลในพื้นที่ทางสังคม มี ?ที่ยืน? ในสังคมในตำแหน่งแห่งที่ที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ถูกกีดกันหรือได้รับการปฏิบัติเยี่ยงพลเมืองชั้นสอง หรือมีการใช้หลักปฏิบัติสองมาตรฐาน ถูกกีดกันมิให้มีที่ยืนในสังคม สร้างเงื่อนไขที่ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไป การปฏิบัติเช่นนี้ก่อให้เกิดความอึดอัดคับข้องใจ เกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และแน่นอนว่า ย่อมตามมาซึ่งความขัดแย้งและการต่อต้านด้วยความรุนแรง เพื่อแย่งชิงพื้นที่ทางสังคมคืนมา
สมดุลวิถี เป็นทางออกจากความขัดแย้ง ที่ตั้งอยู่บนฐานการวิเคราะห์ความจริง ซึ่ง ?ความจริง? นี้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครกล้าพูดออกมา แต่หากต้องแก้ปัญหาจริง ๆ จำเป็นต้องเข้าใจและยอมรับต้นตอของปัญหา เพื่อการแก้ปัญหาที่ตรงประเด็น โดยตระหนักว่า การสร้างสมานฉันท์เป็นเพียงความฝันที่อยู่เพียงชั่วคราว แต่การสร้างสมดุลวิถีเป็นความจริงที่แก้ปัญหาได้ยั่งยืน
ในอนาคตเมื่อสมดุลวิถีเกิดขึ้น ผมจะขออธิบายแนวคิด ?อารยสมดุลวิถี? เพิ่มต่อไป เพื่อให้สมดุลวิถี อารยะได้อย่างแท้จริง
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com