หรือโครงการต้นกล้าอาชีพจะไปไม่ถึงดวงดาว

จากกรณีที่โครงการต้นกล้าอาชีพต้องเลื่อนการดำเนินโครงการออกไป 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากงบประมาณบางส่วนยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ โดยยังอยู่ในช่วงการพิจารณาของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ,บางหลักสูตรยังไม่สามารถเปิดได้ เนื่องจากมีผู้มาสมัคร และรายงานตัวน้อยไม่ถึงเกณฑ์ที่ทาง สปน.กำหนด ,หลักสูตรฝึกอบรมที่มีมากกว่า 900 หลักสูตรที่มีมากเกินไป จึงต้องมีการยุบรวมโดยนำหลักสูตรที่ใกล้เคียงกันมาไว้ด้วยกัน



ผมได้พูดในรายการวิทยุ FM102 เมื่อวันจันทร์ที่ 6 เมษายน ในเรื่องนี้ว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นสะท้อนความผิดพลาดของรัฐบาลในการบริหารจัดการ เพราะช่วยเพิ่มความรู้และทักษะให้แก่แรงงาน โดยเฉพาะผู้ที่ว่างงาน และยังให้เงินช่วยเหลือค่ารถ ค่าอาหาร และค่าครองชีพ ระหว่างการฝึกอบรมซึ่งช่วยให้ผู้ว่างงานสามารถเข้ามารับฝึกอบรมได้จริง แต่การดำเนินโครงการขาดการบริหารจัดการที่ดี เนื่องจาก

1. ขาดการคาดการณ์ปัญหาล่วงหน้า

ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ บางหลักสูตรไม่มีคนเรียนหรือจำนวนคนเรียนไม่มากพอ และปัญหาคนที่ถูกคัดเลือก ไม่มาเรียน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาที่คาดการณ์ไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาพื้นฐานที่สามารถเรียนรู้ได้จากโครงการอื่นในอดีต เช่น การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งมีบางหลักสูตรในบางมหาวิทยาลัยที่ไม่มีคนเลือก หรือมีคนเลือกน้อย หรือมีคนที่สอบได้แต่ไม่มาเรียน ซึ่งมีวิธีป้องกันและแก้ปัญหานี้อยู่แล้ว

รัฐบาลมองในแง่ดีแต่เพียงว่า หากมีคนต้องการเข้ามาเรียนมากจะจัดการอย่างไร แต่ไม่คาดการณ์ในทางตรงข้าม คือ หากมีคนเรียนไม่พอจะจัดการอย่างไร เมื่อรัฐบาลไม่ได้คาดการณ์ถึงปัญหาเหล่านี้ จึงไม่ได้เตรียมมาตรการรองรับปัญหา รอให้เกิดปัญหาขึ้นแล้ว จึงค่อยตามแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การยกเลิกบางหลักสูตรที่คนเรียนน้อย การยุบรวมหลักสูตรที่ใกล้เคียงกัน การเลื่อนการฝึกอบรมออกไป 1 สัปดาห์

ผมเสนอว่า ก่อนที่รัฐบาลจะเปิดการอบรมควรทำทะเบียนขึ้นมา และเรียบเรียงหลักสูตรที่คนอยากเรียน และดูกลไกตลาดว่าอยากได้คนประเภทไหน ทำข้อมูลเชิงวิเคราะห์ภาพใหญ่ก่อน ทำความเข้าใจจากสถิติข้อมูล และจากการสำรวจจากผู้ประกอบการ ดูอุปสงค์ของตลาดว่าต้องการคนแบบไหน ก่อนที่จะเปิดหลักสูตรการอบรม

2. ขาดการลงรายละเอียดในภาคปฏิบัติ

หลายนโยบายของรัฐบาลมีหลักการที่ดี แต่รัฐบาลกำหนดเพียงนโยบายในเชิงหลักการ ไม่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดภาคปฏิบัติ หรือไม่คิดภาคปฏิบัติให้ครบถ้วนเสียก่อน แต่คิดไปทำไป ทำให้ประชาชนที่มารับบริการไม่ได้รับความสะดวก หรือทำให้เกิดความสับสนในขั้นตอนการปฏิบัติ

โครงการต้นกล้าอาชีพก็มีปัญหานี้เช่นเดียวกัน สังเกตได้จาก ปัญหาการเบิกงบประมาณออกมาไม่ทันกำหนดการเริ่มฝึกอบรม ซึ่งสะท้อนถึงการขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงาน ปัญหาบางหลักสูตรไม่มีสถานที่ฝึกอบรมที่เหมาะสมทำให้การเรียนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย สภาพแวดล้อมไม่ดี ปัญหาการกำหนดช่วงเวลาของโครงการที่กระชั้นชิดเกินไป เป็นต้น

ถึงเวลาที่รัฐบาล ต้องคิดทบทวนถึงแนวทางการบริหารจัดการใหม่ เพื่อให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ ในอนาคตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เช่นนั้นโครงการต่าง ๆ จะเป็นเพียงหลักการดีแต่ปฏิบัติล้มเหลวไม่เป็นท่า

** นำมาจากหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ตีพิมพ์เมื่อวันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2552

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2009-04-20