ดับฝันรัฐบาล หมดหวังเศรษฐกิจโตถึงเป้า
จากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมีทิศทางชะลอตัวลงอย่างชัดเจน แต่รัฐบาลยังไม่ยอมรับความจริงว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย สังเกตได้จากภายหลังจากการแถลงข่าวของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รัฐบาลกลับแสดงท่าทียืนยันเป้าหมายเดิมออกมา โดยกระทรวงพาณิชย์ให้ข่าวว่า จะยังคงเป้าการส่งออกที่ร้อยละ 20 และกระทรวงการคลังออกมาแถลงผลการจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ นับเป็นการพยายามทำให้ประชาชนคิดว่า เศรษฐกิจจะเป็นไปตามที่นายกฯ เคยให้ความมั่นใจกับนักธุรกิจไว้ รัฐบาลพยายามสร้างความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ได้อยู่บนฐานของความเป็นจริง หากพิจารณาเงื่อนไขที่ สศช.ระบุว่าจะมีผลทำให้เศรษฐกิจขยายตัวถึงร้อยละ 5 พบว่าสถานการณ์ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเกือบทุกเงื่อนไข อันได้แก่
เงื่อนไขแรก สถานการณ์ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงกว่าเงื่อนไขที่ สศช.ระบุไว้ที่ 40-45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยคาดว่า ไตรมาส 3 และ 4 ราคาน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งเป็นราคาที่ประเทศไทยใช้อ้างอิง จะอยู่ที่ระดับ 49.87 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
เงื่อนไขที่ 2 การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ พบว่า การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าร้อยละ 80 เป็นไปได้ยากมาก เพราะหากพิจารณาประสบการณ์การใช้จ่ายงบกลางปี 2547 รัฐบาลได้ตั้งงบฯไว้ 5.9 หมื่นล้านบาท มีการเบิกจ่ายไปเพียง 1.1 หมื่นล้านบาท หรือเบิกจ่ายไปเพียงร้อยละ 18.6 เท่านั้น
เงื่อนไขที่ 3 รัฐบาลพยายามชูการลงทุนในเมกะโปรเจกต์ ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริง การเร่งรัดการลงทุนเป็นไปได้ยาก จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรงบฯสำหรับเมกะโปรเจกต์ไปแล้วน้อยมาก อีกทั้งการลงทุนใช่ว่าจะเริ่มได้ทันที ต้องมีขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ การยื่นแบบและประกวดราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องใช้เวลามากในการเวนคืนที่ดิน กระบวนการเหล่านี้ น่าจะใช้เวลามากกว่า 3 เดือน ซึ่งเลยปี 2548 ไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาของเศรษฐกรจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ยังระบุว่า โครงการเมกะโปรเจกต์ส่งผลต่อ GDP เพียงร้อยละ 0.2 เท่านั้น
เงื่อนไขที่ 4 การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 แสนราย และทำรายได้ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6.4 พันล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาข้อมูลการท่องเที่ยวในไตรมาสแรกของปี 2548 นักท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 13 หรือหายไปกว่า 8 แสนคน คาดว่าไตรมาส 2 น่าจะยังชะลอตัวอยู่ เนื่องจากเป็น low season นักท่องเที่ยวจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง น่าจะเป็นช่วงไตรมาสสุดท้าย จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้
ส่วนเงื่อนไขที่ 5 รัฐบาลบอกว่า การส่งออกต้องโตร้อยละ 15 โดยเน้นการผลักดันให้มีการส่งออกสินค้าเกษตร เงื่อนไขนี้แม้มีความเป็นไปได้ แต่สัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรมีเพียงร้อยละ 10.6 ของการส่งออกทั้งหมด และหากเน้นการส่งออกในสินค้าประเภทอื่น แม้จะทำให้การส่งออกขยายตัวเกินร้อยละ 15 แต่ GDP อาจจะไม่โตมากนัก เพราะมีต้นทุนนำเข้าสูง ยิ่งกว่านั้น แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปี 2548 ทำให้การขยายการส่งออกเป็นไปได้ยาก
การที่รัฐบาลเน้นเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อาจสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และหากไม่ระมัดระวังอาจนำพาประเทศไปสู่วิกฤต
ผมขอเสนอว่า รัฐบาลควรยอมรับความจริงว่า เศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว อย่าส่งสัญญาณผิด ควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัด เงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน การลงทุนในเมกะโปรเจกต์ต้องมีแผนในภาพรวมที่ชัดเจน และรอบคอบ ไม่ควรเร่งรีบลงทุนเพียงเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อาจสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
เพื่อนมีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างไรเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สามารถส่ง E-mail มาถึงผมได้นะครับ