ดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย เพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจ


เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผมในฐานะประธานสภาปัญญาสมาพันธ์ได้เผยผลสำรวจความเห็นของประชาชนและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดทำดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับประสิทธิผลของภาคเอกชน (Private Sector Effectiveness: PVE) เป็นตัวชี้วัดด้านหนึ่งภายใต้ดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย หรือ Thailand Effectiveness Index (TE Index) ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัด 3 ด้าน คือประสิทธิผลภาครัฐประสิทธิผลภาคเอกชน และประสิทธิผลภาคประชาชน
ประสิทธิผลภาคเอกชนสะท้อนให้เห็นถึงการรับรู้ของประชาชนว่า ภาคเอกชนสามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินการต่างๆ ได้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย โดยมีส่วนเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศโดยรวม ตลอดจนเป็นไปตามความคาดหวังของประชาชนมากน้อยเพียงใด

"ภาคเอกชน" ในที่นี้ หมายถึง ธุรกิจเอกชนไทยหรือต่างชาติที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร เช่น ร้านค้า สถานประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ห้างหุ้นส่วน บริษัท บริษัทมหาชน โดยที่ตัวชี้วัดความเห็นของประชาชนและผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อประสิทธิผลภาคเอกชนแบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่

หมวดที่ 1 การสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นการพิจารณาถึงประสิทธิผลภาคเอกชนที่สะท้อนได้จากระดับความเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งถูกขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการจ้างงานในตลาดแรงงาน และการเป็นหน่วยที่ส่งมอบสินค้าและบริการที่จำเป็นต่างๆ ให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนอาจประเมินถึงประสิทธิผลของภาคเอกชนได้โดยพิจารณาจากความสามารถของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ 5 ด้าน (หรือ 5 ตัวแปร) คือการตอบสนองต่อผู้บริโภค การบริหารทรัพยากร การสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (Supply chain linkage) การปฏิบัติด้านแรงงาน และสัมพันธภาพระหว่างธุรกิจ

หมวดที่ 2 การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งสะท้อนถึงความรับผิดชอบของภาคเอกชนผ่านการพิจารณาตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 7 ตัวแปร ได้แก่ การรณรงค์ทางสังคม (Advocacy) การคอร์รัปชัน การปฏิบัติตามกฎหมาย (Law compliance) การช่วยเหลืองานสาธารณะ การรับผิดรับชอบ การใส่ใจต่อผู้บริโภค (Consumer concern) และความเปิดเผยโปร่งใส

หมวดที่ 3 สถาบันภาคเอกชน เป็นคุณลักษณะเชิงสถาบันในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้านต่างๆ ประชาชนอาจประเมินถึงประสิทธิผลในการทำงานโดยพิจารณาจากคุณลักษณะที่เห็นได้ประจักษ์ผ่านตัวแปรในเชิงสถาบันที่เกี่ยวข้อง 4 ตัวแปร ได้แก่ การเป็นผู้ประกอบการ ความเป็นสากล การสร้างนวัตกรรม และมาตรฐานดำเนินการ

กลุ่มตัวอย่างได้แบ่งตามพื้นที่เป็น 5 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งในและนอกเขตเทศบาล เพศชายและหญิงจำนวนเท่าๆ กัน รวมจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 1,227 คน และมีการสัมภาษณ์นักธุรกิจผ่านทางโทรศัพท์อีก 200 คน

ผลจากสำรวจและวิเคราะห์ผลดัชนี พบว่าดัชนีในหมวดการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีคะแนนสูงสุด คือ ร้อยละ 62.44 และหมวดด้านสถาบันภาคเอกชนมีคะแนนต่ำสุด คือ ร้อยละ 58.95
การที่หมวดการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีคะแนนสูงสุด แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนทำบทบาทในด้านนี้ได้ดีกว่าด้านอื่นซึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่า บทบาทการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบทบาทหลักของภาคธุรกิจ และเป็นบทบาทที่ภาคธุรกิจมีความเชี่ยวชาญมากกว่าบทบาทอื่น

