สร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคม เพื่อแก้ปัญหาสังคม

ปัญหาสังคมในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น และรุนแรงขึ้น การหวังให้ภาครัฐเป็นตัวแสดงหลักในการแก้ปัญหาสังคมคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการทำงานภาครัฐไม่มีความคล่องตัว ไม่มีความต่อเนื่อง และเน้นแก้ปัญหาในจุดที่มีผลต่อฐานคะแนนเสียงมากกว่าการแก้ปัญหาที่แท้จริงของสังคม

ขณะที่การคาดหวังให้ภาคธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสังคมเป็นไปได้ยากเช่นกัน เนื่องจากเป้าหมายหลักของการทำธุรกิจ คือ การแสวงหากำไรสูงสุด (Maximize profit) ไม่ใช่เพื่อช่วยเหลือสังคม อย่างไรก็ตามแม้ว่าอาจมีบางธุรกิจแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยทำกิจกรรมที่เรียกว่า CSR หรือ Corporate Social Responsibility อยู่บ้างก็ตาม แต่ปัจจุบัน ลักษณะการทำ CSR ของธุรกิจที่มีในประเทศส่วนใหญ่นั้น มีเป้าหมายเพื่อการโฆษณาหรือสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรเสียมากกว่าความต้องการที่จะช่วยเหลือสังคมอย่างจริงใจ

ครั้นเราจะฝากความหวังไว้กับภาคประชาสังคม หรือ NGOs คงเป็นไปได้ยาก เพราะปัจจุบันภาคประชาสังคมของไทยไม่เข้มแข็ง และยังไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เนื่องจากยังขาดแหล่งเงินทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และขาดการจัดระบบการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่นไม่มีความต่อเนื่อง ขณะที่ NGOs บางแห่งที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากต่างประเทศนั้น การดำเนินงานมักเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ให้ทุน มากกว่าจะเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาสังคมอย่างแท้จริง

ผมจึงขอเสนออีกทางเลือกหนึ่ง ที่อาจเป็นความหวังในการแก้ปัญหาสังคม นั่นคือ ldquo;ผู้ประกอบการเพื่อสังคมrdquo;

อย่างไรเรียกว่าผู้ประการเพื่อสังคม

แนวคิด ผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) เป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาสังคมไทยในปัจจุบัน เนื่องจากลักษณะของผู้ประกอบการเพื่อสังคมได้ประสานระหว่างความคล่องตัว ความมีประสิทธิภาพ และความสามารถในการสร้างนวัตกรรมแบบผู้ประกอบการ ร่วมกับความมีจิตสำนึกต่อสังคมแบบนักพัฒนาสังคมไว้ด้วยกัน

ลักษณะของผู้ประกอบการเพื่อสังคมจึงมีความพิเศษ เพราะนอกจากเขาจะมีความสามารถในการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จแล้ว ในตัวของผู้ประกอบการเพื่อสังคมยังมีความสนใจปัญหาสังคมและต้องการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา โดยใช้ธุรกิจของตนเป็นเครื่องมือหาแหล่งเงินทุนเพื่อให้การสนับสนุนความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาสังคมที่ตนเองสนใจ หรือเพื่อให้ความตั้งใจที่จะพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นนั้น สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน ด้วยเหตุที่การขาดแหล่งทุนสนับสนุนเหมือนบางหน่วยงานที่มีความตั้งใจดีแต่ขาดกำลังทรัพย์สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภารกิจขององค์กรไม่บรรลุผลอย่างที่ควรจะเป็น

เมื่อพิจารณาจากภายนอก โดยเปรียบเทียบระหว่างผู้ประกอบการเพื่อสังคมกับผู้ประกอบการทั่วไปนั้นแทบไม่มีความแตกต่างกัน แต่หากพิจารณาแรงจูงใจภายในของผู้ประกอบการเพื่อสังคมนั้น ไปไกลกว่าการแสวงหาความมั่งคั่งเพื่อตนเอง แต่เขาปรารถนาที่จะเห็นสังคมถูกพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

น่าเสียดาย หากประเทศของเราจะมีแต่ผู้ประกอบการที่เก่งความสามารถจำนวนไม่น้อย แต่ผู้ประกอบการเหล่านี้กลับไม่ค่อยสนใจต่อปัญหาสังคม โดยมุ่งแต่แสดงหาผลกำไรให้กับธุรกิจของตนเป็นที่ตั้ง และน่าเสียดายเช่นเดียวกัน หากเรามีแต่นักพัฒนาสังคมที่มีความตั้งใจดีต่อชาติบ้านเมือง แต่บุคคลเหล่านี้ขาดกำลังทรัพย์สนับสนุน และขาดทักษะในการทำกิจกรรมเพื่อหาทุน ความตั้งใจที่ดีต่อสังคมนั้นจึงมีโอกาสสำเร็จได้ยาก

แนวคิดการสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคม

การสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคมไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ในสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีหลักสูตรเพื่อสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคมโดยเฉพาะ ซึ่งหลักสูตรที่ว่านี้ดึงความสนใจของนักศึกษาที่สนเรื่องการทำธุรกิจหรืออยากเป็นผู้ประกอบการ ให้หันไปสนใจการแก้ไขปัญหาสังคมด้วย ดังนั้นนักศึกษาที่จบออกมาจะเป็นบุคคลที่มีความเป็นนักธุรกิจและนักพัฒนาสังคมในบุคคลคนเดียวกัน

นักศึกษาที่เข้ามาเรียนจะถูกฝึกฝนให้เป็นนักธุรกิจ เพื่อสามารถเขียนแผนธุรกิจของตน โดยตัวธุรกิจนั้นต้องไม่ทำร้ายสังคม เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข หรือ กิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ธุรกิจนั้นจะต้องสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนและเติบโตมีกำไรเหมือนกับธุรกิจทั่วไป มากยิ่งกว่านั้น แผนธุรกิจนั้นไม่ได้มีเป้าหมายหลักเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดแก่องค์กร แต่นำกำไรที่ได้สนับสนุนงานเพื่อแก้ปัญหาสังคมให้สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน

ถึงแม้การสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคมในประเทศไทยจะยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ และหลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะทำได้จริง แต่ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังมีคนที่มีความตั้งใจดีและมีศักยภาพที่อยากเห็นปัญหาสังคมได้รับการแก้ไขและพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผมขอเสนอแนวทางเป็นเบื้องต้นว่า การสร้างคนให้เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม ต้องเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ และมหาวิทยาลัย โดยใช้มหาวิทยาลัยที่สร้างคน ทั้งนี้อาจจัดตั้งเป็นคณะหรือสาขาหรือหลักสูตรใหม่ เช่น Master of Social Entrepreneur หรือร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพื่อให้นักศึกษาที่จบออกไปสามารถทำงานได้จริง

สังคมไทยถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคมขึ้นมาให้มีจำนวนมาก โดยไม่เพียงแต่ให้เงินทุนกับคนที่เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมเท่านั้น แต่ต้องสร้างคนเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคมเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และกลายเป็นแนวทางหลักในการแก้ปัญหาสังคม
admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์เม็งราย
เมื่อ: 
2007-11-01