ข้อเสนอแก้ไขข้อพิพาททะเลจีนใต้
กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ตลอดปี 2012 ที่ผ่านมาทะเลจีนใต้กลายเป็นพื้นที่ต้นเหตุข้อพิพาทหลายครั้งเนื่องจากการอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่ทับซ้อน หมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์เป็นจุดหนึ่งที่ร้อนแรงที่สุดเพราะรัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเบนิญโญ อคิโน ที่ 3 กระตือรือร้นในการอ้างสิทธิและพยายามปกป้องสิทธิของตนเหนือหมู่เกาะปะการังดังกล่าว เกิดการตอบโต้กับจีนหลายครั้ง พร้อมกับที่นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าสหรัฐ ฉวยโอกาสแสดงบทบาทในเหตุการณ์นี้ ท่ามกลางความจริงที่ว่าชาติสมาชิกอาเซียนอีกหลายประเทศอ้างสิทธิพื้นที่ดังกล่าวเช่นเดียวกัน
'ข้อพิพาททะเลจีนใต้จะเป็นเวทีข้อพิพาทสำคัญของโลกในปี 2013'
กรณีเรือจีนตัดสายเคเบิลเวียดนามที่เวียดนามอ้างว่ากำลังสำรวจภายในเขตพื้นที่เศรษฐกิจทางทะเลของตนเป็นอีกประเด็นหนึ่งและพัวพันถึงประเทศอินเดียที่มีส่วนลงทุนสำรวจในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
ข้อพิพาททะเลจีนใต้จะเป็นเวทีข้อพิพาทสำคัญของโลกในปี 2013 นี้ ซึ่งจะมีผลประทบต่อไทย อาเซียนและโลก เพราะข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับสมาชิกอาเซียนโดยตรง และมีแนวโน้มเป็นปัญหาใหญ่ของอาเซียนในปี 2013 ในยามที่อาเซียนใกล้เวลารวมเป็นประชาคมมากขึ้นทุกขณะ อีกทั้งจะเป็นเวทีที่ชาติมหาอำนาจตั้งใจใช้เป็นเวทีแสดงอำนาจของตน โดยคาดว่าหน่วยทหารหรือกึ่งทหาร ไม่ว่าจะเป็นของชาติสมาชิกอาเซียน จีน สหรัฐ จะมาชุมนุมกันในพื้นที่ข้อพิพาทนี้
จุดตายของปัญหาอยู่ที่การอ้างกรรมสิทธิ์ อ้างการรักษาอธิปไตยเหนืออาณาเขตเหล่านั้น เมื่อรัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการปกป้องอธิปไตย รักษาบูรณภาพแห่งดินแดนตามหลักคิดของสำนักสัจนิยม (Realism) ทางออกจึงจำต้องถอยห่างออกจากแนวคิดดังกล่าว นำแนวคิดอื่นเข้ามาผสมผสาน
ดังนั้น ข้อเสนอหลักสำคัญเบื้องต้นของการแก้ไขปัญหา คือ ต้องจัดการกับประเด็นอธิปไตยก่อน ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ให้เป็นที่ยอมรับทั่วไป ต้องแสวงหาความร่วมมือโดยข้ามประเด็นอธิปไตย หรือยึดว่ามีอธิปไตยร่วมชั่วคราว
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีได้หลายแนวทางขึ้นกับหลักคิดที่ยึดถือและจะแสดงออกผ่านนโยบาย การดำเนินนโยบาย แนวทางการแก้ไขข้อพิพาทจึงมีหลายแนวทาง ในที่นี้จะเสนอหลักการหรือแนวทางที่โน้มเอียงไปทางอุดมคตินิยม (Idealism)ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขแบบสันติวิธีที่อาเซียนยึดมั่นดังนี้
ประการแรก ชาติสมาชิกอาเซียนเห็นชอบร่วมกันว่าอาเซียนยึดมั่นในการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ปัญหาข้อพิพาทใด ๆ จะหาทางออกร่วมบนพื้นฐานหลักสันติวิธีด้วยการเจรจาหาทางออกร่วม ไม่ใช้กำลังทหาร พลังอำนาจทางเศรษฐกิจหรือการข่มขู่ทุกรูปแบบ หากอาเซียนประสบความสำเร็จเพราะยึดมั่นในแนวทางดังกล่าวจะเป็นแบบอย่างแก่ประชาคมโลกในการแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี
