แนวโน้มโลก 2050 (ตอนที่ 9) : มหาเศรษฐีของโลกในอนาคต
กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
มีการคาดการณ์ว่าจำนวนมหาเศรษฐีในจีน จะเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 80 ซึ่งเติบโตเป็นไปในทิศทางเดียวกับอินเดียผมได้นำเสนอเกี่ยวกับแนวโน้มของโลกไปแล้วหลายด้านในช่วงที่ผ่านมา บทความนี้เป็นอีกตอนหนึ่งที่ผมอยากนำเสนอแนวโน้มของโลกในอนาคตเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับมหาเศรษฐีบนโลกทั้งในบริบทปัจจุบัน และในทศวรรษข้างหน้าว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร และประเทศไทยสามารถเรียนรู้สิ่งใดบ้างจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ปัจจุบัน
ถึงแม้ว่ามูลค่าทรัพย์สินในครัวเรือนของคนบนโลก (Global Household Wealth) มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 จาก 242.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2013 เป็น 263 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2014) แต่ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมยังคงเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข เหตุเพราะเมื่อพิจารณาจากรายงานทรัพย์สินมวลรวมของโลก (Global Wealth report) ของบริษัท Credit Suisse ประจำปี 2014 พบว่า กว่าร้อยละ 50 ของทรัพย์สินทั้งหมดในโลก อยู่ในมือของกลุ่มคนเพียง ร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมดบนโลกเท่านั้น
ขณะที่เมื่อพิจารณาจำนวนบุคคลซึ่งมีทรัพย์สินรวม 30 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นไป (Ultra High Net Worth individuals) ตามรายงานมูลค่าทรัพย์สินทั่วโลก (Wealth Report) ล่าสุดจากบริษัท Knight Frank ได้ระบุว่า ถึงแม้ว่าในหลายประเทศจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แต่จำนวนเศรษฐีที่มีรายได้เกิน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 3 ในปี 2013 ซึ่งทำให้ประชากรที่มีทรัพย์สินมากกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 5,000 คน เป็น 167,000 คน ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับปี 2003 โดยในจำนวนเหล่านั้นเป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากกว่า 100 หรือ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่มีจำนวนมากขึ้นถึงร้อยละ 62 และร้อยละ 80 ตามลำดับ
ทศวรรษข้างหน้า
รายงานมูลค่าทรัพย์สินทั่วโลก (Wealth Report) จาก บริษัท Knight Frank ยังได้ระบุอีกว่า ในทศวรรษข้างหน้า 2 ภูมิภาคที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนมหาเศรษฐีอย่างเห็นได้ชัด คือ ภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคแอฟริกา กล่าวคือ เอเชียจะเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนมหาเศรษฐีที่มีรายได้มากกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย คือ ร้อยละ 43 เป็น 585,888 คนในปี 2023 โดยได้มีการคาดการณ์ว่าจำนวนมหาเศรษฐีในประเทศจีน จะเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 80 ซึ่งเติบโตเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศอินเดีย ที่จำนวนมหาเศรษฐีที่มีรายได้มากกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 2 เท่าในทศวรรษข้างหน้า
นอกจากจีนและอินเดียแล้ว ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนามและอินโดนีเซียจะกลายเป็น 2 ประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของมหาเศรษฐีมากที่สุดในภูมิภาค คือ ร้อยละ 166 และ 144 ตามลำดับ ซึ่งในกรณีของเวียดนามนั้น จากรายงานของบริษัท Knight Frank อธิบายว่า การขยายตัวของจำนวนมหาเศรษฐีในเวียดนามนั้นเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจในประเทศ เปิดเสรีภาคการเงินให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามามีส่วนมากขึ้น รวมทั้งผ่อนคลายกฎระเบียบให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับความสำเร็จของภาครัฐในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยการย้ายจากภาคเกษตรไปยังภาคอุตสาหกรรมและการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำลงได้ สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำหรับการสร้างความมั่งคั่งของประชาชนในประเทศ
ในส่วนของทวีปแอฟริกา การเพิ่มจำนวนของมหาเศรษฐีโดยเฉลี่ยในภูมิภาคนี้จะเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดมากกว่าภูมิภาคอื่น คือ ร้อยละ 53 ในปี 2023 โดยจำนวนเศรษฐีที่มีรายได้มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 51 อีกทั้งภูมิภาคนี้จะกลายเป็นที่อยู่อาศัยของมหาเศรษฐีที่มีรายได้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กว่า 38 คนในปี 2023
ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศที่มีปริมาณมหาเศรษฐีมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ณ ปัจจุบันอย่างสหรัฐ จะยังคงมีจำนวนมหาเศรษฐีมากที่สุดในโลกเช่นเดิมในทศวรรษข้างหน้า
โดยสรุป เมื่อมองในภาพรวมในระดับโลกแล้ว ประเทศที่มีแนวโน้มที่จะมีจำนวนมหาเศรษฐีมากที่สุดในปี 2023 คือ สหรัฐ (47,468 คน) ญี่ปุ่น (18,974 คน) จีน (14,213 คน) เยอรมัน (13,546 คน) และสหราชอาณาจักร (12,015 คน) และประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนมหาเศรษฐีมากที่สุด 5 อันดับ คือ เวียดนาม (ร้อยละ 166) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 144) โกตดิวัวร์ (ร้อยละ 116) คาซัคสถาน (ร้อยละ 109) และมองโกเลีย (ร้อยละ 100) ตามลำดับ
บทเรียนสำหรับประเทศไทย
จากข้อมูลดังกล่าว อาจเป็นบทเรียนหรือแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อไทย เช่น
1) การกำหนดนโยบายของภาครัฐมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความมั่งคั่งและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ ตัวอย่างเช่น เวียดนาม ซึ่งจะมีมหาเศรษฐีเกิดขึ้นจำนวนมากในอนาคต ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายบริหารจัดการและปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาล
2) การเพิ่มขึ้นของจำนวนมหาเศรษฐีในประเทศไม่ได้เป็นสิ่งที่รับประกันว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ในประเทศจะลดระดับความรุนแรงลง เหตุเพราะเมื่อพิจารณาจากตัวอย่างของหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐ ที่ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีมหาเศรษฐีจำนวนมาก ติดอันดับต้นของโลก แต่ยังคงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ภายในประเทศที่รุนแรง ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้นี้อาจนำไปสู่ปัญหาทางสังคมอื่นๆ ตามมา
3) ภาครัฐอาจส่งเสริมให้เอกชนไทยเข้าไปทำธุรกิจกับประเทศเหล่านี้ เนื่องจาก เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงในอนาคต เช่น โกตดิวัวร์ คาซัคสถาน หรือมองโกเลีย ซึ่งปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างไทยและประเทศเหล่านี้ยังมีไม่มากนัก เป็นต้น
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
แหล่งที่มาของภาพ : http://images.visitbeijing.com.cn/20140926/Img215074399.jpg
Catagories:
Tags:
Post date:
Tuesday, 10 February, 2015 - 15:03
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 127 ครั้ง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 162 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 156 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,433 ครั้ง
แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย
Total views: อ่าน 1,482 ครั้ง