แนวโน้มของการเงินการธนาคารในศตวรรษที่ 21 (2): การลดบทบาทคนกลาง และการแข่งขันรุนแรงขึ้น
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินการธนาคารที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนมากที่สุด คือ
การเปลี่ยนจาก “บริการออฟไลน์” สู่ “บริการออนไลน์” และจาก “สังคมใช้เงินสด” สู่ “สังคมไร้เงินสด” ทั้ง 2 แนวโน้มกำลังปรากฏมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมไทย
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากแนวโน้มข้างต้น ในบทความตอนนี้ ผมขอนำเสนออีก 2 แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับระบบการเงินการธนาคาร ดังนี้
ประการที่ 3 จาก “การพึ่งคนกลาง” สู่ “การลดบทบาทคนกลาง” (De-intermediation)
ที่ผ่านมา การชำระเงินใช้ระบบหักบัญชีอัตโนมัติและธนาคารที่เป็นตัวกลาง ทำให้ลูกค้าส่งเงินข้ามพื้นที่ได้ แต่ยังมีอุปสรรคจำนวนมากที่ทำให้การชำระเงินไม่รวดเร็วและมีต้นทุนสูง เพราะเพียงการจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการโดยใช้บัตรเครดิต 1 ธุรกรรม กว่าเงินจะถูกโอนไปยังปลายทาง ต้องเกิดธุรกรรมจำนวนมาก เช่น การตรวจสอบวงเงิน การอนุมัติของบริษัทบัตรเครดิต การตัดเงินผ่านบัญชีของธนาคาร รวมทั้งการโอนเงินผ่านตัวกลางต่าง ๆ ทำให้ใช้ระยะเวลานาน และมีต้นทุนสูง
เช่นเดียวกับ การโอนเงินระหว่างประเทศ กว่าเงินจะถูกโอนจากผู้ส่งไปยังผู้รับ ต้องผ่านตัวกลางจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้เวลาในการโอนที่ค่อนข้างนาน และต้นทุนสูง นอกจากนี้ การชำระเงินข้ามประเทศยังมีค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนสกุลเงินอีกร้อยละ 5 – 7 ของค่าบริการ
เทคโนโลยีใหม่กำลังเข้ามาปฏิวัติระบบการเงิน ทำให้เกิดช่องทางการโอนเงินใหม่ ๆ ที่รวดเร็วและต้นทุนต่ำ เนื่องจากลดขั้นตอนและบทบาทคนกลางในระบบการชำระเงิน ตัวอย่างนวัตกรรมที่สำคัญ ได้แก่
(1) Blockchain ที่เข้ามาเปลี่ยนยุคของอินเทอร์เน็ตจาก “internet of information” สู่ “internet of value” ซึ่งเป็นเครือข่ายแบบกระจายที่ไม่มีคนกลาง โดยให้ทุกคน (หรือหลายคน) ในเครือข่ายช่วยกันตรวจสอบและยืนยันแต่ละธุรกรรมในเครือข่าย สิ่งที่ส่งผ่านในเครือข่ายนี้ คือ สินทรัพย์หรือเงิน
เทคโนโลยี Blockchain สามารถนำไปประยุกต์ได้อย่างหลากหลาย เช่น การลงคะแนนเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ ระบบบันทึกประวัติการแพทย์ ระบบจัดเก็บกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน ระบบส่งเสริมการขาย เป็นต้น
(2) ธุรกรรมระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer to Peer (P2P) Transaction) เช่น การกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคลทางออนไลน์ (P2P lending) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยจับคู่ และทำสัญญาโดยตรงระหว่างผู้มีเงินออมและผู้ต้องการกู้ยืม ทำให้มีต้นทุนการให้กู้ยืมต่ำกว่าธนาคาร
ตัวอย่าง Zopa เป็นบริการกู้ยืมระหว่างบุคคลบริษัทแรกของโลก ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2548 มีผลการดำเนินการที่ดี โดยมีหนี้เสียเพียงร้อยละ 0.38 ในปี 2557 ซึ่งต่ำกว่าสถาบันการเงินแบบเดิม อีกตัวอย่างหนึ่งคือ CreditEase เป็นบริการให้กู้ยืมระหว่างบุคคลของจีน ซึ่งนำเงินส่วนเกินของคนในเมืองมาปล่อยกู้ให้คนชนบท
(3) Mobile Money หมายถึง เครือข่ายที่สนับสนุนการชำระเงินระหว่างบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ ซึ่งสามารถดำเนินการโดยบริษัทประเภทใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสถาบันการเงิน เช่น
- MPESA เป็น mobile banking ที่ดำเนินการโดยเครือข่ายผู้ให้บริการโทรคมนาคม
- PayPal ดำเนินการโดยผู้ค้าปลีกออนไลน์
- Safaricom เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเคนย่า ที่ให้บริการโอนเงินผ่านโทรศัพท์
(4) แพลตฟอร์มการระดมเงินทุนจากสาธารณะชน (Crowd-funding platform) เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้บุคคล กลุ่มคน และ start-ups ที่มีนวัตกรรม สามารถนำเสนอแนวคิด หรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ผ่านทางแพลตฟอร์มเหล่านี้ ทำให้สามารถพัฒนาสินค้าออกสู่ตลาด โดยได้รับเงินทุนจากผู้สนับสนุน ซึ่งผู้สนับสนุน อาจเป็นบุคคล ลูกค้า ลูกจ้าง บริษัท หุ้นส่วน หรือผู้มีส่วนได้เสีย