ประการที่สอง เห็นชอบร่วมกันว่าความสัมพันธ์ที่ดีภายในหมู่สมาชิกอาเซียน ระหว่างอาเซียนกับประเทศที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากการอ้างสิทธิหรืออ้างมีผลประโยชน์ร่วม คือ ผลประโยชน์สูงสุดและยั่งยืนที่สุดที่ทุกฝ่ายจะได้
เนื่องจากทุกประเทศย่อมมีผลประโยชน์แห่งชาติของตนที่ต้องรักษา แต่ยึดหลักว่าผลประโยชน์ที่ถาวรยั่งยืนมาจากความร่วมมือระหว่างกัน มากกว่าที่ต่างฝ่ายต่างแก่งแย่ง การแก่งแย่งหรือบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรทำให้ประเทศจะต้องสูญเสียทรัพยากรเพื่อการแก่งแย่งดังกล่าว เช่น ต้องเสียงบประมาณกลาโหมเสริมสร้างกำลังรบจำนวนมาก ดังเช่นที่เวียดนามกับฟิลิปปินส์เสริมสร้างกำลังรบทั้งทางเรือทางอากาศเพิ่มเติมเพื่อเผชิญหน้าข้อพิพาทสูญเสียโอกาสผลประโยชน์ที่จะได้เพิ่มมากขึ้นจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน
หลักการนี้เชื่อว่าการอยู่ร่วมกันโดยสันติ ด้วยมิตรภาพต่อกันจะสร้างประโยชน์แก่แต่ละประเทศมากที่สุด
ประการที่สาม การพิสูจน์สิทธิอธิปไตยเหนือน่านน้ำ เกาะแก่งต่างๆ รวมทั้งทรัพยากรใต้ทะเล ให้ดำเนินการผ่านกระบวนการยุติธรรมสากล
ประการที่สี่ ในกรณีที่ไม่สามารถตัดสิน หรือไม่ต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมสากล ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมหลายฝ่ายรวมถึงอาเซียนและทุกประเทศที่อ้างสิทธิ เพื่อจัดสรรการใช้การดูแลทรัพยากรเหนือน่านน้ำ เกาะแก่ง ทรัพยากรใต้ทะเล ฯลฯ
ในกรณีนี้เป็นความพยายามแสวงหาความร่วมมือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ทับซ้อนแม้ไม่มีข้อสรุปเรื่องอธิปไตย โดยอาศัยกระบวนการเจรจาตามกรอบพหุภาคี โดยมีอาเซียนเป็นหนึ่งในแกนสำคัญ
ดังนั้น แม้ไม่มีข้อสรุปก็ยังสามารถสร้างประโยชน์ร่วมกัน เช่น การทำประมง การใช้ทรัพยากรใต้ทะเล รวมถึงการให้ทหารหรือหน่วยงานความมั่นคงร่วมลาดตระเวนตรวจตราพื้นที่
ประการที่ห้า หากไม่สามารถหาทางออกใดๆ เสนอให้ทุกฝ่ายแช่แข็งประเด็นข้อพิพาทและไม่ดำเนินการใดๆ ที่แสดงการใช้สิทธิอธิปไตยจนกว่าจะพร้อมหาทางออกใหม่อีกครั้ง
ท้ายที่สุดหากไม่สามารถตกลงมีข้อสรุปใดๆ ทางออกที่ดีที่สุดคือ ต่างฝ่ายต่างไม่ดำเนินการใดๆ วิธีการนี้แม้ไม่แก้ปัญหาแต่ช่วยให้ไม่กลายเป็นข้อพิพาท
ข้อเสนอข้างต้นเป็นแนวทางเบื้องต้นบางประการที่มุ่งแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี บางคนอาจเห็นด้วยและบางคนไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ขึ้นอยู่แนวคิด ปัจจัยหลายอย่างและบริบทระหว่างประเทศที่แตกต่างกันไป สมควรที่จะปรึกษาหาทางออกที่ชัดเจนเหมาะสมที่สุด
การรักษาผลประโยชน์แห่งชาติเป็นเรื่องสำคัญ แต่หากประเทศทั้งหลายสามารถเพิ่มผลประโยชน์เพิ่มความมือระหว่างกันย่อมแสดงให้เห็นถึงความมีอารยะที่สูงส่ง โลกย่อมน่าอยู่ยิ่งขึ้นหากประเทศทั้งหลายลดความขัดแย้งเพิ่มความร่วมมือในทางสร้างสรรค์
การหาทางออกร่วมโดยสันติและคงรักษาเพื่อนบ้านที่ดีไม่ใช่เรื่องที่จะบรรลุผลได้ในเวลาอันสั้น แต่ตราบใดที่ทุกฝ่ายยึดมั่นแนวทางที่เสนอ ไม่กระตุ้นยั่วยุให้อีกฝ่ายต้องโต้ตอบ ย่อมคาดหวังได้ว่าสักวันหนึ่งจะได้ข้อตกลงร่วมที่ทุกฝ่ายยอมรับ
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com