ผู้สมัคร ส.ส. ควรสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ ?
ถึงแม้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 พยายามที่จะเปิดโอกาสให้ ส.ส. ที่สังกัดพรรคมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะการไม่ต้องปฏิบัติตามมติหรือข้อบังคับของพรรคหากขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้(มาตรา 47) แต่ในความเป็นจริงทางการเมือง หาก ส.ส. ท่านใดฝ่าฝืนมติของพรรค ย่อมถูกตรวจสอบในด้านพฤติกรรมว่าปฏิบัติตามระเบียบวินัยของพรรคหรือไม่ และโอกาสที่พรรคจะไม่ส่งลงสมัครในการเลือกตั้งสมัยหน้าก็มีสูงยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ ส.ส. เกิดความกลัวและปฏิบัติหน้าที่ราวกับหุ่นยนต์ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง
ปัญหาที่เกิดขึ้น กลายเป็นประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต้องตอบให้ชัดว่า
"ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่?"หรือ"ควรเปิดอิสระให้กับผู้สมัครโดยไม่ต้องสังกัดพรรคจะเหมาะสมกว่า?"
ฝ่ายที่สนับสนุนให้ผู้สมัคร ส.ส. เป็นอิสระโดยไม่ต้องสังกัดพรรค ให้เหตุผลว่า การสังกัดพรรคอาจทำให้ ส.ส. ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคเพียงไม่กี่คน ทำให้ ส.ส. ไม่สามารถมีอิสระในการตัดสินใจแต่จะต้องปฏิบัติตามมติพรรคอย่างเคร่งครัด ดังจะเห็นได้จากการไม่สามารถฝ่าฝืนมติของพรรคและวิปรัฐบาล แม้จะเห็นว่ารัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่ากระทำผิดและไม่สมควรได้รับการไว้วางใจ
แม้ว่า ข้อดีการไม่บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค คือ ความเป็นอิสระสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง สามารถปฏิบัติหน้าที่อยู่บนพื้นฐานของการคำนึงผลผลประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงซึ่งอาจเกิดขึ้นตามมาคือ ไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ว่า ส.ส. ที่ไม่สังกัดพรรคจะไม่ถูกครอบงำจากพรรคการเมือง รัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้านที่ต้องการ ส.ส. สังกัดอิสระเข้ามาร่วมงานกับฝ่ายตนอาจหยิบยื่นผลประโยชน์มหาศาลมาล่อใจ หรือใช้อำนาจอิทธิพลบีบบังคับ จนทำให้ ส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรคไม่สามารถตัดสินใจอย่างเป็นอิสระได้
นอกจากนี้ หากพิจารณาในแง่ที่มีการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แน่นอนว่า ผู้สมัครควรต้องสังกัดพรรคการเมือง เพราะประชาชนเลือกพรรคการเมือง ไม่ใช่เลือกนักการเมือง หากไม่บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองในการลงสมัครรับเลือกตั้ง จะทำให้การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อนั้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ในทางตรงกันข้าม หากเรายังเห็นว่า ส.ส. ควรสังกัดพรรคต่อไป คงต้องเขียนรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้ ส.ส. มีอิสระในการตัดสินใจ โดยไม่ถูกหัวหน้าพรรค มติพรรค หรือกฎระเบียบพรรคผูกมัดดังที่กล่าวเบื้องต้น รวมถึงการสร้างพรรคการเมืองให้มีการบริหารที่เป็นประชาธิปไตยโดยให้การจัดองค์กร การดำเนินกิจการ และข้อบังคับต่าง ๆ มาจากสมาชิกพรรคการเมืองมากกว่ามาจากหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคเพียงไม่กี่คน และสร้างให้พรรคการเมืองมีการบริหารที่โปร่งใส การตัดสินใจที่สำคัญของพรรคต้องทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรค รวมถึงการเงินที่ควรมาจากฐานมวลชน ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งและเป็นของฐานมวลชนอย่างแท้จริง
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น คงต้องคิดใคร่ครวญอย่างรอบคอบในการกำหนดว่าเราควรจะเปิดโอกาสให้สมัคร ส.ส. โดยไม่สังกัดพรรคเลยได้หรือไม่ จะส่งผลดีผลเสียอย่างไร ที่สำคัญ
"ควรมีกฎหมายที่ส่งเสริมให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนและฐานสมาชิกจำนวนมากอันจะทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองนั้นเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง"
Catagories:
เผยแพร่:
สยามรัฐรายวัน
เมื่อ:
2007-06-11
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 312 ครั้ง
คนไทยเรียนรู้อะไร จากบทเพลงสุดท้ายของพี่ศรี
Total views: อ่าน 100 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร
Total views: อ่าน 293 ครั้ง
บทบาทของไทยและอาเซียนต่อการรวมเกาหลีให้เป็นหนึ่งเดียว
Total views: อ่าน 2,040 ครั้ง
การสร้างคุณภาพชีวิตเมืองเพื่อการสร้างชาติ ด้วยโมเดลเมืองน่าอยู่ 12 มิติ: Dr.Dan Can Do’s Livable City Model
Total views: อ่าน 2,680 ครั้ง