ในต่างประเทศมีแพลตฟอร์มลักษณะนี้จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Kickstarter, Pledge Music หรือ Invested.in เป็นต้น
ประการที่ 4 จาก “การผูกขาด” สู่ “การแข่งขัน”
ในอดีต อุตสาหกรรมการเงินการธนาคารในประเทศไทยมีการผูกขาดในระดับหนึ่ง แต่เทคโนโลยีใหม่ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการเงินการธนาคาร ซึ่งในมุมมองผู้ให้บริการ เทคโนโลยีใหม่ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ ในมุมมองลูกค้า ลูกค้าจะมีทางเลือกและโอกาสมากขึ้น เนื่องจากการเกิดขึ้นของผู้เล่นใหม่ ๆ เช่น ผู้รวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ (e-Aggregators) และ ผู้จัดหาเทคโนโลยี (tech provider)
(1) e-Aggregators
ปัจจุบันมีผู้เล่นใหม่ที่เข้าสู่ธุรกิจ โดยไม่ได้เป็นผู้ผลิตหรือให้บริการโดยตรง แต่เป็นผู้รวบรวมข้อมูลสินค้าและบริการของบริษัทต่าง ๆ เป็นเหมือนผู้จัดจำหน่ายหรือกระจายสินค้าและบริการ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบและเลือกซื้อได้ เช่น เว็บไซต์ที่ให้บริการจองที่พัก โรงแรม เป็นต้น
เช่นเดียวกับธุรกิจการเงินการธนาคาร ผู้เล่นใหม่ที่เข้ามาทำหน้าที่ผู้รวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ เช่น ผู้รวบรวมบริการประกันในระบบออนไลน์ ทำให้ลูกค้าเปรียบเทียบราคาและซื้อประกันผ่านระบบออนไลน์ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและบริษัทประกันจะถูกแยกจากกัน ลูกค้าจะเปลี่ยนบริษัทประกันง่ายขึ้น
ดังตัวอย่าง Google เข้าสู่ตลาดการกระจายผลิตภัณฑ์ประกัน โดยเข้าซื้อกิจการ “BeatThatQuote” เป็น e-aggregator ในอังกฤษ โดยเรียกเก็บเงินจากบริษัทประกัน 54 ดอลลาร์ต่อ 1 คลิก
(2) ผู้จัดหาเทคโนโลยี (tech provider)
ผู้จัดหาเทคโนโลยีที่มีแบรนด์เป็นที่รู้จักและได้รับความเชื่อถือ อาจเข้าสู่ตลาดการเงินการธนาคาร โดยใช้ความได้เปรียบจากฐานลูกค้า ข้อมูลลูกค้า และช่องทางการจัดจำหน่าย
ตัวอย่าง ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม หันมาทำธุรกิจธนาคาร เช่น
- Telenor ของนอร์เวย์ เปิดธนาคาร Banka Serbia เมื่อปี 2557
- O2 ของเยอรมัน เปิด Fidor Bank ในปี 2559
- Orange เปิด Orange Bank ในฝรั่งเศส สเปน และเบลเยียม ในปี 2560
- Telefonica Spain ประกาศร่วมทุนกับ CaixaBank และ Santander
นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้บริการ Social Network หันมาทำ Social Banking เช่น
- Facebook จดลิขสิทธิ์ถึง 50 ใบในสหรัฐอเมริกา เพื่อทำให้โอนเงินผ่านแอพรับส่งข้อความได้
- Amazon ทำการทดลองจัดหาทุนกู้ยืมให้กับนักศึกษาผ่านทางแพลตฟอร์มของตน
- Wechat เป็นเครื่องมือทั่วไปที่ใช้โอนเงินในประเทศจีน
ผู้เล่นใหม่เหล่านี้ที่เข้าสู่ตลาดมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จะสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่าง และเจาะกลุ่มลูกค้าที่เฉพาะเจาะจง ทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและสร้างแรงกดดัน ทำให้บริการทางการเงินแบบเดิมที่ครบวงจร (end-to-end) ต้องแตกออกจากกัน หรือต้องปรับตัวโดยการพัฒนานวัตกรรมของตัวเอง หรือร่วมมือกับผู้เล่นใหม่ โดย PWC ได้ทำการวิจัยว่า 1 ใน 4 ของกระแสรายได้ของธนาคารจะได้รับผลกระทบ
นวัตกรรมและเทคโนโลยีส่งให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป แม้ช่วยอำนวยความสะดวกให้การดำเนินธุรกรรมในระบบการเงินและธนาคาร อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยังไม่หยุดนิ่ง ความเสี่ยงจึงยังมีอยู่ การศึกษาเทคโนโลยีอย่างถ่องแท้จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยต่อทรัพย์สินมากขึ้น
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
Catagories:
Tags:
Post date:
Tuesday, 7 August, 2018 - 12:07
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 115 ครั้ง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 151 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 148 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,426 ครั้ง
แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย
Total views: อ่าน 1,457 ครั้ง