นวัตกรรมยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเพื่อการสร้างชาติ: ภาคบริการนำหน้า

ความเข้มแข็งของภาคบริการจะช่วยสร้างโอกาสมากขึ้น สร้างงานเพิ่มขึ้น และยกระดับรายได้คนไทยให้สูงขึ้น

ผมได้ศึกษาประวัติศาสตร์และแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ของประเทศรายได้สูงเกิดใหม่ พบว่า หนึ่งในบทเรียนจากต่างประเทศในการก้าวข้ามผ่านกับดักรายได้ปานกลาง คือ การผลักดันให้ภาคบริการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ปัจจุบันสัดส่วนกำลังแรงงานภาคบริการในประเทศต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แรงงานในภาคเกษตรของประเทศรายได้สูงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยภาคบริการเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง

การศึกษาพบว่า ภาคบริการมีมูลค่าเพิ่ม (value added) สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคบริการ ทำให้ประเทศสามารถจัดการให้ต้นทุนอยู่ในระดับต่ำ ได้ง่ายกว่าภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น การขายความพึงพอใจ รสนิยม และบรรยากาศแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่ออัตรากำไรที่เพิ่มขึ้น

การขยายตัวของภาคบริการยังส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในภาคธนาคารและภาคการท่องเที่ยว อาทิ เมื่อนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการภายในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่ภาคธนาคารมีผลสร้างความมั่งคงของธุรกิจด้วยการแปลงกำไรเป็นสินทรัพย์สะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งประเทศรายได้สูงขึ้นภาคบริการยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น ขณะที่ภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำอย่างภาคเกษตรจะมีขนาดเล็กลง โดยภาคเกษตรในประเทศรายได้สูงมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของจีดีพีและมีสัดส่วนแรงงานภาคเกษตรเพียงร้อยละ 3.71 ของกำลังแรงงาน แต่มีภาคบริการขนาดใหญ่ถึงร้อยละ 74 ของจีดีพี

แต่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปี 2558 พบว่า ภาคเกษตรขนาดมีขนาดใหญ่ถึงร้อยละ 6.7 ของจีดีพี แรงงานภาคเกษตรมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 32 ของกำลังแรงงาน และภาคบริการมีสัดส่วนร้อยละ 65.2 ของจีดีพี

ช่วงหลังปี 2540 การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจและนโยบายอุดหนุนภาคเกษตรทำให้แรงงานไหลกลับสู่ภาคเกษตรมากขึ้นรวมถึงภาคเกษตรมีการใช้แรงงานเข้มข้น และเป็นแรงงานที่อายุเฉลี่ยค่อนข้างมาก ทำให้เคลื่อนย้ายไปสู่ภาคการผลิตอื่นได้ยาก

ด้วยเหตุนี้ นวัตกรรมยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเพื่อการสร้างชาติที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ภาคบริการนำหน้า อันหมายถึงการปรับโครงสร้างให้ภาคบริการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศกล่าวคือ การทำให้ภาคเกษตรมีขนาดเล็กลง และภาคบริการมีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งขนาดจีดีพีและจำนวนแรงงานในภาคบริการจะต้องนำหน้าภาคเกษตรและอุตสาหกรรม โดย

1) ยกระดับรายได้เกษตรกร

ยุทธศาสตร์สำคัญคือการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตภาคเกษตร เช่น การส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มสูง การสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป การสร้างตราสินค้า (brand) ของตัวเอง การออกแบบบรรจุภัณฑ์ของสินค้าเกษตร และการพัฒนานวัตกรรมทางอาหาร

การรวมตัวของฟาร์มขนาดเล็กให้เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีการบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพ โดยอาจเป็นรูปแบบสหกรณ์ที่มีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี หรือมีธุรกิจเป็นแกนกลางเพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแก่เกษตรกรรายย่อย รวมถึงส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้ทำการเกษตร

การย้ายแรงงานภาคเกษตรไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่น หรือการขยายขอบเขตความเป็นเมือง ไปสู่ชนบทมากขึ้น เพราะประชากรในเมืองมีผลิตภาพมากกว่าประชากรในชนบท สังเกตได้จากส่วนแบ่งจีดีพีของเมืองสูงกว่าสัดส่วนของประชากรในเมือง ซึ่งแสดงว่าคนในเมืองมีรายได้สูงกว่าชนบท

2) ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยว 200 ล้านคนในปี 2023

โดยการพัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและมาตรฐานการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน การคมนาคม สถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร ที่พัก โรงแรม เช่น การปรับปรุงการบริการสนามบินให้สะดวกรวดเร็ว โดยกำหนดมาตรฐานให้ผู้โดยสารสามารถออกจากสนามบินได้ภายใน 15 นาทีนับตั้งแต่เครื่องลงจอด โดยการเพิ่มช่องการตรวจคนเข้าเมืองและช่องตรวจกระเป๋าให้มีจำนวนเพียงพอกับจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละช่วงเวลา การปรับปรุงป้ายบอกทาง และป้ายบอกชื่อสถานที่อย่างชัดเจน

การสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ด้วยการให้ข้อมูลบนเว็บไซต์ทางการหรือการแจกเอกสารแก่นักท่องเที่ยวทุกคน โดยระบุคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง ข้อมูลเกี่ยวกับราคาค่าบริการต่างๆ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อตำรวจท่องเที่ยว เป็นต้น

นอกจากการใช้ความสวยงามทางธรรมชาติสถานที่ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมในการดึงดูดนักท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่ควรทำเพิ่มเติม คือ การดึงดูดงานมหกรรมระดับโลกเข้าสู่ประเทศไทย เช่น การจัดประชุม นิทรรศการ มหกรรมกีฬาระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น World expo, การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก, กีฬาเอเชี่ยนเกม, การแข่งขันรถสูตรหนึ่ง, การแสดงดนตรีของศิลปินระดับโลก เป็นต้น

3) สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ

โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการสุขภาพในประเทศให้มีมาตรฐานสากล เน้นความสะดวกสบายอย่างครบวงจรและมีอุปทานเพียงพอ รองรับความต้องการของคนต่างประเทศ แต่ไม่กระทบต่อบริการสุขภาพสำหรับคนในประเทศ 

การจัดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวสุขภาพ เช่น การจัดปีแห่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การจัดแพ็คเกจทัวร์สุขภาพ การส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชนผสานการแพทย์แผนไทย การสร้างแหล่งพักผ่อนระยะยาวและครบวงจรสำหรับผู้สูงอายุ และแหล่งที่พักฟื้นของโลกสำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดเชื้อ เป็นต้น

4) พัฒนาวัฒนธรรมเพื่อการส่งออก

โดยการส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมเป็นจุดแกร่งของไทย และตอบโจทย์เพื่อสามารถสร้างผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมให้สามารถขายได้ทั่วโลก รวมถึงค้นหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรม

อีกยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การสร้างแบรนด์ของประเทศไทยด้วยวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะการกำหนดอัตลักษณ์ของแบรนด์ที่แตกต่างจากประเทศอื่น การกำหนดหน่วยงานหลักในการสร้างแบรนด์ประเทศ และการใช้เครื่องมือต่างๆ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมไทย

มากกว่านั้น คือ ประเทศไทยควรจัดทำบัญชีแสดงออกทางวัฒนธรรมประชาชาติ (Gross National Cultural Manifestation: GNCM) เพื่อจะมีข้อมูลในการบริหารทรัพยากรทางวัฒนธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความได้เปรียบทางด้านการพัฒนาและส่งเสริมทางวัฒนธรรมของประเทศ
แม้การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้ภาคบริการนำหน้าภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรมอย่างเข้มแข็งเป็นสิ่งที่ต้องใช้ระยะเวลายาว แต่ไม่ใช่สิ่งที่ยากหรือยาวนานเกินไป หากทุกภาคี ทุกภาคส่วนในประเทศไทยร่วมมือกัน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน


ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