หากพิจารณาตัวชี้วัดที่อยู่ภายใต้หมวดการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่าตัวชี้วัดด้านการตอบสนองต่อผู้บริโภคมีคะแนนถึงร้อยละ 67.79 ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่มีคะแนนมากที่สุด แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจไทยมีความสามารถผลิตสินค้าและบริการ และการตลาดเพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภค เช่น การผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการ มีมาตรฐาน ปลอดภัย ราคาเหมาะสม ส่งมอบได้ตามเวลาที่ตกลงกัน เนื่องจากภาคธุรกิจต้องแข่งขันกันจึงทำให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับบทบาทด้านนี้
 
สำหรับตัวชี้วัดที่มีคะแนนต่ำที่สุดคือ การบริหารทรัพยากรมีคะแนนร้อยละ 59.49 แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจมีความสามารถค่อนข้างต่ำในการแสวงหา จัดสรรและใช้ทรัพยากรในการลงทุนที่ทำให้เกิดผลตอบแทน นอกจากนี้การสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่มีคะแนนต่ำคือร้อยละ 59.80 แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจยังขาดความสามารถในการสร้างธุรกิจต่อเนื่องทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ และการสร้างธุรกิจใหม่เข้าไปเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทาน ธุรกิจในประเทศไทยจึงไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เท่าที่ควร

สำหรับดัชนีในหมวดสถาบันเอกชน ซึ่งมีคะแนนต่ำที่สุด คือร้อยละ 58.95 อาจสะท้อนให้เห็นว่าองค์การเอกชนขาดคุณลักษณะเชิงสถาบันที่จะนำไปสู่ประสิทธิผลในการดำเนินการ เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดย่อย ๆ ในหมวดนี้ล้วนได้คะแนนต่ำโดยเฉพาะตัวชี้วัดด้านการสร้างนวัตกรรมที่มีคะแนนเพียงร้อยละ 57.88 ซึ่งเป็นคะแนนต่ำที่สุดจากทั้ง 16 ตัวแปร หรือตัวชี้วัดด้านความเป็นผู้ประกอบการที่มีคะแนนเพียงร้อยละ 58.63 แสดงให้เห็นว่าองค์การธุรกิจไทยอาจขาดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

ส่วนคะแนนในหมวดความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนมากที่สุด คือ การปฏิบัติตามกฎหมายที่ได้คะแนนร้อยละ 64.26 ซึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่า ธุรกิจในประเทศไทยปฏิบัติตามกฎหมาย กฎหมายแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม การเสียภาษี กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากภาคธุรกิจเกรงกลัวการเสียชื่อเสียงทางธุรกิจ หากมีข่าวในเชิงลบจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
 
สำหรับตัวชี้วัดด้านที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ การคอร์รัปชัน ความรับผิดรับชอบ และการรณรงค์เชิงสังคม ที่ได้คะแนนร้อยละ 58.57 ร้อยละ 58.82 และร้อยละ 58.85 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจยังถูกมองว่ามีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐขาดความรับผิดรับชอบ และไม่ได้เชิญชวนให้ประชาชนสนใจในปัญหาสังคมมากเพียงพอ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า ทั้ง 3 ประเด็นนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง
 
จากการอภิปรายผลดัชนีประสิทธิผลภาคเอกชน จุดสำคัญที่เห็นได้ชัด คือ ภาคเอกชนยังไม่ได้มีการคำนึงถึงการทำธุรกิจในระยะยาวมากเท่าที่ควร กล่าวคือ ยังลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาไม่มากพอ และการคิดประดิษฐ์เชิงนวัตกรรมยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
 
ภาคธุรกิจในประเทศยังมองต้นไม้เป็นเพียงต้นไม้ต้นหนึ่ง แต่ไม่สามารถมองเห็นป่าทั้งป่า การดำเนินงานของภาคธุรกิจจึงมุ่งเป้าไปที่ต้นทุนและผลตอบแทนที่ปรากฏให้เห็นในระยะสั้นเท่านั้น แต่ขาดการดำเนินงานที่มีประสิทธิผลในระยะยาว ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงการสร้างความสมดุลและพัฒนาทั้ง 3 หมวดไปพร้อม ๆ กัน


 
 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)