นายกฯ ควรเป็นได้ไม่เกิน 2 สมัย ?
เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ฯลฯ ร่วมกันจัดโครงการปาฐกถาสาธารณะขึ้น ที่ มธ. ท่าพระจันทร์ โดยเชิญนักการเมือง นักวิชาการ และประชาชนเข้าร่วมงานในครั้งนี้
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในการจัดงานครั้งนี้คือ การเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่กล่าวว่า ควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นเกี่ยวกับการตรวจสอบเพื่อขจัดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้น และออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อทั้งเอกชนและรัฐ ขณะที่ ดร.โคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อยากให้เริ่มต้นที่มาตรา 313 เพื่อเปิดกว้างเรื่องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฯลฯ
ความเห็นส่วนใหญ่ในที่ประชุมเสนอว่าจะต้องมีการปฏิรูปการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆ โดยเปิดให้ภาคประชาชนจากทุกภาคส่วนของประเทศเข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมกันเสนอ อันจะก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และปฏิรูปการเมืองรอบสอง เพื่อให้สังคมการเมืองไทยมีความเป็นประชาธิปไตยและการบริหารการปกครองที่เป็นธรรม
ในประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวของผมมีความสนใจในประเด็นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศ ซึ่งมีประเด็นที่ต้องขบคิดว่า ควรจะกำหนดเทอมให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 สมัยหรือสูงสุดไม่เกิน 8 ปีหรือไม่
คงต้องยอมรับ ระบบการเลือกตั้งในปัจจุบันนั้นเอื้อโอกาสให้พรรคใหญ่ได้เปรียบในการเลือกตั้งและมีโอกาสที่พรรคการเมืองพรรคเดียวจะครองเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฏร ในแง่ดีเราจะได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในทางตรงกันข้าม หากการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปเป็นพรรคการเมืองพรรคใหญ่เพียงพรรคเดียว ทำให้พรรคนั้นมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลหลายสมัยติดต่อกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง หัวหน้าพรรคของพรรคใหญ่มีโอกาสนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานถึง 20 ปีติดต่อกัน
เราคงเห็นบทเรียนในอดีตของประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่ผู้นำประเทศปกครองประเทศอย่างยาวนาน แต่กลับใช้อำนาจหน้าที่ในการกอบโกยผลประโยชน์เพื่อตนเอง ญาติ และพวกพ้อง กล่าวคือ ปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการอย่างเบ็ดเสร็จ
มองอย่างถี่ถ้วนแล้ว หากนักการเมืองคนใดคนหนึ่งมีโอกาสได้ก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระยะเวลา 8 ปีน่าจะเป็นระยะเวลาที่พอเหมาะที่นักการเมืองคนหนึ่งจะทุ่มเททั้งกำลังสมอง กำลังความสามารถในการบริหารประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรืองและพัฒนา และเปิดโอกาสให้คนรุ่นต่อไปมีโอกาสได้เข้ามาบริหารประเทศ ในขณะเดียวกัน เป็นการป้องกันนักการเมืองบางคนที่มุ่งหวังเข้ามาลงทุนทางการเมืองและพยายามที่จะเข้ามากุมและผูกขาดอำนาจรัฐให้ยาวนานที่สุด โดยเฉพาะการใช้อำนาจรัฐในการเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้องในทางธุรกิจ
หากเราสังเกตประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศสหรัฐอเมริกายังมีการกำหนดห้ามเป็นประธานาธิบดีเกิน 2 สมัยติดต่อกันเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง
ดังนั้น เราคงควรทบทวนว่า ควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมไม่ให้นักการเมืองคนใดคนหนึ่งที่จะปกครองอย่างยาวนาน โดยไม่มีการกำหนดระยะเวลาเลยหรือไม่ และในกรณีใดที่อนุญาตให้อยู่ได้ยาวนานกว่านั้น ฯลฯ โดยปกติผมขอเสนอว่าอยู่ไม่เกิน 8 ปีน่าจะเหมาะสม แต่ในโอกาสต่อไป ผมอาจเสนอว่าหากจะอยู่เกิน 8 ปี คงต้องมีเหตุผลพิเศษและเงื่อนไขพิเศษที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ท้ายสุดนี้ เพื่อน ๆ คิดเห็นอย่างไรว่าควรมีการกำหนดเทอมของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ส่งความคิดเห็นมาแลกเปลี่ยนกันได้ครับ