สร้างเยาวชน “ดี เก่ง กล้า” เพื่อการสร้างชาติ
“‘การสร้างชาติ’ จะต้องเกิดมาจากความร่วมมือของประชาชนทั้งประเทศ และมีเป้าหมายในการนำประเทศให้ก้าวไปสู่ความเป็นอารยะ กล่าวคือ ไม่ได้มุ่งแก้เพียงอาการของปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ต้องแก้ไปถึงรากของปัญหาที่อยู่เบื้องลึก” ไม่ว่าเด็ก เยาวชน หรือผู้ใหญ่ ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างชาติได้ โดยเฉพาะเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มคนสำคัญที่จะกลายเป็นกำลังหลักในอนาคตในการกำหนดทิศทางของประเทศชาติบ้านเมือง เป็นช่วงวัยที่มีพลัง มีมุมมองทัศนคติต่อประเทศและโลกที่เปิดกว้าง ก้าวทัน และว่องไวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นทั้งผู้รับและผู้ดำเนินการพัฒนาประเทศในอนาคต เมื่อวันที่ 15 – 17 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา สถาบันการสร้างชาติ (NBI) และนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ (นสช.) รุ่นที่ 2 ได้จัดค่ายเยาวชนสร้างชาติ (NBI – Youth Camp) รุ่นที่ 1 ณ ค่ายลูกเสือ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีนักเรียนและนักศึกษาเข้าร่วมค่ายกว่า 300 คน และผมได้บรรยายในประเด็น “ทำไมเยาวชนต้องสร้างชาติ” ซึ่งจะขอนำเสนอในบทความตอนนี้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีเยาวชนจำนวนมากที่สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่โลกใบนี้ เช่น
- ไรอัน เฮอร์แจ็ค (Ryan Hreljac) ได้จัดตั้งมูลนิธิ “Ryan’s Well Foundation” ขึ้น เพื่อระดมทุนสำหรับการขุดบ่อน้ำในหลายๆ พื้นที่ จนได้รับเลือกให้เป็น Global Youth Leader โดยองค์การยูนิเซฟ ซึ่ง ณ เวลานี้ มูลนิธิฯ ได้สนับสนุนการขุดบ่อน้ำไปแล้วกว่า 740 บ่อ สร้างห้องน้ำกว่า 1 พันห้อง ในเกือบ 20 ประเทศทั่วโลก และช่วยเหลือผู้คนกว่า 1 ล้านชีวิต
- ดีแลน มหาลินคัม (Dylan Mahalingam) ร่วมมือกับพี่สาวก่อตั้ง Lil’MDGs องค์กรระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างพลังแก่เยาวชน ขณะที่มีอายุ 9 ปี ซึ่งความโดดเด่นขององค์กรนี้คือการนำพลังของ“อินเทอร์เน็ต” มาสร้างประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะทำให้มีกำลังเยาวชนเข้าร่วมกว่า 3 ล้านคน และอาสาสมัครทั่วไปอีกกว่า 24,000 คน จาก 41 ประเทศทั่วโลก ส่งผลทำให้โครงการนี้ชนะเลิศรางวัล World Summit Youth Award ของสหประชาชาติในปี 2009
- เกรกอรี่ อาร์ สมิธ (Gregory R. Smith) ‘อัจฉริยะผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงโลก’ เขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเมื่ออายุ 10 ปี และได้ก่อตั้ง International Youth Advocate Foundation ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนหลักการแห่งสันติภาพและความเข้าอกเข้าใจในระหว่างเยาวชนทั่วโลก นอกจากนี้ เขายังถูกเสนอชื่อให้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพถึง 4 ครั้ง
- เครก คีลเบอร์เกอร์ (Craig Kielburger) ผู้ก่อตั้งองค์กร Free the Children เพื่อปกป้องสิทธิเด็ก ซึ่งเกิดจากการที่เขาได้อ่านบทความเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงต่อแรงงานเด็ก องค์กรนี้มีกองทุนเพื่อเด็กขนาดใหญ่ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศยากจน เช่น เคนยา เอควาดอร์ อินเดีย นิคารากัว อาริโซนา-เม็กซิโก และจีน ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมกับองค์กรนี้ มากกว่า 650 โรงเรียนและได้ขยายเครือข่ายการดำเนินงานไปทั่วโลก
เพราะเหตุใดกลุ่มเยาวชนจึงนำการเปลี่ยนแปลง
มาสู่ทั้งในชุมชน ในประเทศ ต่างประเทศ และทั่วโลก?
ขณะที่บุคคลเหล่านี้ยังเป็นเยาวชน ทุกคนต่างมีอุดมการณ์ที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยการเข้าไปแก้ไขปัญหาตามความสนใจและความสามารถ เยาวชนกลุ่มนี้มีวิสัยทัศน์ระดับโลกและมีหัวใจแห่งความเมตตา กล่าวคือ เห็นแก่ผู้อื่นที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน และไม่ได้ขึ้นอยู่กับขอบเขตภูมิประเทศ ทั้งนี้ ผมได้วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งเสริมและทำให้เยาวชนเป็นแบบนี้ ได้แก่ ระบบการศึกษาและการให้ความรู้ โดยเฉพาะการเพิ่มเติมความรู้รอบตัวและสถานการณ์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเปิดโลกทัศน์ชีวทัศน์ให้เกิดเข้าใจและเห็นภาพความเป็นจริงของโลกในปัจจุบันมากขึ้น เมื่อความรู้ที่มีผนวกกับความสนใจ ยิ่งทำให้เกิดการขวนขวายศึกษาหาความรู้เพิ่มมากขึ้น หลักคิดและหลักการต่างๆ จะทยอยตามมา จนก่อเกิดกลายเป็นอุดมการณ์ภายในที่สุด วัฒนธรรมและค่านิยมในครอบครัว สังคม เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิดความกล้าลงมือทำ เพราะวัยเด็กและเยาวชน เป็นวัยที่ต้องการการสนับสนุน โดยเฉพาะจากคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนในหมู่บ้าน ญาติ พี่น้อง หากครอบครัวหรือสังคมใดมีวัฒนธรรมการเห็นคุณค่าความเท่าเทียมในเพื่อนมนุษย์ หรือมีค่านิยมที่เห็นแก่ผู้อื่น ใจกว้างขวาง และนิยมส่งเสริมการทำดี ย่อมทำให้เกิดการสนับสนุนและแรงผลักดันที่แรงขึ้นจนเป็นรูปธรรม เช่น เยาวชนมีความกล้าในการชวนคนรอบข้างมาร่วมทำสิ่งดีร่วมกัน เป็นต้น การได้รับสนับสนุนจากองค์กร หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินทุนสนับสนุนโครงการที่สร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือการให้รางวัลกับเยาวชนที่มีจิตสาธารณะ เสียสละและสร้างประโยชน์อันเป็นผลกระทบวงกว้างต่อชุมชน สังคมและประเทศ
ดังตัวอย่างของประเทศเวียดนาม ภาครัฐได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมอาสาฤดูร้อนปี 2017 ของเยาวชนเวียดนามภายใต้หัวข้อ “เยาวชนร่วมกันสร้างสรรค์ชนบทใหม่และตัวเมืองอารยธรรม” เพื่อส่งเสริมจิตใจแห่งการอาสาและเดินหน้าของเยาวชนเวียดนามในการพัฒนาเศรษฐกิจ – สังคม สวัสดิการสังคม การป้องกันประเทศและความมั่นคงในท้องถิ่นที่ยากจน ห่างไกลความเจริญ เขตชายแดนและหมู่เกาะของประเทศ
ประเทศสิงคโปร์ เป็นตัวอย่างของประเทศที่สามารถสร้าง “คน” ได้อย่างมีคุณภาพ เพราะยึดหลักพื้นฐาน คือ ชาติสําคัญกว่าชุมชน และสังคมสําคัญกว่าปัจเจกบุคคล ดังนั้น คนจึงเป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติ เมื่อคนเข้มแข็ง ชาติก็เข้มแข็ง โดยเริ่มตั้งแต่วัยเด็กและเยาวชน เพราะเป็นวัยแห่งการเรียนรู้
รางวัล SYA หรือรางวัลเยาวชนสิงคโปร์ (Singapore Youth Award) เป็นรางวัลระดับเยาวชนที่มีเกียรติมากที่สุดรางวัลหนึ่งในโลก ซึ่งได้มอบให้แก่เยาวชนที่มีพรสวรรค์ ในการยกระดับจิตใจและจิตวิญญาณของชุมชนและสร้างความแตกต่างให้กับประเทศชาติ โดยมุ่งเน้นไปที่บุคคลที่มีทั้งการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนและการลงมือสร้างสรรค์สิ่งดีให้ชุมชนอย่างกล้าหาญ
SYA ตระหนักถึงความเป็นเลิศของเยาวชนชาวสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนที่มีวิสัยทัศน์ มีทัศนคติ "ทำได้ (Can-do)" ต่อความท้าทาย เยาวชนที่มีจิตวิญญาณแบบ "ไม่กลัวตาย (never-say-die)" เมื่อต้องเผชิญความยากลำบาก เยาวชนที่กล้า "ลงมือทำตามที่พูด (walk the talk)" และเยาวชนที่มีหัวใจแห่ง “การปรนนิบัติ (serve by doing)" เพราะนี่คือ การแสดงออกถึงการมีจิตวิญญาณแห่งการเสียสละ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม อันจะช่วยสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน เยาวชนที่จะนำการเปลี่ยนแปลงได้ ต้องเป็นทั้งคน “ดี เก่ง กล้า” โดยเริ่มต้นจากการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากตนเอง นั่นคือ การเปลี่ยนความคิดของตนเอง เพื่อชีวิตตนจะเปลี่ยน อันส่งผลต่อการเปลี่ยนความคิดของคนอื่นๆ เพื่อคนเหล่านั้นจะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้เช่นกัน และเมื่อการเปลี่ยนแปลงความคิด ชีวิตของคนในสังคมมีมากขึ้น การรวมพลังจะเกิดขึ้นจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศและโลกนี้ ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com