ฮาร์วาร์ด สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจสู่ท้องถิ่น
อิทธิพลของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่น นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะแต่ละปีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสร้างรายได้มหาศาลแก่ท้องถิ่น รายงานในปี ค.ศ. 2002 พบว่า ฮาร์วาร์ดสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นกว่า 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
การเป็นแหล่งสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนนี้ มาจากหลายปัจจัยทั้งรายได้จากงานวิจัย การเข้ามาลงทุนของนักลงทุน การใช้จ่ายของคณาจารย์และนักศึกษาที่เข้ามาเรียนในฮาร์วาร์ดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและนักวิชาการที่เข้ามาร่วมกิจกรรมพิเศษที่ฮาร์วาร์ดจัดขึ้น เช่น พิธีรับปริญญา การจัดสัมมนา การเข้าอบรมในหลักสูตรพิเศษ ฯลฯ
อิทธิพลของฮาร์วาร์ดที่มีต่อการสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงแก่ชุมชนและท้องถิ่นนี้ ได้แก่
แหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ บทบาทของมหาวิทยาลัยในการเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ เริ่มปรากฏชัดตั้งแต่ปี 2001 ที่คนในเขตบอสตันตกงานมากถึงหนึ่งแสนคน แต่อัตราการจ้างงานในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกลับเพิ่มขึ้น เฉลี่ยปีละ 1.6 % และกลายเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ที่สุดของเมือง โดยในปี ค.ศ. 2002ฮาร์วาร์ดมีลูกจ้างมากถึง 16,128 คน มูลค่าการจ้างงานกว่า 792 ล้านเหรียญสหรัฐ
แหล่งสร้างงานสำคัญของท้องถิ่น การจ้างงานคนท้องถิ่นกว่า 17,000 คน ล้วนเป็นผลพวงจากการนำงานวิจัยออกสู่การพาณิชย์ ทำให้เกิดการจัดตั้งบริษัทใหม่ และลงทุนเปิดสาขาของบริษัทต่าง ๆ เพื่อรองรับงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย รวมถึงรายได้เพิ่มเติมที่ชุมชนได้รับจากผลิตสินค้าและบริการในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น เช่น การจัดสัมมนา การจัดชั้นเรียนช่วงฤดูร้อน พิธีรับปริญญา ฯลฯ
แหล่งสร้างรายได้ทางตรงแก่มลรัฐและองค์กรปกครองท้องถิ่นมลรัฐและองค์กรปกครองท้องถิ่นสามารถเรียกเก็บภาษีจากบริษัท และกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนกว่า 162 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในปี ค.ศ. 2002 มีรายงานว่า ภาษีที่ท้องถิ่นสามารถเรียกเก็บจากลูกจ้างของฮาร์วาร์ดมีมูลค่า 41 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาษีท้องถิ่นที่มหาวิทยาลัยต้องจ่ายแก่รัฐบาลท้องถิ่นมีมูลค่า 23 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
แหล่งสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ บทบาทที่ฮาร์วาร์ดทำอย่างต่อเนื่องคือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง ทั้งการบ่มเพาะนักศึกษา นักวิจัย ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่าง ๆ รวมถึงการจัดหลักสูตรพิเศษต่าง ๆและการจัดตั้งศูนย์ศึกษาต่อเนื่อง (The Harvard Extension School) เพื่อคนในท้องถิ่นจะเข้ารับการอบรม และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีทักษะ ความรู้ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก
คุณค่าของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในวันนี้ จึงไม่ได้มีเพียงมหาวิทยาลัยที่มีความเก่าแก่ มีความมั่งคั่งทางทรัพยากรทางการศึกษา และเงินทุน แต่ยังรวมถึงคุณค่าทางสังคมที่ฮาร์วาร์ดได้ทำคุณประโยชน์แก่ท้องถิ่น และชุมชนที่ตั้งอยู่
สะท้อนคิดสู่มหาวิทยาลัยไทย ที่ขณะนี้ได้ตั้งเป้าให้มหาวิทยาลัยของไทยก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก มุ่งเน้นการผลิตผลงานทางวิชาการ การวิจัย และการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีมาตรฐานเทียบเคียงกับสากล
หากแต่สิ่งที่ไม่ควรละเลยคือ การมองภาพรวมของการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง และก้าวหน้าไปพร้อมกับมหาวิทยาลัย โดยวางรากฐานทรัพยากรบุคคล และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการขยายตัวขององค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยที่เผยแพร่ออกสู่สังคม ให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาการวิจัยที่มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับทุกภาคส่วนของสังคมผ่านกิจกรรมบริการสังคมต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น
ดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นความพยายามสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อนำเสนอสู่สังคม มีส่วนสนับสนุนการผลิตกำลังคน และองค์ความรู้อย่างรอบด้าน โดยสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ในที่สุดแล้วจะส่งผลให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ:
2007-11-09
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
สารพัดมรสุมรุมเร้า SMEs: ทางออกอยู่ที่ไหน
Total views: อ่าน 250 ครั้ง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 365 ครั้ง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 282 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 292 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,488 ครั้ง