อารยพิจารณา : รอบคอบ เพื่อผลดียั่งยืน

ในการสนทนา ปรึกษาหารือ เพื่อหาข้อตกลงหรือจุดยืนที่ยอมรับร่วมกัน อาจเป็นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน การหาทางออกเมื่อเกิดข้อขัดแย้ง  หรือการหาทางเลือกที่ดีที่สุดอย่างเป็นเอกฉันท์ ควรใช้แนวทางที่ผมเรียกว่า อารยสนทนา หรือ การสนทนาพูดคุยกันในทุกระดับ ตั้งแต่ระหว่างคน 2 คนจนถึงสนทนาสาธารณะ มีเป้าหมายเพื่อหาข้อตกลงหรือจุดยืนที่ยอมรับร่วมกัน โดยมีหลักปรัชญาอารยะเป็นตัวกำกับ 

อารยสนทนาเป็นกระบวนการสนทนาที่มีทั้งหมด 12 ขั้นตอน  เราได้เรียนรู้ไปแล้ว 4 ขั้นตอนแรก อันได้แก่ อารยสดับ เริ่มต้นด้วยการฟังอย่างมีประสิทธิภาพ  ขั้นที่สอง อารยปุจฉา การซักถามจนเข้าใจกระจ่าง ขั้นที่สาม อารยปริทัศน์ การมีมุมมองที่เปิดกว้าง มุ่งส่วนรวมและชนะทุกฝ่าย  และเคลื่อนต่อไปสู่ขั้นตอนที่สี่ คือ อารยถกแถลง การนำมุมมองของแต่ละคน แต่ละฝ่ายที่แตกต่างกันนั้น มาร่วมกันถกแถลง  

หลังจากที่เราถกแถลง หรือเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงทัศนะ แสดงข้อมูล ข้อเท็จจริง เหตุผลในมุมมองของตน จนได้ข้อสรุปที่ได้จากการถกแถลง ข้อสรุปดังกล่าวยังไม่ได้เป็นการตัดสินใจสุดท้าย แต่จะนำไปสู่ขั้นตอนที่ 5 เป็นขั้นตอนของการให้ทุกคนได้มาร่วมกันพิจารณาสิ่งที่ถกแถลง เอาเหตุผลมาชั่ง/ประเมิน เพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ

การพิจารณาเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ของการตัดสินใจที่รอบคอบมากที่สุด ผู้ร่วมสนทนาต้องมีปรัชญาอารยะกำกับการพิจารณาด้วย เรียกว่า อารยพิจารณา
อารยพิจารณา  หมายถึง การร่วมกันพิจารณาสิ่งที่ถกแถลงอย่างรอบคอบครบถ้วน โดยมีหลักปรัชญาอารยะกำกับ  ประกอบด้วยการพิจารณาอย่างรอบคอบครบถ้วน พิจารณาโดยยึดหลักการอารยะ และพิจารณาอย่างมุ่งผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

พิจารณาอย่างรอบคอบ ครบถ้วน หลังจากที่ถกแถลงแล้ว เราจะนำข้อสรุป จากการประมวลเหตุผลในแง่มุมแตกต่างที่ได้จากถกแถลงมาพิจารณา โดยพิจารณาทุก ๆ ด้านอย่างครบถ้วน ด้วยความรอบคอบ เพื่อป้องกันความผิดพลาด ผลกระทบที่ไม่คาดคิด ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเอาเหตุผลมาชั่งน้ำหนัก/ประเมิน ในด้านต่าง ๆ ดูว่า จะเกิดผลดี ผลเสียอะไรบ้าง ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ คุ้มค่าในการดำเนินการหรือไม่ จะเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนหรือไม่ จำเป็นมากน้อยเพียงใด มีสิ่งอื่นทดแทนหรือไม่ จำเป็นต้องดำเนินการตอนนี้หรือไม่ เวลาใดจึงเหมาะสม ใครควรเป็นคนรับผิดชอบ ถ้าเกิดผลกระทบ...ขึ้นจะทำอย่างไร ฯลฯ เพื่อให้มั่นใจว่า ตัดสินใจแล้ว จะเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้ต้องมีฝ่ายใด ผู้ใด ต้องรับผลร้ายจากการพิจารณาที่ไม่รอบคอบ

พิจารณาอย่างยึดหลักการอารยะ หลายเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคม คนในสังคมพิจารณาแล้ว ยอมรับ เห็นพ้องต้องกันว่า ควรทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งแม้ว่า จะมีเหตุมีผล เหมาะสมกับสถานการณ์ และดูเหมือนว่า จะเป็นการช่วยแก้ปัญหา แต่อาจไม่ได้เป็นเรื่องที่ดี ที่ถูกต้อง และอาจเกิดผลเสียหายร้ายแรงตามมา ดังนั้น ในการอารยพิจารณา จึงไม่เพียงพิจารณาอย่างครบถ้วนทุกมุม แต่จะต้องพิจารณาอย่างมี ?หลักการที่อารยะ? กำกับการพิจารณาด้วย โดยต้องตั้งคำถาม 6 คำถาม ประกอบการพิจารณาเสมอ นั่นคือ การตัดสินใจแบบนี้ ดีแท้หรือไม่? งามแท้หรือไม่? จริงแท้หรือไม่? มีเสรีภาพที่พึงประสงค์หรือไม่? มีความเสมอภาคที่พึงประสงค์หรือไม่? มีภราดรภาพที่พึงประสงค์หรือไม่? เพื่อให้ดีที่สุดต่อทุกฝ่าย ต่อทุกคน และต่อสังคมภาพรวมด้วย

พิจารณาอย่างมุ่งผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ต้องไม่พยายามดึงดันผลประโยชน์ด้านเดียว หรือความต้องการเฉพาะหน้า แต่ต้องพิจารณาอย่างมุ่งผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนด้วย เราจะทบทวนใหม่หากพิจารณาแล้วพบว่า แม้ส่งผลกระทบเชิงบวกกับสิ่งหนึ่ง แต่กลับส่งผลกระทบตามมากับอีกหลายสิ่ง เช่น ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ผลเสียต่อชุมชน หรือแม้จะส่งผลดีในยุคของเรา แต่หากส่งผลเสียไปถึงลูกหลานก็จะไม่ทำ เพราะมุ่งหวังว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ต้องไม่มีใครหรือฝ่ายใดต้องรับผลร้าย คนรุ่นนี้และคนรุ่นต่อ ๆ ไปต้องได้รับผลดีเหมือน ๆ กัน

การพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างอารยะ รอบคอบ ครบถ้วน ยึดหลักอารยะ และมุ่งผลลัพธ์ที่ยั่งยืน จะช่วยให้การสนทนาในประเด็นสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของทุกคนและส่วนรวม มุ่งไปสู่ข้อสรุปที่เป็นฉันทนามติที่ทุกฝ่ายยอมรับด้วยความพึงพอใจได้

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
Catagories: