กระตุ้นเศรษฐกิจ ซ้ำเติมเงินเฟ้อ

ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงถึงร้อยละ 6 ในเดือนกันยายน รัฐบาลต้องระวังการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะอาจจะทำให้ประชาชนยากลำบาก

ผมเคยเตือนรัฐบาลแล้ว ทั้งในการอภิปราย เขียนบทความ และสัมภาษณ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าให้ระวังการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวพร้อม ๆ กับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เพราะหากพิจารณาในเชิงทฤษฎี การเน้นมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ในภาวะเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยจะทำให้อัตราเงินเฟ้อยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอีก

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายนที่ผ่านมา แม้ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน อันเนื่องจากมาตรการลอยตัวราคาน้ำมันและการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่อีกส่วนหนึ่งอาจเกิดจากนโยบายกระตุ้นอุปสงค์ของรัฐบาลเองด้วย และหากรัฐบาลยังเน้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอีก อาทิ เร่งอัดฉีดงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การกระตุ้นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ และการเร่งลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่แบบไม่สมดุลย์และเกินความเหมาะสม จะยิ่งซ้ำเติมให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอีก ประชาชนจะลำบากแน่

ในภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีทิศทางที่ไม่แน่นอน รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเน้นการกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวสูง เพราะถึงแม้ว่าการเติบโตของจีดีพีในปัจจุบันจะชะลอตัวลงบ้าง แต่ยังไม่ใช่ระดับที่ต่ำจนเกินไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากแล้ว เงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ประจำ ผู้มีรายได้น้อยและคนยากจน แต่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากนัก

รัฐบาลควรหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และไม่ควรเน้นใช้จ่ายงบประมาณในโครงการที่เน้นการบริโภค โดยไม่ช่วยให้เกิดผลิตภาพการผลิต รวมทั้งการส่งเสริมการออม ทั้งนี้หากอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จะไม่จูงใจให้ประชาชนออมเงิน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในประเทศ และอาจจะทำให้เกิดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดตามมา ดังที่เคยเกิดขึ้นก่อนวิกฤตปี 40

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2005-10-11